CEO Survey ทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมครึ่งหลังปี 2559

ข่าวทั่วไป Tuesday June 21, 2016 15:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--นิด้าโพล ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับ "สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย" (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม เรื่อง "CEO Survey ทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมครึ่งหลัง ปี 2559" โดยสอบถามความคิดเห็นจากผู้บริหารระดับสูงในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ กระจายทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งสิ้นจำนวน 48 ราย เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2559 ในมุมมองของผู้บริหาร (Chief Executive Officer: CEO) ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23 พฤษภาคม – 10 มิถุนายน 2559 อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อผู้ประกอบการ ที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) ตามภูมิภาค เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ และการส่งแบบสอบถามทางออนไลน์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 6.2 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 68.75 เป็นผู้ประกอบการจากภาคกลาง ร้อยละ 8.33 เป็นผู้ประกอบการจากภาคเหนือ ร้อยละ 6.25 เป็นผู้ประกอบการจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 6.25 เป็นผู้ประกอบการจากภาคตะวันออก ร้อยละ 10.42 เป็นผู้ประกอบการจากภาคใต้ หากจำแนกตามรายอุตสาหกรรม พบว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 20.83 เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น ร้อยละ 16.67 เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง ร้อยละ 18.75 เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องจักรกล ร้อยละ 4.17 เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 10.42 เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและยา และร้อยละ 2.08 เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุน จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยโดยรวมในช่วงครึ่งหลังปี 2559 พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.42 ระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยโดยรวมในช่วงครึ่งหลังปี 2559 จะทรงตัว รองลงมา ร้อยละ 25.00 ระบุว่า จะขยายตัว และร้อยละ 12.50 ระบุว่า จะหดตัว และร้อยละ 2.08 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์บ้านเมือง ด้านการคาดการณ์ของผู้บริหารระดับสูงต่อทิศทางแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งหลังปี 2559 พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.25 ระบุว่า ทิศทางแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งหลังปี 2559 จะทรงตัว รองลงมา ร้อยละ 27.08 ระบุว่า จะขยายตัว และร้อยละ 16.67 ระบุว่า หดตัว ด้านความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงต่อปัจจัยที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2559 พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.25 ระบุว่า เป็นเม็ดเงินลงทุนตามแผนยุทธศาสตร์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม รองลงมา ร้อยละ 50.00 ระบุว่า เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐต่าง ๆ ที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการประชารัฐ มาตรการกระตุ้นภาคการบริโภคในช่วงเทศกาลและวันหยุดยาวต่อเนื่อง เป็นต้น ร้อยละ 41.67 ระบุว่า เป็นภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ร้อยละ 33.33 ระบุว่า เป็นสถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่สงบ ไม่วุ่นวาย ร้อยละ 22.92 ระบุว่า เป็นมาตรการการเงินการคลังเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ 22.92 ระบุว่า เป็นกำลังซื้อภายในประเทศ ร้อยละ 20.83 ระบุว่า เป็นสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกที่อาจจะเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ร้อยละ 18.75 ระบุว่า เป็นความชัดเจนของนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษตามรูปแบบคลัสเตอร์ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ซูเปอร์คลัสเตอร์) ร้อยละ 14.58 ระบุว่า เป็นราคาน้ำมัน ร้อยละ 10.42 ระบุว่า เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจและการลงทุนภาคเอกชน ร้อยละ 8.33 ระบุว่า เป็นสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ร้อยละ 6.25 ระบุว่า เป็นการเข้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และ ร้อยละ 12.50 ระบุ อื่น ๆ ได้แก่ อัตราการแลกเปลี่ยนค่าเงินระหว่างประเทศ การส่งออกไปยังต่างประเทศที่ดีขึ้น ทิศทางทางการเมืองภายหลังการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ การย่างเข้าสู่ฤดูฝน และแรงงานมีคุณภาพที่ดีขึ้น ด้านความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงต่อปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงมีความกังวลในการดำเนินกิจการในช่วงครึ่งหลังปี 2559 พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.50 ระบุว่า เป็นการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน และการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว รองลงมา ร้อยละ 52.08 ระบุว่า เป็นกำลังซื้อภายในประเทศ ร้อยละ 37.50 ระบุว่า เป็นสถานการณ์ภัยแล้ง ร้อยละ 35.42 ระบุว่า เป็นสถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่ไม่สงบ เกิดความวุ่นวาย ร้อยละ 31.25 ระบุว่า เป็นหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และ เป็นการขาดแคลนแรงงานฝีมือในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 29.17 ระบุว่า เป็นปัญหาสภาพคล่องของกิจการ ร้อยละ 27.08 ระบุว่า เป็นปัญหาสถานการณ์เศรษฐกิจของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ร้อยละ 22.92 ระบุว่า เป็นราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ล่าช้า ร้อยละ 20.83 ระบุว่า เป็นแนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินบาทจากเงินทุนไหลเข้าที่มีมากขึ้น ร้อยละ 16.67 ระบุว่า เป็นความเข้มงวดของธนาคารในการให้สินเชื่อ และ เป็นการขาดเทคโนโลยีในการผลิตและการพัฒนานวัตกรรม ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 14.58 ระบุว่า เป็นการทะลักเข้ามาของสินค้าที่มีราคาถูกกว่าจากประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ร้อยละ 10.42 ระบุว่า เป็นสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ และร้อยละ 10.42 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ความไม่ชัดเจน ไม่ตรงเป้าในนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจ การทะลักเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากจีน การบังคับใช้กฎหมายบางข้อที่ไม่สอดคล้องกับการดำเนินงานของผู้ประกอบการ และผลกระทบจากกรณี EU ประกาศให้ใบเหลือง – ใบแดง อุตสาหกรรมประมงไทย สำหรับความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงต่อการวางแผนในการดำเนินกิจการในช่วงครึ่งหลังปี 2559 พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ ร้อยละ 85.42 ระบุว่า มีการวางแผน ขณะที่ ร้อยละ 14.58 ระบุว่า ไม่มีการปรับเปลี่ยนแผนมากนักจากช่วงครึ่งแรกของปี 2559 โดยในจำนวนผู้ที่ระบุว่ามีการวางแผนนั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.02 ระบุว่า มีการปรับเปลี่ยนโดยขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มฐานลูกค้า รองลงมา ร้อยละ 36.59 ระบุว่า พัฒนาศักยภาพของแรงงาน ร้อยละ 34.15 ระบุว่า เพิ่มมูลค่าและพัฒนาคุณภาพ สินค้า และบริการ ร้อยละ 29.27 ระบุว่า ปรับปรุงเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต ร้อยละ 26.83 ระบุว่า เป็นการชะลอการลงทุน ร้อยละ 24.39 ระบุว่า เพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา และป้องกันความเสี่ยงจากความ ผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 17.07 ระบุว่า ลดการจ้างงาน ร้อยละ 14.63 ระบุว่า เจาะตลาด Niche Market ร้อยละ 9.76 ระบุว่า ขยายฐานการผลิตและการลงทุนไปยังต่างประเทศ ร้อยละ 7.32 ระบุว่า ขยายการลงทุน และเพิ่มการจ้างงาน ในสัดส่วนที่เท่ากัน และร้อยละ 14.63 ระบุ อื่น ๆ ได้แก่ ลดต้นทุนการผลิต ควบคุมค่าใช้จ่าย เน้นการเพิ่มการผลิต และปรับปรุงการให้บริการให้ดีขึ้น เมื่อสอบถามถึงการคาดการณ์ของผู้บริหารระดับสูงต่อรายรับของกิจการในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.67 ระบุว่า รายรับของกิจการมีทิศทางขยายตัว รองลงมา ร้อยละ 37.50 ระบุว่า ทรงตัว ร้อยละ 18.75 ระบุว่า หดตัว และร้อยละ 2.08 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์บ้านเมือง ด้านความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงต่อการปรับตัวเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ ร้อยละ 97.92 ระบุว่า มีการปรับตัว ขณะที่ ร้อยละ 2.08 ระบุว่า ไม่มีการปรับตัว โดยในจำนวนผู้ที่ระบุว่ามีการปรับตัวนั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.22 ระบุว่า เป็นการบริหารจัดการต้นทุนและสินค้าคงคลัง รองลงมา ร้อยละ 56.52 ระบุว่า เป็นการวางแผนประมาณการ การสั่งซื้อ การผลิต การจำหน่ายล่วงหน้า ร้อยละ 39.13 ระบุว่า เป็นการวางแผน/ปรับกลยุทธ์ทางการตลาด เช่น กระจายตลาดการค้าไปสู่ตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพใช้ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e – Commerce) เป็นต้น ร้อยละ 36.96 ระบุว่า เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า /พัฒนาคุณภาพสินค้า ร้อยละ 28.26 ระบุว่า เป็นการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ร้อยละ 4.35 ระบุว่า เป็นการขยายฐานการผลิตและการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และร้อยละ 13.04 ระบุ อื่น ๆ ได้แก่ มีการลดต้นทุน ลดการใช้แรงงาน เพิ่มยอดขายระหว่างประเทศ เพิ่มศักยภาพของแรงงานและศึกษา การใช้ Automation machine มาทดแทนแรงงาน สำหรับความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงต่อผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย จากการที่หลายสถาบันด้านเศรษฐกิจประเมินว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2559 อาจจะยังมีทิศทางการฟื้นตัวที่ไม่แข็งแกร่งนัก พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.92 ระบุว่า ผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยอยู่ในระดับมาก รองลงมา ร้อยละ 27.08 ระบุว่า ปานกลาง ร้อยละ 12.50 ระบุว่า น้อย ร้อยละ 10.42 ระบุว่า มากที่สุด ขณะที่ ร้อยละ 2.08 ไม่ระบุ / ไม่แน่ใจ ด้านความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงต่อผลดี – ผลเสียภายหลังจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในปี 2559 พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.67 ระบุว่า ส่งผลกระทบทั้งผลดีและผลเสีย รองลงมา ร้อยละ 16.67 ระบุว่า ส่งผลดี ร้อยละ 8.33 ระบุว่า ส่งผลเสีย ขณะที่ ร้อยละ 33.33 ระบุว่า ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ โดยในจำนวนผู้ที่ระบุว่า ส่งผลดี นั้น พบว่า ผู้บริหาร ส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.43 ระบุว่า มีตลาดขนาดใหญ่ขึ้น รองลงมา ร้อยละ 25.00 ระบุว่า การเข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศ AEC ทำได้ง่ายขึ้น จากกฏระเบียบที่เอื้ออำนวยภายหลังจากเปิดเสรีแล้ว ร้อยละ 21.43 ระบุว่า มีแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลาย และมีราคาสมเหตุสมผล ร้อยละ 17.86 ระบุว่า เป็นการสร้างอำนาจการต่อรองการค้าได้มากขึ้น และร้อยละ 14.29 ระบุว่า มีการขยายฐานการผลิตไปในประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าต่ำลง ขณะที่ผู้ที่ระบุว่ามี ผลเสีย ภายหลังจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในปี 2559 พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.67 ระบุว่า จะมีการเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น รองลงมา ร้อยละ 50.00 ระบุว่า มีการเคลื่อนย้ายของแรงงานที่มีฝีมือไปยังประเทศที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่า ร้อยละ 37.50 ระบุว่า มีการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนไปยังประเทศในอาเซียนที่ให้สิทธิประโยชน์ด้านการค้า – การลงทุนที่ดีกว่า และ ร้อยละ 4.17 ระบุว่า เป็นการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ สำหรับความต้องการของผู้บริหารระดับสูงต่อภาครัฐในการเร่งดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.58 ระบุว่า ควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ รองลงมา ร้อยละ 47.92 ระบุว่า ควรเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ร้อยละ 35.42 ระบุว่า ควรเจรจาการค้าเสรีที่เป็นประโยชน์และเสริมความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก ร้อยละ 31.25 ระบุว่า ควรเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้ตรงกับกำหนดเวลาที่ตั้งไว้ ร้อยละ 29.17 ระบุว่า ควรเสริมสร้างประสิทธิภาพในบริหารจัดการน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ร้อยละ 25.00 ระบุว่า ควรส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศ ร้อยละ 22.92 ระบุว่า ควรแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และควรพัฒนาการค้าและการขนส่งชายแดนและผ่านแดนเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าตามแนวชายแดน ในสัดส่วนที่เท่ากัน และร้อยละ 22.92 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การออกกฎหมายผังเมือง การปราบปรามทุจริต คอร์รัปชันของข้าราชการ ควรมีหน่วยงานตรวจสอบการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อให้การใช้งบประมาณที่มีน้อยอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด การส่งเสริมและสนับสนุนเรื่องของภาษี การปล่อยสินเชื่อและแหล่งเงินทุน การสนับสนุนการพัฒนาแรงงานและสนับสนุนเรื่องการพัฒนานวัตกรรมการผลิต และการปฏิรูปการศึกษา ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะของผู้บริหารระดับสูงเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมครึ่งหลังของปี 2559 สามารถสรุปได้ดังนี้ 1) รัฐบาลควรมีมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ ส่งเสริม หรือสนับสนุนผู้ประกอบการ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของไทย ขยายการค้าการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านหรือแถบชายแดน การสร้างคลังสินค้าในประเทศแถบอาเซียนเพื่อขยายเศรษฐกิจ ส่งเสริมการอบรมพัฒนาฝีมือของผู้ใช้แรงงาน ส่งเสริมการสร้างรายได้ในชนบท ส่งเสริมด้านการเกษตร การพัฒนาธุรกิจ SMEs อย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนสินค้าไปสู่สินค้าที่มีนวัตกรรมและพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมไปสู่ Industry 4.0 การส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนไทยและต่างชาติ ผลักดันประเทศไปสู่ Digital Economy รวมไปถึงการเจรจาการค้าเสรี 2) รัฐบาลควรส่งเสริมผู้ส่งออก โดยถ้าหากเป็นกิจการที่ใช้วัตถุดิบในประเทศตั้งแต่ ร้อยละ 80 – 85 ขึ้นไป ได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงและส่งเสริมให้ผู้ส่งออกดังกล่าวได้รับเงินคืนจากรัฐตามสัดส่วนของยอดส่งออก เพื่อนำมาชดเชยกับอัตราแลกเปลี่ยนและเป็นการจูงใจให้ผู้ส่งออกมีกำลังใจ 3) รัฐบาลควรเร่งการลงทุนโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และควรเบิกงบประมาณตามเป้าหมายที่วางไว้ 4) รัฐบาลควรกำหนดมูลค่าหรือสัดส่วนของแหล่งสินค้าหรือวัตถุดิบในประเทศ (Local Content) ในโครงการก่อสร้างที่ใช้เงินภาษี 5) รัฐบาลควรทบทวนหรือแก้ไขกฎระเบียบของภาครัฐให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการได้คล่องตัวมากกว่านี้ 6) ควรมีการสานต่อนโยบายหรือโครงการต่างๆ หากมีการโยกย้ายหรือเปลี่ยนตำแหน่งของข้าราชการทุกระดับ เพราะมีบางโครงการที่ต้องชะงักหรือยุติลง เนื่องจากมีการเปลี่ยนข้าราชการหรือผู้บริหาร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ