“EGA” จุดประกาย StartUp หน้าใหม่วงการแอปฯ ไทย โชว์สุดยอดแอปพลิเคชัน ภาครัฐ แห่งปี ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ ในโครงการ “MEGA2015”

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday July 13, 2016 15:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--พีอาร์ วัน เน็ทเวิร์ค "EGA" จุดประกาย StartUp หน้าใหม่วงการแอปพลิเคชันไทย ประกาศรางวัลสุดยอดแอปพลิเคชัน ภาครัฐแห่งปี ในโครงการประกวดผลงานการพัฒนานวัตกรรมโมบายแอปพลิเคชันภาครัฐ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ประจำปี 2558 MEGA2015: Mobile Enterprise d-Government Award 2015 โดยแอปฯ ที่ได้รับรางวัล มี 2 ประเภท ได้แก่ 1. ประเภทสุดยอดแนวคิด คือ แอปฯ ViaBus เพื่อติดตามรถโดยสารสาธารณะแบบเรียลไทม์ 2. ประเภทสุดยอดนวัตกรรม คือ แอปฯ SmartHealth for Chronic Kidney Disease เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไตเรื้อรังที่เชื่อมโยงกับระบบ Hospital Information System ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที เปิดเผยว่า การประกวดผลงานการพัฒนานวัตกรรมโมบายแอปพลิเคชันภาครัฐ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2558 หรือ MEGA2015: Mobile Enterprise d-Government Award 2015 เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สนับสนุนให้เกิด StartUp เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นการจุดประกายแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยี (Disruptive Technology) ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงสินค้าและบริการที่มีอยู่เดิมด้วยเทคโนโลยี โดยมุ่งหวังให้ภาครัฐมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการต่อยอดและค้นหานักพัฒนาโมบายแอปพลิเคชันที่มีคุณภาพตอบสนองความต้องการของภาครัฐและประชาชน MEGA2015 เป็นโครงการสร้างนักธุรกิจเมล็ดพันธุ์ใหม่ให้เกิดขึ้น ภายใต้โจทย์การบริการภาครัฐไปสู่ประชาชน โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชนเข้าไปช่วยเป็นพี่เลี้ยงตั้งแต่แนวคิดแรกเริ่ม บ่มเพาะและช่วยรวบรวมความคิด (Conceptual Ideas) ให้เกิดเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งสนับสนุนให้ผู้เข้าแข่งขันได้สั่งสมประสบการณ์จนสามารถก้าวข้ามผ่านไปสู่กระบวนการเริ่มต้นธุรกิจ โดยมีสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เป็นหน่วยงานสนับสนุนหลัก ทั้งนี้ การสร้างกลุ่มนักพัฒนาโมบายแอปพลิเคชันภาครัฐให้ได้รับการยอมรับจากแนวคิด จนสามารถก่อตั้งเป็นธุรกิจได้นั้น ยังต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้และทำความเข้าใจการทำงานของภาครัฐอีกมากเนื่องจากยังมีเรื่องกฎระเบียบต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เชื่อว่าการประกวด MEGA ในปีต่อๆ ไป จะสามารถคัดกรองแนวคิดริเริ่มที่แปลกใหม่ได้มากขึ้น จนสามารถปั้นผลงานไปสู่ธุรกิจ StartUp ได้อย่างแท้จริง ขณะเดียวกันกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ได้ให้ความร่วมมือกับ EGA และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาพัฒนาระบบไอที ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การผลักดันเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งมีความจำเป็นต่อการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น Big Data, Government Cloud Computing และอื่นๆ รวมถึงการเร่งเปิดระบบ Open Data ของภาครัฐคู่ขนานไปด้วยกัน เพื่อผลักดันแนวคิดจาก MEGA2015 ที่เกิดขึ้นอีกมากมายสามารถต่อยอดไปสู่ผลงานใหม่ๆ เพื่อยกระดับการบริการภาครัฐ ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างต่อเศรษฐกิจ สังคม และประชาชน ซึ่งคาดว่าภายในปีหน้าจะได้เห็นผลงานเหล่านี้ในศูนย์กลางแอปพลิเคชันภาครัฐ หรือ (Government Application Center: GAC) ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการบริหารสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า การจัดโครงการ MEGA2015 ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จากหลายๆ หน่วยงาน ได่แก่ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติฯ, เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทยฯ, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติฯ, บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคทรอนิกส์ (ประเทศไทย) และบริษัท ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) โดยมุ่งเป้าหมายที่จะกระตุ้นให้เกิด Tech StartUp ในระดับแนวคิดเบื้องต้น ซึ่งเสมือนกับการเพาะเมล็ดพันธุ์ให้เกิดขึ้นจำนวนมาก โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากการสนับสนุนของทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ EGA ยังตั้งเป้าหมายในการดึงภาครัฐและเอกชนให้มาเข้ามาสนับสนุนโครงการนี้เพิ่มเติมในโครงการ MEGA2016 เพื่อระดมความสามารถจากผู้เชี่ยวชาญ โดยหวังผลให้จะเกิด StartUp ที่เกี่ยวข้องกับแอปพลิเคชันภาครัฐมากขึ้น สำหรับการประกวด MEGA2015 มีหน่วยงานรัฐมอบโจทย์ในการพัฒนาแอพพลิเคชัน 2 หน่วยงาน คือ 1.กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และ 2. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นการนำร่องที่ดี โดยในปีต่อๆไป EGA จะเชิญหน่วยงานรัฐมาให้โจทย์มากขึ้น และจะมีการนำข้อมูลภาครัฐในโครงการ Open Data มาเป็นแหล่งข้อมูลเพื่อให้นักพัฒนาที่เข้าประกวดสามารถนำไปต่อยอดเป็นแอปพลิเคชันต่างๆ ให้มากขึ้น ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGAเปิดเผยว่า การจัดโครงการ MEGA2015 ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง โดยมีผู้ที่สนใจจากนักพัฒนารุ่นใหม่ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดเป็นจำนวน 243 ทีม หรือมีผลงานเข้าประกวดมากกว่า 280 ผลงาน โดยแบ่งเป็นประเภทสุดยอดแนวคิด สำหรับนักศึกษาหรือมือสมัครเล่น ร่วมเข้าประกวดกว่า 179 ทีม และนำเสนอผลงานจำนวน 200 ผลงาน และประเภทสุดยอดนวัตกรรม สำหรับนักพัฒนามืออาชีพและผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย มีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 64 ทีม นำเสนอผลงานกว่า 80 ผลงาน อย่างไรก็ดี EGA ยังมุ่งหวังที่จะเห็นแอปพลิเคชันภาครัฐใหม่ๆ หรือแอปพลิเคชันภาครัฐที่เน้นการให้บริการ ที่ประชาชนใช้งานได้จริง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงงานบริการของภาครัฐได้ง่าย หรือลดทอนขั้นตอนในการรับบริการจากภาครัฐ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์สำคัญของนโยบายการสร้างยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้ เพื่อสานต่อนโยบายการสร้างยุคเศรษฐกิจดิจิทัล EGA ยังคงสานต่อโครงการประกวดผลงานการพัฒนานวัตกรรมโมบายแอปพลิเคชันภาครัฐต่อไป หรือ MEGA2016 สำหรับผลงานแอปพลิเคชันภาครัฐ ที่ได้รับรางวัล มีจำนวน 16 รางวัล โดยผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ทั้ง 2 ประเภท จะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โล่ประกาศเกียรติคุณประกาศนียบัตร และเงินทุนสนับสนุน 70,000 บาท โดยประเภทรางวัลมีดังต่อไปนี้ 1.ประเภทสุดยอดแนวคิด (ประเภทนักศึกษา) จำนวน 4 รางวัล 2.ประเภทสุดยอดนวัตกรรม (ประเภทนักพัฒนาอิสระและผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย) จำนวน 4 รางวัล 3.รางวัลพิเศษตามหมวดหมู่ จำนวน 4 รางวัล 4.รางวัลพิเศษแบ่งตามผู้สนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 4 รางวัล ดังนี้ · รางวัลสุดยอดแนวคิด (ประเภทนักศึกษา) ประกอบด้วย - รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม ViaBus ผลงาน ViaBus เอปพลิเคชันที่พัฒนา ติดตาม รถโดยสารสาธารณะ แบบเรียลไทม์ - รองรับทั้งภาษาไทยและอังกฤษ - รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Cancer Crush ผลงาน Cancer Crush แอปพลิเคชันสำหรับสร้างสังคมผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพื่อเพิ่มช่องทางในการสื่อสารในสังคมผู้ป่วยให้ข้อมูลโรคมะเร็ง การจัดหาผู้ดูแล และการให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพโดยจิตแพทย์ - รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Mobilise ผลงาน Mobilise เป็นแอปพลิเคชัน วิเคราะห์การเคลื่อนไหวของผู้ป่วยแบบ real-time และติดตามได้จากระยะไกล เพื่อประเมินความเสี่ยงการหกล้มผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยได้ - รางวัลชมเชย ได้แก่ ทีม Asura ผลงาน LongPlanDo (ลองแพลนดู) เป็นแอปพลิเคชัน ช่วยจัดการ การวางแผนการท่องเที่ยว ซึ่งเหมาะสมกับคนในยุคปัจจุบันที่มีเวลาท่องเที่ยวจำกัด · รางวัลชนะเลิศประเภทสุดยอดนวัตกรรม ประกอบด้วย - รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Treconweb ผลงาน SmartHealth for Chronic Kidney Diseaseเป็นแอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับโรคไตเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะ และตรวจเลือด ของผู้รับการตรวจคัดกรองและผู้ป่วย เชื่อมโยงข้อมูลกับระบบ Hospital Information System โดยนำร่องใช้งานในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา ที่มีจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมากกว่า 3,000 คน - รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม อาตาปี ผลงาน โครงการ "สังคมแบ่งปันประสบการณ์ การท่องเที่ยวสุดประทับใจ" เป็นแอปพลิเคชัน แนะนำการท่องเที่ยวแบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่นำเสนอรูปแบบและข้อมูลการท่องเที่ยวให้ตรงตามอุปนิสัยของผู้ใช้งาน เช่น รูปภาพ วีดีโอ หรืคำวิจารณ์จากผู้อื่น เป็นต้น และผู้ใช้งานสามารถแบ่งปันประสบการณ์ท่องเที่ยวกับผู้อื่นในรูปแบบไดอารี่ (Blog) หรือแบบช่วยกันเขียน (Wiki) ก็ได้ - รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีมนะโม ผลงาน ทำนุบำรุงศาสนา คุณค่าแห่งจิตใจ เป็นแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้สามารถเลือกวัดที่จะไปทำบุญ และทราบตำแหน่งเส้นทางของวัด นอกจากนี้ผู้ใช้สามารถเลือกสิ่งของที่จะนำไปบริจาคให้วัดได้ตรงกับความต้องการหรือสิ่งที่วัดขาดแคลน - รางวัลชมเชยได้แก่ ทีม Progress ผลงาน Progress เป็นแอปพลิเคชันที่สร้างชุมชนการเรียนรู้ ไว้ด้วยกัน ทั้ง ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ถึงแม้ไม่มีอินเตอร์เน็ตก็ยังใช้งานได้ แอปพลิเคชันยังมีฟังก์ชันสำหรับครู เช่นเช็คชื่อ คะแนนเก็บ ข้อมูลนักเรียน ตารางสอน เป็นต้น · รางวัลพิเศษแบ่งตามผู้สนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 4 รางวัล ประกอบด้วย - รางวัลสุดยอดแอปพลิเคชันด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ทีม Sweet Duck ผลงาน ระบบแจ้งเตือนหมอกควันไฟป่า สนับสนุนโดย กรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อม - รางวัลสุดยอดแอปพลิเคชันเพื่อสนับสนุนการแพทย์ฉุกเฉิน ได้แก่ ทีม ARSA ผลงาน ระบบการกู้ชีพสำหรับแพทย์ฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาล สนับสนุนโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน - รางวัล The Best Enterprise Mobile Application Award ได้แก่ ทีมอาตาปี ผลงาน โครงการ "สังคมแบ่งปันประสบการณ์ท่องเที่ยว สุดประทับใจ" สนับสนุนโดย บริษัท ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด - รางวัล Samsung IOT ได้แก่ ทีม TreconWeb ผลงาน SmartHealth for Chronic Kidney Disease สนับสนุนโดย บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด · รางวัลพิเศษแบ่งตามหมวดหมู่ จำนวน 4 รางวัล ประกอบด้วย - รางวัลยอดเยี่ยมด้านเสริมสร้างคุณภาพชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อม ได้แก่ ทีม Cancer Crush ผลงาน Cancer Crush - รางวัลยอดเยี่ยมเสริมสร้างความรู้ การบริการ สวัสดิการ ได้แก่ ทีม MTT Innovation ผลงาน Bangkok eService - รางวัลยอดเยี่ยมด้านส่งเสริมเศรษฐกิจ ลงทุน ท่องเที่ยว ได้แก่ ทีม Asura ผลงานLongPlanDo (ลองแพลนดู) - รางวัล Government Data Award ได้แก่ ทีม ปลูกพืชถามดิน ผลงาน ปลูกพืชถามดิน (AskSoil) · รางวัล People Choice Award เป็นรางวัลพิเศษที่เกิดขึ้นจากการร่วมโหวดของประชาชน ได้แก่ ทีม อาตาปี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ