สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 13-17 มิ.ย. 59 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 20-24 มิ.ย. 59 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 20, 2016 14:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--ปตท. สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE ที่ลอนดอน เฉลี่ยรายสัปดาห์ ลดลง 2.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์ก ลดลง 2.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.91เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 2.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ · นักลงทุนเทขายน้ำมันเพื่อลดการถือสินทรัพย์เสี่ยงที่ราคาอาจถูกกดดันหากประชาชนอังกฤษลงมติรับ Brexit ซึ่งนักวิเคราะห์เห็นว่าเศรษฐกิจยุโรปจะได้รับผลกระทบในเชิงลบ และอาจลุกลามสู่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี นาง Jo Cox สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษที่ไม่เห็นพ้องกับการแยกออกจากสหภาพยุโรปถูกมือปืนที่มีแนวคิดให้อังกฤษออกจากสมาชิก EU สังหาร เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลประกาศห้ามการหาเสียงทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน การลงประชามติ วันที่ 23 มิ.ย. 59 · Reuters รายงานความเห็นของนักวิเคราะห์เกี่ยวกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯพบว่าราคาน้ำมันดิบที่ระดับ 45-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จะกระตุ้นให้ผู้ผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ โดยเฉพาะหลุมน้ำมันที่ขุดไว้แล้ว (Drilled but Uncompleted หรือ DUC ) มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น · Platts รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในช่วงเดือน มี.ค. – พ.ค. 59 ที่ระดับ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน, 1.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 2.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับโดยน้ำมัน 66% ส่งออกมายังเอเชีย ทั้งนี้อิหร่านส่งออกได้มากขึ้นเพราะกำหนดราคาขายต่ำ อนึ่ง รมต.น้ำมันอิหร่านกล่าวว่าปัจจุบันอิหร่านผลิตน้ำมันดิบที่ 3.83 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมีแผนผลิตที่ระดับ 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปีนี้ · Baker Hughes รายงาน Oil Rig ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 17 มิ.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 9Rig มาอยู่ที่ระดับ 337 Rig · Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบWTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 มิ.ย. 59 สถานะการถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 46,053 สัญญา มาอยู่ที่ 198,001 สัญญา ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก · OPEC รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศ OPEC ในเดือน พ.ค. 59 ลดลง 100,000บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 32.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากการก่อการร้ายของกลุ่ม Niger Delta Avenger ทำให้แหล่งผลิตและท่อขนส่งน้ำมันดิบเสียหาย ส่งผลให้ปัญหาอุปทานล้นตลาดเริ่มคลี่คลาย และ OPEC คาดการณ์ตลาดน้ำมันจะกลับมาสู่ดุลยภาพในครึ่งหลังของปี พ.ศ.2559 · EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 มิ.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 900,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 531.5 ล้านบาร์เรล · Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) รายงานความต้องการใช้น้ำมันดิบของอินเดีย เดือน พ.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 290,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 4.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจแข็งแกร่ง · ธนาคารกลางสหรัฐฯ ลงมติคงอัตราดอกเบี้ยในช่วง 0.25 -0.50% ในการประชุมนโยบายทางการเงินครั้งล่าสุด ทั้งนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงวางแผนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในปีนี้ · สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ Ifo ของเยอรมนีปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ของเยอรมนี ปี พ.ศ. 2556 ที่ระดับ1.8% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากประเมินครั้งก่อนเดือน เม.ย. 59 ที่ 1.6% ต่อปี โดยมีแรงสนับสนุนจากการสร้างระบบสาธารณูปโภคและที่อยู่อาศัยของผู้ลี้ภัยและตลาดแรงงานแข็งแกร่งขึ้น อย่างไรก็ดี Ifo ประเมินว่าหากอังกฤษออกจาก EU อาจทำให้ GDP เยอรมนีถดถอยถึง 3% ในระยะยาว แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันปิดตลาดวันศุกร์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเกือบ 5% หลังค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ หลังนาย James Bullard ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขา St. Louis เผยว่าการขึ้นดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งเป็นสิ่งเหมาะสมสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และควรใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีครึ่งก่อนปรับขึ้นอีกครั้ง นอกจากนี้การไหลเวียนของเงินทุนจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มายังเงินยูโรและปอนด์สเตอร์ลิงยังส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงอีก โดยสถานการณ์ Brexit (การลงประชามติออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร) มีการพลิกผัน ผลสำรวจล่าสุดเผยว่าประชาชนส่วนใหญ่กลับมาลงคะแนนเสียงให้อยู่ในสหภาพยุโรป หลังเหตุฆาตกรรม นาง Jo Cox สมาชิกรัฐสภาอังกฤษ ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนให้อยู่ในยุโรป ในสัปดาห์นี้ นักวิเคราะห์คาดว่าสถานการณ์ของBrexit จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ทางด้านปัจจัยพื้นฐาน นอกจากเหตุการณ์ปะทะระหว่างกลุ่มผู้ก่อการร้ายในลิเบียแล้ว ในแคนาดา เมือง Dawson Creek และ Chetwynd ในรัฐ British Columbiaประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากเหตุน้ำท่วม ซึ่งทั้ง 2 เมืองอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับเมือง Fort St. John ที่เป็นแหล่งผลิตก๊าซและน้ำมันสำคัญของรัฐ บริษัท Pembina Pipeline ได้ประกาศปิดท่อขนส่งน้ำมัน Western Pipeline (ขนาด 50,000 บาร์เรลต่อวัน) จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้บริษัทยังไม่สามารถระบุเวลาเริ่มกลับมาดำเนินการได้ ทางด้านเทคนิค เส้นราคาเฉลี่ย 50 วันได้เป็นแนวรับสำหรับราคาในสัปดาห์ที่ผ่านมา และในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 46.50 – 51.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบNYMEX WTI อยู่ในกรอบ 45.00-50.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในกรอบ 43.00-48.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน ราคาน้ำมันเบนซินลดลงจาก Platts รายงานอุปทานน้ำมันเบนซินล้นตลาดเอเชีย เพราะโรงกลั่นน้ำมันคงลดอัตราการกลั่นเพราะผลตอบแทนจากการกลั่นโดยรวมแข็งแกร่งประกอบกับปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ อาทิ รมต.กระทรวงน้ำมันอิหร่านเผยปัจจุบันอิหร่านผลิตน้ำมันเบนซินชนิด Euro 4 ที่ 157,000บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบปี พ.ศ. 2557 และ โรงกลั่น Wuhan (กำลังการกลั่น 160,000 บาร์เรลต่อวัน) ของ บริษัท Sinopec ประเทศจีนเดินเครื่องทดสอบหน่วย S-Zorb (กำลังการผลิต 35,000 บาร์เรลต่อวัน) เพื่อผลิตน้ำมันเบนซินตามกำหนดคุณภาพ Phase V ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillatesเชิงพาณิชย์ ของสิงคโปร์สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 มิ.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 760,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 13.78ล้านบาร์เรล และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 มิ.ย. 59เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 200,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.70 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม China Association of Automobile Manufacturers เผยยอดขายรถยนต์ในจีน เดือน พ.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11% มาอยู่ที่ระดับ 1.79ล้านคันต่อปี สูงสุดในรอบ 5 ปี และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 มิ.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 237 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 55.00-60.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล ราคาน้ำมันดีเซลลดลงจาก Reuters รายงาน บริษัท Lukoil ของรัสเซียส่งออกน้ำมันดีเซล จากท่า Vysotskในเดือน มิ.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 42.1% มาอยู่ที่ 2.87 ล้านบาร์เรล ประกอบกับผู้ค้ารายงานอุปทานน้ำมันดีเซลชนิด 0.001 %S ในตลาดเอเชีย ยังมีเพียงพอไปจนถึงเดือน ก.ค. 59 และอุปสงค์น้ำมันดีเซล ในภูมิภาคอินโดจีนชะลอตัวเนื่องจากฝนตกเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูมรสุมส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันดีเซลของเวียดนามและพม่า ในเดือน มิ.ย.59 ลดลงจากเดือนก่อนกว่า 40% ด้านปริมาณสำรองน้ำมันIES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 มิ.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 220,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 12.67 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 มิ.ย. 59เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 340,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.42 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม EIA รายงานปริมาณสำรองDistillate เชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 มิ.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 800,000 บาร์เรล มาอยู่ที่152.2 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 57.00-61.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ