ชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องเกาะติดกระแสประชามติของสาธารณชน รับหรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 1 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 15 จังหวัด

ข่าวทั่วไป Thursday June 23, 2016 09:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง เกาะติดกระแสประชามติของสาธารณชน รับหรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 1 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา มุกดาหาร ขอนแก่น อุดรธานี ปทุมธานี ลพบุรี นครปฐม ชลบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา และนราธิวาส จำนวนทั้งสิ้น 5,923 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.6 ตัดสินใจแล้วว่าจะรับหรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ ในการลงประชามติ โดยร้อยละ 33.4 ยังไม่ตัดสินใจ เมื่อแยกวิเคราะห์ข้อมูลออกเป็นชาย และ หญิง พบว่า ผู้หญิงตัดสินใจไปก่อนผู้ชายแล้วว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะที่การตัดสินใจของผู้ชายกำลังตามมา คือร้อยละ 68.4 ต่อร้อยละ 64.7 เมื่อจำแนกตามการศึกษา พบประเด็นที่น่าสนใจคือ คนที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.0 ตัดสินใจไปก่อนแล้วว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ คนที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีมีจำนวนเกินครึ่งหนึ่งมาเพียงเล็กน้อย คือร้อยละ 54.3 ที่ตัดสินใจแล้ว และคนที่มีการศึกษาปริญญาตรีที่ตัดสินใจแล้วมีร้อยละ 66.8 และเมื่อจำแนกตามภูมิภาค พบว่า คนภาคอีสานและภาคใต้ส่วนใหญ่ตัดสินใจแล้วว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คือร้อยละ 70.3 ของคนอีสาน และร้อยละ 78.8 ของคนภาคใต้ ในขณะที่คนกรุงเทพมหานครมีอยู่ร้อยละ 69.1 ส่วนคนภาคกลางและภาคเหนือมีจำนวนคนตัดสินใจแล้วน้อยสุด คือร้อยละ 58.9 และร้อยละ 55.4 ตามลำดับ ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นปัจจัยสำคัญต่างๆ เช่น เพศ ระดับการศึกษา และภูมิภาค อาจจะช่วยอธิบายการตัดสินใจของสาธารณชนได้ว่า หญิงจำนวนมากตัดสินใจไปก่อนชาย ผู้ที่มีการศึกษาน้อยส่วนใหญ่ตัดสินใจไปก่อนผู้ที่มีการศึกษาสูง และคนภาคเหนือที่อยู่ในบริบทสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่สงบร่มเย็นตัดสินใจช้ากว่าภาคอื่นๆ เพราะการแสวงหาเหตุผลและการไตร่ตรองโดยมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ คนจำนวนไม่น้อยตัดสินใจรับหรือไม่รับเพราะฟังคนอื่นว่ามา ไม่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยตนเอง "ข้อมูลที่ค้นพบครั้งนี้ชี้ให้เห็นด้วยว่าการ "เข้าให้ถึง" (REACH) ความแตกต่างหลากหลายในวัฒนธรรมเชิงพื้นที่และสถานภาพทางเศรษฐสังคม (Socio-economic Status and Area-Base CULTURE) ของประชาชนแต่ละกลุ่มเป็นคำตอบปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่สามารถแก้โจทย์ต่างๆ ของความขัดแย้งในหมู่ประชาชนที่หลบซ่อนอยู่ในเวลานี้ให้บรรเทาเบาบางลงไปได้บ้าง ถ้าผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเข้าถึงและเข้าใจในมิติวัฒนธรรมเชิงพื้นที่ครบถ้วนก็จะสามารถเป็นกุญแจสำคัญหรือก้าวแรกในการปฏิรูปประเทศและการปรองดองคนในชาติได้" ดร.นพดล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ