ทีมหมีขาวจาก ม.เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กสเตท คว้าแชมป์โลกเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับโลก ACM-ICPC 2016 WORLD FINALS ที่ภูเก็ต

ข่าวทั่วไป Tuesday May 31, 2016 15:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ ปิดฉากการแข่งขันเขียนโปรแกรมนานาชาติ ACM International Collegiate Programming Contest ครั้งที่ 40 หรือ ACM-ICPC 2016 WORLD FINALS ไปแล้วอย่างน่าประทับใจ เหล่านักศึกษาเซียนซอฟต์แวร์จากทั่วโลก 128 ทีม เข้าร่วมการแข่งขันเขียนโปรแกรมที่เก่าแก่ที่สุดงานนี้ที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 ACM-ICPC เป็นการแข่งขันเขียนโปรแกรมระดับอุดมศึกษาที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และสำหรับรอบชิงแชมปโลกปีนี้ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โดยมีแม่งานหลัก คือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับผู้สนับสนุนภาครัฐ อย่างสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA (ซิป้า) และภาคเอกชน บริษัท ไอบีเอ็ม จำกัด โดยในปีนี้ มีทีมตัวแทนประเทศไทยลงสนามรอบ World Finals ด้วย 2 ทีม ได้แก่ ทีมจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ทีมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ACM-ICPC แข่งขันกันเป็นทีม แต่ละทีมเป็นตัวแทนจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลก ทีมหนึ่งประกอบด้วยนักศึกษา 3 คน ช่วยกันแก้ชุดปัญหาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีความซับซ้อน จำนวน 13 ข้อ ภายในเวลา 5 ชั่วโมง บรรยากาศวันแข่งขันเต็มไปด้วยความคึกคักแต่เช้า แต่ละทีมพกความมั่นใจมาเต็มกระเป๋า เมื่อสัญญาณการแข่งขันเริ่มขึ้น ทุกทีมลงมือช่วยกันแก้โจทย์ปัญหาอย่างคร่ำเคร่ง และในนาทีที่ 11 ทีมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ออกตัวแรง เป็นทีมแรกที่สามารถแก้โจทย์แรกในการแข่งขันสำเร็จ ทำให้ทีมจุฬาฯ คว้ารางวัล First Solution มาครองเป็นการอุ่นเครื่อง ตลอด 5 ชั่วโมง กองเชียร์และทัพสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมเกาะติดการแข่งขันในสนามอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกองเชียร์ทั่วโลกที่ร่วมลุ้นผ่านช่องทางถ่ายทอดสด icpclive.com และเมื่อเวลาการแข่งขันหมดลง ก็มาถึงช่วงเวลาประกาศผล ซึ่งก็เต็มไปด้วยความตื่นเต้น สนุกสนาน กับการลุ้นอันดับ และผลการแข่งขัน คือ ทีมมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กสเตทสามารถแก้โจทย์ได้สำเร็จจำนวน 11 ข้อ ได้รับชัยชนะครองถ้วยรางวัลแชมป์โลก ACM-ICPC 2016 WORLD FINALS ไปครองได้สำเร็จ ผลการแข่งขันทีมที่ทำคะแนนได้สูงสุดจำนวน 12 ทีม ตามลำดับ ดังนี้ • มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กสเตท • มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง • มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด • สถาบันฟิสิกส์และเทคโนโลยีมอสโคว • มหาวิทยาลัยวอร์ซอว์ • สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ • มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กไอทีเอ็มโอ • มหาวิทยาลัยยูรัลเฟเดอรัล • มหาวิทยาลัยวรอคลาว • มหาวิทยาลัยนิชนีย์นอฟโกรอดสเตท • มหาวิทยาลัยแห่งชาติลวิฟ • มหาวิทยาลัยฟูตัน นอกจากนี้ ยังมีรางวัลทีมชนะเลิศระดับภูมิภาค ได้แก่ • มหาวิทยาลัยไคโร ทีมชนะเลิศภูมิภาคแอฟริกาและตะวันออกกลาง • มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง ทีมชนะเลิศภูมิภาคเอเชีย • มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กสเตท ทีมชนะเลิศภูมิภาคยุโรป • มหาวิทยาลัยแห่งชาติโรซาริโอ ทีมชนะเลิศภูมิภาคลาตินอเมริกา • มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทีมชนะเลิศภูมิภาคอเมริกาเหนือ • มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ทีมชนะเลิศภูมิภาคแปซิฟิคใต้ "ซิป้า หรือ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ขอแสดงความยินดีกับทีมที่ได้รับรางวัลและขอชื่นชมน้องๆ นิสิตนักศึกษา และสตาฟไทยที่ตั้งใจฝึกฝนและแสดงความสามารถในเวทีโลกครั้งนี้ ซิป้าในฐานะที่เป็นองค์กรภาครัฐ ดำเนินงานด้านการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มาอย่างต่อเนื่อง เราสนับสนุนโปรแกรมนี้มาหลายปี แต่ละปีเราเห็นพัฒนาการและศักยภาพของเด็กไทยเด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เรามั่นใจว่า คุณภาพของบุคลากรด้านไอทีของไทยเราไม่แพ้ใคร ดังนั้น ซิป้าจะขอเป็นแรงสนับสนุน ผลักดัน เพื่อพัฒนาคุณภาพ ศักยภาพของบุคลากรเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ซิป้ายังมีโครงการสำคัญหลายโครงการที่สนับสนุนนโยบาย Digital Economy ขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลในภูมิภาค ซึ่งผู้เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้กว่า 1500 คนจากทั่วโลกก็ได้เห็นความพร้อมของไทยแล้วผ่านการจัดการแข่งขัน ACM-ICPC 2016 ที่ภูเก็ตครั้งนี้" นายศุภชัย จงศิริ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ ซิป้ากล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ