ปภ. รายงานจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน 5 จังหวัด พร้อมรับมือช่วงวันที่ 28 – 30 เมษายน 2559 และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที

ข่าวทั่วไป Tuesday May 3, 2016 11:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 มีจังหวัดได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน 5 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก นครราชสีมา และอุดรธานี รวม 9 อำเภอ 17 ตำบล บ้านเรือนเสียหาย 333 หลัง ทั้งนี้ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและหน่วยทหารสำรวจความเสียหาย และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น รวมถึงประสาน 37 จังหวัดเตรียมรับมือพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 28 – 30 เมษายน 2559 โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ เฝ้าระวังสถานการณ์ภัย และแจ้งเตือนภัย แก่ประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากพายุลมแรง และลูกเห็บ รวมถึงจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว และวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน 5 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก นครราชสีมา และอุดรธานี รวม 9 อำเภอ 17 ตำบล บ้านเรือนเสียหาย 333 หลัง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ หน่วยทหารในพื้นที่เข้าสำรวจความเสียหาย และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น โดยแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้าง และซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงจัดเก็บและรื้อถอนซากต้นไม้ป้ายโฆษณา และ สิ่งปลูกสร้างที่โค่นล้มทับบ้านเรือนประชาชน และกีดขวางเส้นทาง เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางสัญจรได้ตามปกติ อีกทั้งจากการติดตามประกาศเตือนพายุฤดูร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าช่วงวันที่ 28 – 30 เมษายน 2559 บริเวณด้านตะวันออกของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นได้ โดยจะเริ่มจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสาน 37 จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมรับมือพายุฤดูร้อน โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ เฝ้าระวังสถานการณ์ภัย และแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากพายุลมแรง และลูกเห็บ รวมถึงจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว และวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่สาธารณะให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรง อย่างไรก็ตาม ฝนที่ตกลงมาในระยะนี้ จะช่วยเติมน้ำในเขื่อนทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังทำให้เกิดความชื้นในอากาศ ส่งผลให้การปฏิบัติการฝนหลวงมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำ ทำให้มีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอจนถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๙ จึงขอให้ประชาชนกักเก็บน้ำและสำรองน้ำไว้ใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ทางสายด่วยนิรภัย 1784 เพื่อประสานให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ