เชลล์ ยกระดับการศึกษาของไทย เปลี่ยนจากผู้ซ่อม ให้เป็นผู้สร้าง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 8, 2016 16:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.พ.-- "จะดีแค่ไหนถ้าเด็กไทยได้รับการส่งเสริม ให้เป็นผู้สร้าง แทนที่จะเป็นเพียง ผู้ซ่อม หรือ ผู้ให้บริการ หลังจากจบหลักสูตรการศึกษาด้านเทคนิคช่างยนต์ การแข่งขัน เชลล์อีโค-มาราธอน ได้เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยที่เรียนมาทางสายเทคนิคช่างยนต์ สามารถเปลี่ยนบทบาทของตัวเองได้อย่างน่าสนใจ" นายอนุชิต กลับประสิทธิ อาจารย์ที่ปรึกษาทีมเยาวชนจากวิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง กรุงเทพฯ หนึ่งใน 3 สถาบันที่เข้าร่วมการแข่งขัน เชลล์ อีโค-มาราธอน เอเชีย 2016 ประเภท Urban Concept แสดงมุมมองอย่างมีความหวัง เชลล์ อีโค- มาราธอน เป็นเวทีการแข่งขันระดับโลกที่เปิดโอกาสให้เยาวชนอายุตั้งแต่ 16 -28 ปี ร่วมกันออกแบบและสร้างยานพาหนะที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยยานยนต์ที่แล่นได้ไกลที่สุด ใช้ปริมาณเชื้อเพลิงน้อยที่สุด จะเป็นผู้ชนะการแข่งขัน ทั้งนี้ ผู้เข้าแข่งขันมีอิสระในการเลือกใช้เชื้อเพลิงชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายใน เบนซิน ดีเซล เอทานอล 100 หรือเชื้อเพลิงชนิด Gas to Liquid (GTL) รวมไปจนถึงการเลือกเครื่องยนต์ชนิดที่ใช้ระบบไฟฟ้า เช่น ไฮโดรเจน และ แบตเตอรี่ไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ แต่ละทีมต้องออกแบบกล่องสมองกล หรือ ECU (Electronic Control Unit) ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำหน้าที่รับข้อมูลจากเซ็นเซอร์ต่างๆ มาใช้ในการประมวลผล ควบคุมการสั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และการจุดระเบิดของเครื่องยนต์ เพื่อให้เครื่องยนต์สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ประเภทสันดาปภายใน หรือในยานยนต์ที่ใช้ระบบไฟฟ้า เชลล์ อีโค-มาราธอน นับเป็นการแข่งขันที่กระตุ้นให้เยาวชนที่เข้าร่วมแข่งขัน ต้องค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาทักษะ จนกระทั่งสามารถออกแบบกล่อง ECU ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ได้ด้วยตนเอง "โอกาสที่ดีมากอย่างหนึ่งที่นักเรียนนักศึกษาได้รับจากการแข่งขันนี้คือ ทีมวิศวกรของเชลล์ระดับโลก จะเข้ามาช่วยให้คำแนะนำและดูแลการแข่งขันอย่างใกล้ชิด ทุกทีมต้องอธิบายให้ได้ว่า กล่อง ECU นี้ทำงานอย่างไร ทำให้เยาวชนได้มีโอกาสได้ลองทำ ลองออกแบบ ฝึกหัด และเปลี่ยนบทบาทจากผู้ซ่อมเครื่องยนต์ กลายมาเป็นผู้สร้างและผลิตกล่องสมองกลนี้ได้ในที่สุด นำไปสู่ความยั่งยืนในการเรียนรู้และการพัฒนาด้านเทคโนโลยี จากที่ก่อนนี้เราไม่สามารถผลิตกล่อง ECU นี้ด้วยตนเอง หากเสียต้องเปลี่ยนใหม่ แต่ด้วยกิจกรรมนี้ ส่งเสริมให้นักเรียนของเราต้องคิดค้น ออกแบบและประดิษฐ์กล่อง ECU ขึ้นมาเอง ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาความรู้นอกห้องเรียนของเด็กให้ก้าวไกลยิ่งขึ้น ทั้งในอนาคตหากเรามีการใช้เชื้อเพลิงทางเลือก เช่น แบตเตอรี่ไฟฟ้า หรือรถไฮบริด ผมเชื่อว่าเด็กไทยของเราสามารถสร้างกล่อง ECU ที่ควบคุมการขับเคลื่อนรถพลังงานไฟฟ้าได้เช่นเดียวกัน เวทีการแข่งขันอย่าง เชลล์ อีโค-มาราธอน ช่วยกระตุ้นและทำให้เด็กไทยของเราดึงศักยภาพที่มีอยู่ออกมาใช้จนสามารถผลิตกล่องสมองกลนี้ได้ด้วยตัวเอง" นายอนุชิต กล่าวอย่างภาคภูมิใจ เชลล์อีโค-มาราธอน เป็นเวทีที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ ร่วมกันหาแนวทางในการสร้างนวัตกรรมประหยัดพลังงาน ทำอย่างไรจึงจะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิง เพื่อให้ยานยนต์สามารถแล่นไปได้ไกลมากที่สุด โดยนำเสนอไอเดียว่า ยานยนต์ในอนาคตควรจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร และควรออกแบบเครื่องยนต์อย่างไรเพื่อให้ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด การแข่งขันแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ประเภท Prototype รถต้นแบบแห่งอนาคต มุ่งเน้นการการออกแบบรถ โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ทางด้านเทคนิค เพื่อให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ประเภท Urban Concept มุ่งเน้นการออกแบบรถประหยัดเชื้อเพลิงโดยคำนึงการใช้งานจริงบนท้องถนน จึงมีลักษณะใกล้เคียงกับรถยนต์ในปัจจุบัน นายอัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า "ความพิเศษของการแข่งขัน เชลล์ อีโค-มาราธอน ในปีนี้ คือ ทีมที่ชนะเลิศจำนวน 10 ทีมจากการแข่งขันเชลล์อีโคมาราธอน เอเชีย 2016 ในประเภท Urban Concept ซึ่งมีขึ้นที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 3-6 มีนาคม 2559 จะมีโอกาสได้ไปเข้าร่วมการแข่งขัน เชลล์ อีโค-มาราธอน เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ (Shell Eco-marathon World Championship) ในปีนี้กับ 10 ทีมผู้ชนะจากทวีปยุโรป และ อเมริกา เพื่อเฟ้นหาแชมป์โลกในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งจากการแข่งขันหลายครั้งที่ผ่านมา ทำให้ผมเชื่อมั่นในศักยภาพของทีมเยาวชนไทยว่า สามารถแข่งขันกับทีมจากนานาชาติได้อย่างแน่นอน" "ปีที่แล้ว ทีมเราคว้ารางวัลรองชนะเลิศ จากการแข่งขันรถประเภทต้นแบบ Prototype ด้วยแบตเตอรี่ไฟฟ้า สถิติวิ่งได้ไกลถึง 368.7 กิโลเมตร/กิโลวัตต์ฮาว์ ปีนี้เราจึงเลือกเข้าแข่งขันรถประเภทUrban Concept Car ซึ่งเป็นรถที่ออกแบบระบบการทำงานที่ซับซ้อนและยากกว่า อย่างไรก็ตาม ทีมเรามั่นใจว่าจะนำชัยชนะกลับมาให้สถาบันและประเทศชาติของเราได้แน่นอน" นายสุทธิเกียรติ ร่มโพธิ์ ตัวแทนจากวิทยาลัยเทคโนโลยีรัตนโกสินทร์ กล่าว ด้านนายวิเชษฐ์ บุณหวาน ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า "ในปีที่แล้ว ทีมของเราส่งรถประเภท urban เข้าร่วมการแข่งขัน แต่ไม่ผ่านการทดสอบด้านความปลอดภัย ด้วยข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ทำให้เราพลาดการลงวิ่งแข่งบนสนามจริง บทเรียนที่ได้รับจากปีที่แล้ว ทำให้เราต้องพัฒนาและทดสอบการวิ่งเพื่อให้มั่นใจได้ว่า เราสามารถทำผลงานได้ดีกว่าปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม เราต้องดูคู่แข่งด้วยว่า เขาพัฒนาไปอีกแค่ไหน สำหรับปีนี้ เรามั่นใจว่าพัฒนาการของเราใกล้เคียงและสามารถแข่งขันกับทีมคู่แข่งได้อย่างแน่นอน" "วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง เคยลงแข่งในประเภท Urban Concept แล้วได้รางวัลที่สอง ด้วยระยะทาง 76.9 กิโลเมตรต่อลิตร ปีนี้เราจะพยายามนำรางวัลที่หนึ่งกลับมาให้ได้ มาถึงจุดนี้ พวกเราตั้งเป้าหมายไว้ที่การแข่งขันในระดับโลกซึ่งจะมีขึ้นที่อังกฤษ เมื่อตั้งเป้าไว้แล้ว เราจะต้องชนะในแข่งขันในระดับเอเชียให้ได้ เพื่อที่จะได้ไปอังกฤษ เพราะถ้าไม่มีกิจกรรมนี้ เราคงไม่มีโอกาสได้ไปอังกฤษด้วยตนเอง" นายธนะสิทธิ์ คงประสิทธิ์ ตัวแทนจากวิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง กล่าว "ผมขอเชิญชวนให้ทุกคนร่วมส่งกำลังใจและเชียร์ทีมเยาวชนไทยให้สามารถทำระยะทางได้ดีในการแข่งขัน เชลล์ อีโค-มาราธอน เอเชีย ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ติดอันดับ 3 ใน 10 ในทีม เพื่อเราจะได้มีตัวแทนจากประเทศไทย ไปแสดงทักษะและความสามารถในเวที เชลล์ อีโค-มาราธอน เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ ระดับโลกที่ประเทศอังกฤษต่อไป" นายอัษฎา หะรินสุต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ