Movie Guide: 20 เกร็ดชวนรู้ก่อนไปชม Son of Saul (ซัน ออฟ ซาอูล) เจ้าของรางวัลลูกโลกทองคำสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม 2016

ข่าวบันเทิง Thursday February 18, 2016 15:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--สหมงคลฟิล์ม 1.Son of Saul เป็นภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของผู้กำกับ ลาสโล เนเมช ผู้กำกับหนุ่มวัย 38 ปี 2.ลาสโล เนเมช เป็นชาวฮังกาเรียน มาเรียนต่อที่ปารีส จบด้านรัฐศาสตร์-ประวัติศาสตร์ และไปเรียนต่อด้านภาพยนตร์ ก่อนจะย้ายไปทำงานในสายภาพยนตร์ที่บ้านเกิด โดยทำตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับ ให้กับหนังเรื่อง The Man from London ของสุดยอดผู้กำกับชาวฮังกาเรียน - เบล่า ทาร์ 3.แม้จะมีหนังว่าด้วยค่ายกักกันและสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกสร้างมาเป็นจำนวนมาก แต่ Son of Saul นับเป็นหนังเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น ที่มีเนื้อหาพูดถึง กลุ่มซอนเดอร์คอมมานโด (Sonderkommando) หรือนักโทษชาวยิวที่ทำหน้าที่กวาดต้อนนักโทษคนอื่นๆ ไปห้องรมแก๊สและจัดการทำลายศพหลังจากรมแก๊สเสร็จสิ้น 4.คนที่จะมาทำหน้าที่ "ซอนเดอร์คอมมานโด" นั้น จะได้รับการคัดเลือกจากทหารนาซีโดยตรง และงานนี้นับเป็นงานที่ทำร้ายจิตใจมากงานหนึ่ง เพราะนักโทษชาวยิวจำเป็นต้องเห็นและคอยคุมเพื่อนร่วมเชื้อชาติเดินเข้าห้องแห่งความตาย (ห้องรมแก๊ส) ทุกวัน จากนั้นก็ทำลายศพด้วยการเผา หรือแยกชิ้นส่วนไปฝัง 5."ซอนเดอร์คอมมาโด" จะได้รับอภิสิทธิ์กว่านักโทษคนอื่นๆ เล็กน้อย คือไม่ต้องโดนคุมตลอดเวลา สามารถไปไหนก็ได้ในค่ายกักกัน แต่ทว่าทหารนาซีก็จะฆ่าซอนเดอร์คอมมานโดทิ้งทุกๆ 3-4 เดือน เพื่อไม่ให้ข้อมูลเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แพร่งพรายออกสู่ภายนอก 6.Son of Saul เล่าเรื่องของ นักโทษชาวยิวฮังกาเรียนคนหนึ่งที่ชื่อว่า ชาอูล เขาทำหน้าที่ซอนเดอร์คอมมานโด วันหนึ่งเขาต้องทำลายศพที่เขาเชื่อว่าเป็นลูกชายของตนเอง เขาจึงตัดสินใจพยายามทำทุกอย่างเพื่อประกอบพิธีศพให้ลูกแบบถูกต้องตามหลักศาสนา นับเป็นภารกิจเสี่ยงตายมากๆ ในค่ายกักกัน 7.ฉากหลังใน Son of Saul คือ ค่ายกักกันเอาช์วิตซ์ ค่ายกักกันที่ถูกขนานนามว่า "โรงฆ่ามนุษย์ล้านศพ" นับเป็นค่ายที่ใหญ่และโหดเป็นลำดับต้นๆ ในบรรดาค่ายที่กองทัพนาซีใช้กักกันชาวยิว ว่ากันว่า มีชาวยิวถูกสังหารราว 1.1 ล้านคน ซึ่งเป็นชาวยิวที่ถูกกวาดต้อนมาจากทุกประเทศในยุโรป 8.ค่ายกักกันเอาช์วิตซ์ แห่งที่ 1 มีขนาด 40 ตารางกิโลเมตร มีอาคารคุมขังนักโทษเกือบ 20 หลัง และมีการขยายเป็นค่ายเอาช์วิตซ์ 2 และ 3 เพิ่มอาคารคุมขังเกือบ 100 หลัง 9.ชาวยิวที่ถูกต้อนมาอยู่ในค่ายกักกัน จะต้องใช้แรงงาน, ถูกใช้เป็นหนูทดลองทางการแพทย์อันแสนวิปริต, ถูกใช้เป็นเป้าซ้อมยิงปืน และท้ายที่สุด ชาวยิวทุกคนจะถูกเกณฑ์เข้าห้องรมแก๊สพิษในทุกๆ วันเพื่อกำจัด โดย "ซอนเดอร์คอมมานโด" จะเป็นคนทำหน้าที่กวาดต้อนเพื่อนนักโทษเข้าห้องรมแก๊ส และหลังจากทุกคนหมดลมหายใจแล้ว "ซอนเดอร์คอมมานโด" ก็จะต้องช่วยกันเผาศพ เคลียร์พื้นที่ เพื่อต้อนนักโทษกลุ่มต่อไปเข้ามา 10.ผู้กำกับ ลาสโล เนเมช ถ่ายทำหนังเรื่องนี้โดยใช้ฟิล์ม 35 มม. และใช้ขนาดภาพ (Aspect Ratio) 1.33 ต่อ 1 (คล้ายสี่เหลี่ยมจตุรัส) เพื่อเพิ่มความสมจริงให้กับหนัง 11.เกซ่า เรอห์ริก ผู้รับบท ชาอูล ตัวละครนำของเรื่องนั้น เป็น อาจารย์มหาวิทยาลัย, นักเขียนและกวีวัย 48 ปี เขาไม่ใช่นักแสดงมืออาชีพ แต่ลาสโล เนเมช บอกว่า เขาเลือกให้เรอห์ริกมารับบทนี้ เพราะเขาดูเป็นโนบอดี้ มีความเป็นธรรมชาติ และที่สำคัญ เกซ่า เรอห์ริก มีพื้นฐานความรู้เรื่องศาสนายิวเป็นอย่างดี (เขาเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ยิว) 12.ลาสโล ไรค์ ผู้ออกแบบงานสร้างของหนัง สร้างค่ายกักกันเอาช์วิตซ์ขึ้นมาใหม่จากโกดังเก่าแถบชานเมืองกรุงบูดาเปสต์ (ฮังการี)ซึ่งที่แห่งนั้นเคยเป็นค่ายทหารของกองทัพโซเวียตตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 13.ฉากภายนอก ผู้กำกับเนเมช และผู้กำกับภาพมาเทียส แอร์ดลี ใช้แสงธรรมชาติ โดยไม่มีการจัดแสงเพิ่มเติม 14.หนังใช้เวลาถ่ายทำทั้งสิ้น 28 วัน 15.Son of Saul นั้นเป็นเรื่องแต่ง แต่ข้อเท็จจริงเกือบทั้งหมดนั้นอ้างอิงมาจากหลักฐานจริง โดยมีพื้นฐานมาจากหนังสือ 2 เล่ม คือ Auschwitz: A Doctor's Eyewitness Account หนังสือที่เขียนโดยหมอชาวยิวคนหนึ่งที่เป็นนักโทษในค่ายเอาช์วิตซ์ และหนังสือ Voices from Beneath the Ashes ซึ่งเป็นการรวบรวมบทบันทึกจริงๆ ของเหล่าซอนเดอร์คอมมานโดที่เขียนเก็บเอาไว้ 16. ผู้กำกับ ลาสโล เนเมช อธิบายพล็อตเรื่องของ Son of Saul ว่า มันเป็นเรื่องของชายคนหนึ่งที่ต้องการจะทำพิธีศพ พิธีกรรมเพื่อแสดงถึงความเป็นมนุษย์ ในสถานการณ์และสถานที่ที่ไม่หลงเหลือความเป็นมนุษย์เลยอย่างในค่ายกักกัน 17. Son of Saul เป็นโปรเจคต์ที่ไม่มีใครกล้าลงทุนเลย เพราะทุกคนมองว่าเป็นหนังที่เครียดและหดหู่เกินไป (และไม่มีทางได้ทุนคืน) เนเมชสร้างหนังเรื่องนี้ได้โดยเงินสนับสนุนจาก Hungarian Film Fund ของประเทศฮังการีบ้านเกิด โดยใช้ทุนสร้างไป 1.6 ล้านเหรียญฯ และเมื่อหนังออกฉาย Son of Saul ก็กลายเป็นหนังที่ได้ทั้งเงินและรางวัลอย่างคาดไม่ถึง 18.คลาร่า รอยเออร์ ผู้เขียนบทร่วมของ Son of Saul นั้นไม่เคยเขียนบทหนังมาก่อนเลย เธอเรียนจบสาขาวรรณกรรมยิว และจบสาขาประวัติศาสตร์ เธอตกลงใจมาร่วมงานเพราะลาสโล เนเมช เป็นคนชักชวน เนเมชบอกว่า เขาไม่อาจหาคนที่เข้าใจพื้นหลังทางประวัติศาสตร์ของเรื่องเป็นอย่างดีเท่ากับรอยเออร์อีกแล้ว 19. เอลี วีเซล (เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพปี 1986), อิมเร เคอร์เทสซ์ (เจ้าของรางวัลโนเบลวรรณกรรมปี 2002) และโคลด ลองซ์มานน์ (ผู้กำกับสารคดีมหากาพย์ว่าด้วยค่ายกักกันเรื่อง Shoah) ทั้งหมดต่างยกย่อง Son of Saul ว่าเป็นหนังที่พูดถึงค่ายกักกันได้ทรงพลังที่สุด เท่าที่เคยมีการสร้างเป็นหนังมาเลยทีเดียว 20. Son of Saul ได้รับรางวัลกรังด์ปรีซ์ และรางวัล FIPRESCI (สมาคมนักวิจารณ์นานาชาติ) จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ปี 2015 และล่าสุดได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนจากประเทศฮังการี ในการเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ 25 กุมภาพันธ์ 2016 ลิงค์ตัวอย่างภาพยนตร์ https://www.youtube.com/watch?v=DvxIogrbS38 รวมรีวิว https://www.youtube.com/watch?v=PBUMx9-nm7o

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ