การแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ เวทีแห่งการแข่งขัน พลังสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่

ข่าวทั่วไป Wednesday February 3, 2016 10:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.พ.--Notable Bangkok ปัจจัยที่มีอิทธิพลสูงสุดในการพัฒนาประเทศ มิใช่เกิดจากทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช่สภาพพื้นที่ภูมิประเทศสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ปัจจัยทางการเงิน และไม่ใช่เครื่องมือเครื่องจักรและเทคโนโลยี อีกทั้งไม่ใช่ระบบการเมืองหรือระบบเศรษฐกิจ แต่ปัจจัยที่ชี้เป็นชี้ตายให้ให้ประเทศก้าวหน้าหรือถอยหลังประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ก็คือ "คน" เพราะปัจจัยอื่นๆทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ ล้วนถูกใช้งานหรือถูกบงการโดย "คน" ในทางทฤษฎีอาจยกเว้นสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติเช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ แต่ในทางปฏิบัติคนหลายคนกำลังก้าวก่ายควบคุม เปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมธรรมชาติเหล่านั้นมากขึ้นทุกวัน ทั้งตัดภูเขา ถมทะเล ถางต้นไม้ ทำลายโอโซน เปลี่ยนแปลงทางไหลของน้ำ ถมที่ต่ำเป็นที่สูง ฯลฯ ... คนจึงเป็นทรัพยากรทรงประสิทธิภาพทั้งด้านการทำลายและสร้างสรรค์ ซึ่งคุณภาพหรือศักยภาพของคนนั้น จะสะท้อนออกมาในรูปของ กระบวนการคิด จิตสำนึก-ทัศนคติ ความรู้ คุณธรรม-จริยธรรม ในตัวตนของบุคคลนั้น ๆ คนผู้มี ศักยภาพและประสิทธิภาพสูง คือมีความสมบูรณ์ด้านอวัยวะ ด้านสติปัญญา การศึกษาและความรู้สูง กำกับโดย จิตสำนึกและทัศนคติที่ประกอบด้วยคุณธรรม จริยธรรม ย่อมส่งผลในเชิงสร้างสรรค์แก่การพัฒนาและมีค่าต่อสังคม ในทางกลับกันหาก คนผู้มี ศักยภาพและประสิทธิภาพสูง คือมีความสมบูรณ์ด้านอวัยวะ ด้านสติปัญญา การศึกษาและความรู้สูง กำกับโดย จิตสำนึกและทัศนคติที่ขาดคุณธรรม จริยธรรม ย่อมส่งผลในเชิงทำลายและสร้างความเสียหายเสื่อมทราม แก่สังคมโดยส่วยรวมมหาศาล ดังนั้นผู้ปกครองที่ดี หรือรัฐบาลที่ดี จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุภาพของคนหรือประชาชนของประเทศ ให้มีความรู้ ให้มีกระบวนการคิด จิตสำนึก-ทัศนคติที่เป็นบวก มีคุณธรรม-จริยธรรม แม้แต่สื่อมวลชนที่ดี องค์การเอกชนที่ดีทุก ๆ ภาคส่วนในสังคม จึงล้วนสมควรส่งเสริมสนับสนุนให้มีการสร้างความรู้และสร้างคุณธรรมจริยธรรมให้เกิดกับคน การพัฒนาคนนั้นมีประเด็นสำคัญในการพิจารณาคือ พัฒนาด้านความรู้ ด้านทักษะความชำนาญ และด้านจิตใจคือทัศนคติและจริยธรรมคุณธรรม การแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ เป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่งแสดงถึงความตั้งใจและความพยายามของหน่วยงานองค์การภาครัฐ ที่พยายามแสวงหาวิธีการกระตุ้นและส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ผ่านรูปแบบการจัดงานแข่งขัน หาผู้ชนะเพื่อรับรางวัล เพื่อเชิดชูให้เกิดความภาคภูมิ และเพื่อต่อยอดในการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ในระดับถัดไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการอบรมด้านเทคนิคและอาชีพ (TVET) รวมถึงสร้างค่านิยมในการทำงานที่ดีในกลุ่มเยาวชนและกำลังแรงงาน กระตุ้นให้เยาวชนและกำลังแรงงานของไทยเกิดความตื่นตัว สนใจที่จะพัฒนาฝีมือของตนเองให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล และสื่อสารให้ให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับเยาวชนและกำลังแรงงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตสินค้าและบริการให้มีคุณภาพตามความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม องค์กรอาชีพ สถาบันการศึกษาและการฝึกอบรม ในการพัฒนาทักษะฝีมือเยาวชนและการจัดงานแข่งขันฯ โดยเปิดโอกาส ให้คนไทยทุกคนที่มีคุณสมบัติ เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุระหว่าง 15-21 ปี (ยกเว้นสาขาเมคคาทรอนิกส์ และสาขาหุ่นยนต์เคลื่อนที่ ซึ่งกำหนดให้อายุระหว่าง 15-24 ปี) สามารถสมัครเข้าแข่งขันเพื่อคัดเลือกตัวในระดับภาค จากนั้นผู้ชนะระดับภาคแต่ละสาขา จะได้รับสิทธิ์เป็นตัวแทนเข้าแข่งระดับชาติ การแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาตินี้ มีต้นกำเนิดมาจากเมื่อปี 2513 โดยการริเริ่มของสโมสรโรตารี่กรุงเทพฯ ซึ่งได้ร่วมมือกับกรมแรงงาน ส่วนราชการและธุรกิจเอกชนหลายแห่ง ร่วมกันจัดให้มี การแข่งขันช่างฝีมือ ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2-5 มีนาคม 2513 ณ เวทีลีลาศสวนลุมพินี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดงาน และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นประธานปิดงานและมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการแข่งขัน และได้มีการเปลี่ยนชื่องานเป็น "การแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ" เมื่อปี 2540 ในช่วงระยะเวลากว่า 4 ปี ได้มีการจัดการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติมาแล้ว 25 ครั้ง มีการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาเกี่ยวกับการแข่งขันโดยลำดับ เช่น ด้านสาขาที่จัดแข่งขันในครั้งแรก ๆ เป็นสาขาที่จัดการฝึกโดย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เช่น ช่างยนต์ ช่างไม้ ช่างไฟฟ้า แต่ต่อมาได้เพิ่มสาขาที่เป็นที่นิยมของตลาดมากขึ้น แม้จะมิใช่เป็นสาขาที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีความเชี่ยวชาญในการฝึก เช่น สาขาช่างเครื่องประดับ สาขาช่างแต่งผม สาขาช่างเมคคาทรอนิกส์ เป็นต้น ในด้านห้วงระยะเวลาในหารจัดการแข่งขัน ในระยะแรกมีการจัดการแข่งขันทุกปี แต่ต่อมาได้ปรับให้เหมาะสมตามปัจจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยด้านงบประมาณ จึงกำหนดให้มีการแข่งขันทุกๆ 2 ปี โดยเริ่มตั้งแต่การแข่งขันครั้งที่ 12 เมื่อปี 2530 เป็นต้นมา สถานที่และรูปแบบจัดการแข่งขัน แต่เดิมจัดแข่งขันที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน มิได้แยกชัดเจนเป็นระดับภาค และระดับชาติ แต่ต่อมามีการดำเนินการแข่งขัน โดยแบ่งการแข่งขันเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับภาค ให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานในแต่ละภาคร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในภูมิภาครับผิดชอบ และระดับชาติซึ่งคัดเลือกผู้ชนะการแข่งขันจากระดับภาคมาแข่งขันที่ส่วนกลาง จนล่าสุด การแข่งขันได้ขยายสู่ระดับสากล โดยในปี 2536 กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ส่งเยาวชนเข้าแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติเป็นครั้งแรกที่ประเทศไต้หวัน และปี 2538 ได้ส่งเยาวชนเข้าแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียนครั้งที่ 1 ที่ประเทศมาเลเซีย นับเป็นสิ่งน่ายินดี และขอเชิญชวนเยาวชน นักเรียนนักศึกษา ประชาชนทั่วไปที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา ได้มีโอกาสได้ชม ได้เห็นความก้าวหน้าในวิชาชีพที่สนใจ รวมทั้งเทคโนโลยีหรือเทคนิคใหม่ๆในงานแต่ละสาขา ได้รับทั้งความรู้และความบันเทิงเพราะกรมพัฒนาฝีมือแรงงานแจ้งว่า ทุก ๆ วันที่จัดงานแข่งขันฯ ระหว่างวันที่ 3-5 กุมภาพันธ์ จะมีเวทีการแสดงและการเล่นเกมส์ชิงรางวัล ทั้งโทรศัพท์มือถือ/เท็บเล็ต หรือของที่ระลึกอื่นๆด้วย นับว่าเป็นการดี ๆ ในไตรมาสแรกของปี 2559 อีกงานหนึ่ง ครับ ข้อมูลประกอบความเข้าใจ การแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 26 จำนวน 6 กลุ่มสาขาอาชีพ 26 สาขา 1) กลุ่มสาขาอาชีพเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing and Engineering Technology) (1) เมคคาทรอนิกส์ (Mechatronics) (ประเภททีม) (2) ออกแบบและเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ (Mechanical Engineering Design CAD) (3) เครื่องจักรกล CNC (เครื่องกลึง) CNC Turning (4) เครื่องจักรกล CNC (เครื่องกัด) CNC Milling (5) เทคโนโลยีงานเชื่อม (Welding) (6) อิเล็กทรอนิกส์ (Electronics) (7) มาตรวัดวิทยาด้านมิติ (Metrology) (ประเภททีม) (8) ระบบอัตโนมัติอุตสาหกรรม (Industrial Automation) (ประเภททีม) (9) หุ่นยนต์เคลื่อนที่ (Mobile Robotics) ประเภททีม* 2) กลุ่มสาขาอาชีพเทคโนโลยีการสื่อสาร (Information and Communication Technology) (1) เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Software solutions for business) (2) เว็บดีไซน์ (Web Design) 3) กลุ่มสาขาอาชีพแฟชั่นและครีเอทีฟ (Creative Arts and Fashion) (1) จัดดอกไม้ (Floristry) (2) แฟชั่นเทคโนโลยี (Fashion Technology) (3) กราฟิกดีไซน์ (Graphic Design Technology) 4) กลุ่มสาขาอาชีพเทคโนโลยีก่อสร้างและอาคาร (Construction and Building Technology) (1) ปูกระเบื้อง (Wall and Floor Tiling) (2) เทคโนโลยีระบบไฟฟ้าภายในอาคาร (Electrical Installation) (3) ก่ออิฐ (Bricklaying) (4) ต่อประกอบมุมไม้ (Joinery) (5) เทคโนโลยีระบบทำความเย็น (Refrigeration and Air Conditioning) (6) ท่อและสุขภัณฑ์ (Plumbing and Heating) * 5) กลุ่มสาขาอาชีพขนส่งและโลจิสติกส์ (Transportation and Logistics) (1) เทคโนโลยียานยนต์ (Automobile Technology) (2) สีรถยนต์ (Car Painting) 6) กลุ่มสาขาอาชีพอุตสาหกรรมบริการ (Social and Personal Services) (1) แต่งผม (Hairdressing) (2) เสริมความงาม (Beauty Therapy) (3) ประกอบอาหาร (Cooking) (4) บริการอาหารและเครื่องดื่ม (Restaurant Service) หมายเหตุ * เป็นสาขาที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชน คุณสมบัติผู้เข้าแข่งขันฝีมือแรงงานครั้งที่ ๒๖ 1. มีสัญชาติไทย 2. อายุระหว่าง 15-21 ปี ณ ปีที่เข้าแข่งขันระดับชาติ(โดยการนับปีพุทธศักราชที่เกิด) ยกเว้นสาขาเมคคาทรอนิกส์ และสาขาหุ่นยนต์เคลื่อนที่ ซึ่งกำหนดให้อายุระหว่าง 15-24 ปี 3. เป็นผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในการแข่งขันระดับภาควนสาขาที่เข้าแข่งขัน กรณีผู้ได้คะแนนสูงสุดไม่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้ ผู้ได้คะแนนรองลงมาตามลำดับมีสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขัน เงินรางวัลการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 26 1 ประเภทเดี่ยว เหรียญทอง จำนวน 30,000 บาท เหรียญเงิน จำนวน 15,000 บาท เหรียญทองแดง จำนวน 10,000 บาท ประกาศนียบัตร (รางวัลชมเชย) จำนวน 5,000 บาท 2 ประเภททีม เหรียญทอง จำนวน 60,000 บาท เหรียญเงิน จำนวน 30,000 บาท เหรียญทองแดง จำนวน 20,000 บาท ประกาศนียบัตร (รางวัลชมเชย) จำนวน 10,000 บาท หมายเหตุ * จำนวนเงินดังกล่าวเป็นการสนับสนุนจัดสรรโดย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน หากเป็นสาขาที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชน เงินรางวัลก็จะเพิ่มขึ้นตามที่ได้รับการสนับสนุน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ