กอปภ.ก. ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ มุ่งสร้างความเข้าใจทุกภาคส่วนรับมือปัญหาภัยแล้ง

ข่าวทั่วไป Friday February 5, 2016 18:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จัดประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) อำนวยการติดตาม ซักซ้อมการเฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง ครั้งที่ 5/2559 ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 เน้นย้ำบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนและเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค รวมถึงให้ความสำคัญกับการใช้กลไก "ประชารัฐ" ในการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจสถานการณ์น้ำ และปัญหาภัยแล้งแก่ประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนวางแผนการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งในครั้งนี้ไปได้ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน นายสุปกิต โพธิ์ปภาพันธ์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประธานการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) อำนวยการติดตาม ซักซ้อมการเฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง ครั้งที่ 5/2559 กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง มีจังหวัดประกาศ เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 14 จังหวัด 55 อำเภอ 290 ตำบล 2,666 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 3.56 ของหมู่บ้านทั่วประเทศ รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ห่วงใยความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ภัยแล้ง จึงได้เน้นย้ำให้จังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่และเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน พร้อมให้ความสำคัญกับการใช้กลไก "ประชารัฐ" ในการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ถึงสถานการณ์น้ำ ปัญหาภัยแล้ง และความจำเป็นของภาครัฐในการลดการระบายน้ำเพื่อการเกษตรและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย รวมถึงมาตรการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในภาคเกษตรกรรม เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นถึงความพร้อมของภาครัฐในการจัดการปัญหาภัยแล้งและให้ความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งจากการติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำ พบว่า คลองมะขามเฒ่า – อู่ทอง บริเวณอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เกิดปัญหาการลักลอบสูบน้ำเข้าพื้นที่เพื่อทำนาปรัง ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปา ที่ประชุมฯ จึงได้ประสานจังหวัดส่งเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทหารลงพื้นที่เจรจาและชี้แจงขอความร่วมมือเกษตรกรงดสูบน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งของจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ เพื่อวางมาตรการรับมือและแก้ไขปัญหาภัยแล้งไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยควบคุมสถานการณ์ภัยแล้งมิให้ขยายวงกว้าง ทั้งนี้ ขอความร่วมมือเกษตรกรในพื้นที่เขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างงดทำนาปรัง เพื่อสงวนน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ ป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา รวมถึงขอให้ทุกภาคส่วนวางแผนการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำและให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่ภาครัฐกำหนด ส่งผลให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งในครั้งนี้ไปได้ ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ