ปภ. รายงานมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน 29 จังหวัด พร้อมแจ้งเตือนประชาชน 37 จังหวัด เตรียมรับมือพายุฤดูร้อน ช่วงวันที่ 28 – 30 เม.ย.59

ข่าวทั่วไป Tuesday May 3, 2016 11:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2559 ถึงปัจจุบัน มีจังหวัดได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน รวม 29 จังหวัด 131 อำเภอ 249 ตำบล 556 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 6,504 หลัง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย และผู้เสียชีวิต 5 ราย ทั้งนี้ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยในพื้นที่ 37 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 28 – 30 เมษายน 2559 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยบริเวณด้านตะวันออกของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ซึ่งมีอากาศร้อน ทำให้บริเวณดังกล่าวเกิดพายุฤดูร้อน โดยมีลักษณะอากาศของฝนฟ้าคะนองลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ โดยตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2559 ถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน รวม 29 จังหวัด 131 อำเภอ 249 ตำบล 556 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 6,504 หลัง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย และผู้เสียชีวิต 5 ราย แยกเป็น ภาคเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน ลำปาง แพร่ พะเยา สุโขทัย อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์ ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร พิษณุโลก อุทัยธานี และกาญจนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 จังหวัด หนองคาย บึงกาฬ เลย อุดรธานี สกลนคร นครพนม หนองบัวลำภู ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น โดยจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ประสบภัยนำเครื่องอุปโภคบริโภค กระเบื้องมุงหลังคา และวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านเรือนไปมอบให้แก่ผู้ประสบภัย รวมถึงเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ตลอดจนเร่งเก็บกวาด รื้อถอน เคลื่อนย้ายต้นไม้ เสาไฟฟ้า สิ่งปลูกสร้างที่โค่นล้มทับบ้านเรือนประชาชนและกีดขวางเส้นทาง เพื่อให้รถสามารถสัญจรได้ตามปกติ และซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย นายฉัตรชัย กล่าวเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยในพื้นที่ 37 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 28 – 30 เมษายน 2559 โดยติดตามพยากรณ์อากาศ และประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด รวมถึงตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง งดเว้นการใช้โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสารทุกชนิดบริเวณที่โล่งแจ้งขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง เพราะจะได้รับอันตรายจากฟ้าผ่า ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย อีกทั้งห้ามหลบพายุบริเวณใต้ต้นไม้ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกล้มทับ ตลอดจนห้ามเข้าใกล้บริเวณที่มีสายไฟฟ้าขาดหรือเสาไฟฟ้าล้ม เพราะอาจได้รับอันตรายจากไฟฟ้าดูด ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ