เปิดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ ผ้าพันศีรษะฉุกเฉิน และนาฬิกาจับเวลาขณะที่ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น ช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน เน้นผลิตได้ง่าย ประหยัด และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข่าวทั่วไป Tuesday April 19, 2016 16:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669 จากการสรุปข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) พบว่ามีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและป่วยฉุกเฉินจากการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์จำนวนมาก ดังนั้นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเตรียมมาตรการในการดูแลประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินอย่างเต็มที่ โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแหงชาติ (สพฉ.) ได้ร่วมมือกับสถานพยาบาล หน่วยงานวิชาการทั้งภาครัฐและเอกชนพัฒนานวัตกรรมในการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งในการจัดประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติประจำปีพ.ศ. 2559 ในหัวข้อเคลื่อนวงล้อการแพทย์ฉุกเฉินไทย ตัวแทนจากสถานพยาบาล หน่วยงานวิชาการทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันนำเสนอผลงานวิชาการประเภทนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์เพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยหนึ่งในผลงานที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมากคือ ผ้าพันศีรษะฉุกเฉิน หรือ Field Head saver ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่คิดค้นขึ้นโดยหน่วยงานอุบัติและฉุกเฉิน โรงพยาบาลเทิง จังหวัดเชียงราย ปรีชา มะโนยศ เจ้าหน้าที่หน่วยงานอุบัติและฉุกเฉิน โรงพยาบาลเทิง จังหวัดเชียงราย เล่าถึงที่มาที่ไปของการคิดค้นนวัตกรรมชิ้นนี้ขึ้นมาว่า "ในการเกิดอุบัติเหตุจนทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ การช่วยเหลือห้ามเลือดให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินจะต้องทำอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่ที่ผ่านมามีปัจจัยหลายทำให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นในเคสผู้ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะเกิดความล่าช้า ไม่ว่าจะเป็นจากตัวผู้ป่วยเองที่ไม่ให้ความร่วมมือเพราะผู้ป่วยไม่สามารถครองสติของตนเองได้ นอกจากนี้ในผู้ป่วยฉุกเฉินบางราย มีความจำเป็นที่ต้องช่วยเหลือด้วยการใส่ท่อช่วยหายใจ การผูกมัดหรือยึดตรึงไว้เพื่อไม่ให้ท่อช่วยหายใจเลื่อนหลุดด้วยมักจะเกิดปัญหาการเลื่อนหลุดเมื่อพลาสเตอร์ที่ใช้ยึดตรึงไปสัมผัสกับสารคัดหลั่งเช่นน้ำลายหรือเลือดของผู้ป่วยก็จะทำให้เกิดการเลื่อนหลุดได้ง่าย เราจึงได้ร่วมกันคิดค้นนวัตกรรมผ้าพันศีรษะฉุกเฉิน หรือ Field Head saver ขึ้นมาเพื่อเป็นอุปกรณ์ในการช่วยห้ามเลือดผู้ป่วยฉุกเฉินที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการเสียเลือด และเพื่อลดการเลื่อนหลุดของท่อช่วยหายใจในผู้ป่วยที่ต้องไดรับการใส่ท่อช่วยหายใจ" เจ้าหน้าที่หน่วยงานอุบัติและฉุกเฉิน โรงพยาบาลเทิง จังหวัดเชียงรายกล่าว ทั้งนี้จุดเด่นของนวัตกรรมผ้าพันศีรษะฉุกเฉิน หรือ Field Head saver นั้น คือการประหยัดต้นทุนในการผลิต โดยการผลิตนั้นจะนำผ้าผันแผลอีลาสติกมาตัดเย็บเป็นผ้าพันศีรษะฉุกเฉิน ที่มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับความกระชับต่อศีรษะและใบหน้าเพิ่มแรงกดบาดแผลเพื่อประสิทธิภาพของการห้ามเลือดได้ โดยสามารถสวมให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทันที ไม่จำเป็นต้องยกศีรษะขึ้นลง และยังสามารถปิดได้ทั้งศีรษะโดยไม่รบกวนการประเมินผู้ป่วย นอกจากนี้ยังเป็นตัวกลางในการช่วยยึดติดพลาสเตอร์ในการยึดท่อช่วยหายใจอีกด้วย ซึ่งผลการใช้ผ้าพันศีรษะฉุกเฉินกับผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะพบว่าสามารถห้ามเลือดได้ดี ลดระยะเวลาในการพันผ้า มีความสะดวกในการใช้ และที่สำคัญคือราคาประหยัดด้วย อย่างไรก็ตามนอกจากนวัตกรรมผ้าพันศีรษะฉุกเฉินแล้วยังมีอีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยนวัตกรรมชิ้นนี้ผลิตและคิดค้นขึ้นโดย แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติที่ใช้ชื่อนวัตกรรมว่า "การพัฒนานาฬิกาจับเวลาขณะที่ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น" โดย น้ำผึ้ง ขึ้นกันกง และ ธวัชชัย ไร่ดี เจ้าหน้าที่แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติได้บอกเล่าถึงแนวทางในการทำงานของนวัตกรรมชิ้นนี้ว่า "การจับเวลาขณะปั๊มหัวใจเพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นหนึ่งในกระบวนการกู้ชีพ ซึ่งในทางปฏิบัติสากลนั้นการกดหน้าอกต้องได้จำนวน 100-120 ครั้งต่อนาที และเปลี่ยนผู้ปั๊มหัวในทุก 2 นาที พร้อมกับให้ยากระตุ้นหัวใจทุก 3 นาที อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นบุคลากรทางการแพทย์มีไม่เพียงพอ และสภาพแวดล้อมในการเข้าให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินก็จะส่งผลต่อสมาธิของผู้จับเวลา อาจทำให้การจับเวลามีความคลาดเคลื่อนและส่งผลให้การช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินไม่มีประสิทธิภาพได้ ดังนั้นเราจึงได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมชิ้นนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวช่วยในการจับเวลาให้กับเจ้าหน้าที่ในการทำการกู้ชีพเพื่อป่วยฉุกเฉินที่หัวใจหยุดเต้นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" เจ้าหน้าที่แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติระบุ สำหรับการทำงานของนาฬิกาจับเวลาขณะที่ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นนั้นมีหลักการทำงานโดยใช้แสงไฟเตือนควบคู่กับการจับเวลา โดยจะใช้สีของไฟและเสียงออดในการเตือนเวลา 2 และ 3 นาที และมีจอแสดงผลด้วยตัวเลขดิจิตอลนับถอยหลังและเสียงเตือนแบบไฟล์เอ็มพี 3 บอกเวลาปัจจุบัน นอกจากนี้แล้วนาฬิกาจับเวลาทั้ง 2 ช่อง ยังสามารถปรับ จำนวนจังหวะที่เครื่องปรับได้ 100-200 ครั้ง/นาที ซึ่งการปั๊มหัวใจโดยใช้นาฬิกาจับเวลาขณะที่ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นนี้จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่มากยิ่งขึ้นอีกด้วย ด้าน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า นวัตกรรมทั้งสองชิ้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการจัดประกวดพัฒนาผลงานวิชาการ นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์เพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปีนี้มีหลายหน่วยงานได้ส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเข้ามาประกวดเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือผลงานทุกชิ้นที่ถูกจัดแสดงในงานประชุมในครั้งนี้นั้นมีคุณค่าทางด้านการช่วยเหลือชีวิตผู้คนให้รอดพ้นจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินและความตาย ซึ่งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาผลงานต่างๆ เหล่านี้เพื่อให้ได้นำไปใช้ในการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยอย่างแพร่หลายและเป็นรูปธรรมต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ