ฟอลคอนประกันภัยรวมพลจิตอาสากว่า 250 ชีวิต ไปสัมผัสวิถีชีวิตช้างที่ถูกทอดทิ้ง ณ บ้าน ช. ช้างชรา จังหวัดกาญจนบุรี

ข่าวทั่วไป Monday June 27, 2016 10:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--ฟอลคอนประกันภัย เคยคิดหรือไม่ว่า "ช้าง" สัตว์ประจำชาติไทยของเราที่เคยได้รับเกียรติในอดีต ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือกในธงชาติ หรือแม้แต่ได้ชื่อว่าเป็นขุนพลที่ร่วมรบในหลายสมรภูมิจนมีชัยชนะ "ช้าง" ที่เคยอยู่คู่บ้านคู่เมืองมาอย่างยาวนาน มีโอกาสใกล้จะสูญพันธุ์ เป็นที่น่าตกใจที่ประชากรช้างในประเทศ จากข้อมูลเว็บไซต์ www.thailandelephant.org พบว่ามีจำนวนช้างคงเหลืออยู่ไม่ถึง 6,000 เชือก แบ่งเป็นประชากรช้างเลี้ยง ประมาณ 2,700 เชือก และส่วนช้างที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในป่า ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญได้ประมาณจำนวนช้างป่า ว่ามีราวๆ 3,000 เชือก ซึ่งลดน้อยลงจากเมื่อปี พ.ศ. 2393 อย่างรวดเร็ว เมื่อก่อนประเทศไทยมีช้างอยู่ถึง 100,000 เชือก โดยเวลาผ่านไปเพียง 166 ปี แล้วคำถามต่อไปที่อยู่ในใจคือ "ทำไมช้างถึงลดจำนวนเร็วถึงขนาดนี้ ?" วันนี้ บ้านช.ช้างชรา หรือศูนย์อนุรักษ์ช้างกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มีคำตอบให้กับพนักงานจิตอาสา บริษัท ฟอลคอนประกันภัย จำกัด (มหาชน) นำทีมโดยนางโสภา กาญจนรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายณัฐวุฒิ งานภิญโญ ประธานบริหารฝ่ายปฏิบัติการ รวมถึงพนักงานกว่า 250 ชีวิต ที่ตั้งใจเดินทางมาร่วมโครงการปลูกพืชอาหารช้าง ทำอาหารให้ช้าง โดยร่วมกันกวนข้าวช้าง ปั้นอาหาร และป้อนอาหารให้ช้าง ทำปุ๋ยหมักจากมูลช้าง ตัดหญ้าบาน่า ปลูกหญ้าบาน่า พร้อมมอบของอุปโภคบริโภค รวมถึงอุปกรณ์พัฒนาการเกษตรให้แก่เจ้าหน้าที่มูลนิธิบ้านช.ช้าง ชรา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ มีนายกฤตพล ศาลางาม ผู้จัดการมูลนิธิบ้านช.ช้างชรา เป็นวิทยากรเล่าให้ฟังว่า ปัจจุบัน ช้างเป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองเพราะนับวันจำนวนของช้างในป่าก็จะเหลือน้อยลงทุกที เพราะเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ในการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า โดยจากรายงานของกรมป่าไม้พบว่า พื้นที่ป่าในประเทศไทยได้ลดลงอย่างน่าใจหายจาก 53% ของประเทศในปี พ.ศ. 2505 เหลือเพียง 31.5% ของประไทยเท่านั้นในปี 2557 ทำให้ช้างป่าไม่มีผืนป่าอาศัย จึงออกมารบกวนชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังประสบปัญหารุนแรงจากการพวกแก๊งฆ่าช้างเพื่อเอาอวัยวะมาขายเป็นจำนวนมากอีกด้วย สำหรับช้างเลี้ยงก็มักจะถูกใช้งานเมื่อตอนมีกำลัง แต่เมื่อแก่ตัว หลายเชือกกลับถูกทิ้งให้อดโซ และนี่คือจุดเริ่มต้นของ บ้าน ช.ช้างชรา เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2551 โดยนายสัตวแพทย์สามารถ ประสิทธิ์ผล หัวหน้ากลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกาญจนบุรี ได้มองเห็นสภาพปัญหาของช้างที่เกิดขึ้น ทั้งการบาดเจ็บ ทั้งช้างชราทั้งช้างเร่ร่อน จึงได้มองหาสถานที่สำหรับแก้ไขปัญหาช้างที่เกิดขึ้น และต้องเป็นสถานที่ที่มีความพร้อม ในการเลี้ยงดู มีธรรมชาติ มีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับช้าง ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบจิตอาสาแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี ด้วยพื้นที่ 130 ไร่ ปัจจุบันดูแลช้างวัยเกษียณและถูกทอดทิ้งจำนวน 28 เชือก โดยต้องดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิ ค่าอาหารช้าง ค่ายารักษาโรค ค่าตอบแทนอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ และค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นๆ ภายในศูนย์ต่อเดือนเกือบล้านบาท โดยเฉพาะค่าอาหารของช้างต่อเดือนประมาณ 5 แสนบาท จึงจำเป็นต้องมีการจัดการพื้นที่เพื่อปลูกอาหารช้าง นอกเหนือจากการรับบริจาค และรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ที่ชื่นชอบแหล่งท่องเที่ยวในเชิงจิตอาสา และต้องการเรียนรู้และทำกิจกรรมร่วมกับช้าง นางโสภา กาญจนรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟอลคอนประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความรู้สึกว่า "ดีใจที่ได้มีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือช้าง ที่บ้าน ช.ช้างชรา แห่งนี้ หลังจากที่ทราบว่าทางศูนย์ยังต้องการความช่วยเหลือทั้งกำลังแรงกาย ทุนทรัพย์ และสิ่งจำเป็นอื่นๆ ในการดูแลช้าง ไม่ว่าจะเป็นอาหารช้าง ยารักษาโรคสำหรับช้าง รวมถึงค่าใช้จ่ายจำเป็นต่างๆ กิจกรรมในครั้งนี้ ทำให้เราได้เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ช้างไทย และยังได้มีโอกาสทำกิจกรรมดีๆ ร่วมกับทีมผู้บริหารและพนักงานจิตอาสาทุกคนอีกด้วย" และในปีนี้ บริษัทฟอลคอนประกันภัยก้าวขึ้นสู่ปีที่ 10 "โดยที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ตระหนักถึงการช่วยเหลือและสร้างสรรค์สังคมมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปีที่ก่อตั้ง โดยมีการปลูกจิตสำนึกภายในองค์กรเพื่อสร้างเป็นวัฒนธรรมองค์กร ฉะนั้นพนักงานฟอลคอนฯ จึงมีความเป็นจิตอาสา ทั้งเวลาที่อยู่ในองค์กร หรือแม้แต่จะอยู่ในสังคมภายนอกก็ตาม สำหรับโครงการ "รักษ์โลก...รักษ์เรา" ในปีนี้ บริษัทฯ ได้จัดต่อเนื่องเป็นที่ 3 โดยบริษัทฯ มีเจตนารมณ์ที่จะมุ่งเน้นและสนับสนุนโครงการที่ช่วยอนุรักษ์ดูแลโลกและสิ่งแวดล้อมของเราให้สดใสงดงามเพื่อให้โลกเราน่าอยู่ต่อไป" นางโสภา กล่าวปิดท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ