กฤษณ์สัมพันธ์ เมนะสูต นักวิชาการอิสระอาวุโส เสนอความเห็น 4 ประเด็นต่อร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564)

ข่าวทั่วไป Thursday July 28, 2016 10:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--ชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเท่าเทียมกัน เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2559 นายกฤษณ์สัมพันธ์ เมนะสูต นักวิชาการอิสระอาวุโส (k.mns.nesac@hotmail.com) ได้เสนอความเห็น 4 ประเด็นต่อร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) ได้แก่ (1) การส่งเสริมให้มีการใช้ยุทธศาสตร์การสื่อสาร เพื่อการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว (2) การเพิ่มผลิตภาพของปัจจัยการผลิตในส่วนของการยกระดับแรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled Labor) ให้เป็นแรงงานฝีมือ (Skilled Labor) โดยการใช้มาตรการสนับสนุนด้านการคลัง (3) การพัฒนาภาคการเกษตรของไทย และ (4) การใช้แหล่งเงินทุนที่ได้จากการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร (รายได้รัฐจากการประมูลระบบ 3G และ 4G) ให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีสาขาต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟน ภายหลังจากที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดการประชุมประจำปี 2559 เรื่อง "ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)" เมื่อวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม 2559 ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี กฤษณ์สัมพันธ์ เมนะสูต นักวิชาการอิสระอาวุโส ได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาของยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทุนมนุษย์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการแข่งขันอย่างยั่งยืน และยุทธศาสตร์ที่ 8 วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม ดังนี้ 1. ประเด็นข้อเสนอแนะแนวทางพัฒนา การส่งเสริมให้มีการใช้ยุทธศาสตร์การสื่อสาร เพื่อการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทุนมนุษย์ เหตุผลสนับสนุน จากประสบการณ์ที่ได้มีโอกาสไปศึกษาและร่วมประชุมเกี่ยวกับภารกิจด้านการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขของประเทศ พบว่า หน่วยงานได้รับงบประมาณด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดทำสื่อสาธารณะต่างๆ ค่อนข้างจำกัด เช่น ในปีงบประมาณ 2559 ได้รับงบเพียง 13 ล้านบาทเศษ ทั้งๆ ที่ทางหน่วยงาน ไม่มีปัญหาในการจัดทำเนื้อหา (Content) ด้านวิชาการ แต่มีงบไม่เพียงพอในการผลิตสื่อสาธารณะต่างๆ เพื่อเผยแพร่ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและการจัดทำ Application ผ่านระบบสมาร์ทโฟน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชนทั่วไปได้มาก เช่น การให้ความรู้แก่คุณแม่วัยใส การแก้ปัญหาเยาวชนในช่วงวัยรุ่น การลดการกินหวาน การลดการกินเค็ม การส่งเสริมการออกกำลังกาย เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงมีข้อเสนอแนะดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขของประเทศได้รับในการพัฒนาด้านการสื่อสารสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนได้รับการส่งเสริมด้านสุขภาพที่ดีขึ้นและทั่วถึง รวมทั้ง การให้กรมฯ เพิ่มความร่วมมือกับองค์การภาคเอกชน เช่น กลุ่มหมอชาวบ้าน เป็นต้น และสื่อสาธารณะ เช่น สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นต้น 2. ประเด็นข้อเสนอแนะแนวทางพัฒนา การเพิ่มผลิตภาพของปัจจัยการผลิตในส่วนของการยกระดับแรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled Labor) ให้เป็นแรงงานฝีมือ (Skilled Labor) โดยการใช้มาตรการสนับสนุนด้านการคลัง เช่น การลดหย่อนภาษี เป็นต้น ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทุนมนุษย์ เหตุผลสนับสนุน ภาครัฐน่าจะใช้มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับแรงงานที่ไร้ฝีมือหรือที่มีฝีมือก็ตามที่ต้องการฝึกอบรมเพื่อ upgrade ตัวเองให้มีศักยภาพในการผลิตและบริการ (ข้อมูลบางส่วนจากการไปร่วมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของกรมการข้าว พ.ศ. 2558 - 2562) ในสาขาที่ขาดแคลน หรือในสาขาที่ใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการผลิตและการบริการ ที่ต้องใช้ความรู้เพิ่มขึ้น โดยแรงงานที่มีรายได้สามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ในวงเงินจำกัด เช่น 15,000 – 20,000 บาทต่อปี โดยมีการศึกษาความเหมาะสมในเรื่องนี้ โดยกระทรวงการคลังต่อไป นอกจากนี้ ในด้านงบประมาณรายจ่าย ควรเพิ่มงบฝึกอบรมแรงงานให้กับศูนย์ฝึกอบรมแรงานของกระทรวงแรงงานอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่กำหนดให้ผลิตภาพของปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ต่อปี 3. ประเด็นข้อเสนอแนะแนวทางพัฒนา การพัฒนาภาคการเกษตรของไทย - การเสริมสร้างขีดความสามารถในการผลิตตลอดห่วงโซ่การผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะการผลิตข้าวในเขตที่มีเกษตรกรยากจน โดยการปรับโครงสร้างการผลิตด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิตข้าว รวมทั้ง การจัดการความเสี่ยง โดยมีมาตรการส่งเสริมในพื้นที่เหมาะสมในการปลูกข้าว พื้นที่เหมาะสมในการปลูกข้าวปานกลาง และพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว ซึ่งต้องมีมาตรการปลูกพืชทดแทนหรือพืชเสริมในพื้นที่ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร รวมทั้งการแก้ปัญหาอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำให้เพียงพอ การสนับสนุนดอกเบี้ยผ่อนปรน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมทั้ง การพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพมาตรฐานในศูนย์ข้าวชุมชนต่างๆ (ข้าวอินทรีย์ GI และ GAP) - การส่งเสริมการผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะในการปลูกข้าวพันธุ์ต่างๆ เช่น กลุ่มหอมมะลิในเขตอีสานใต้ กลุ่มข้าวเหนียวในเขตอีสานเหนือ กลุ่มข้าวขาว และกลุ่มข้าวหอมปทุมในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำแม่กลอง เป็นต้น - เพิ่มงบในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวและพืชอื่นๆ เช่น เครื่องสำอาง ยา และสินค้าชีวภาพต่างๆ เป็นต้น - ในแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของประเทศ (หมายถึงระดับจังหวัด) ควรมีการจัดตั้งคณะทำงานวางแผนการผลิตข้าวและการจัดการข้าวในแต่ละจังหวัด เพื่อการส่งเสริมและจัดการอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะกับเกษตรกรที่ยากจนและมีรายได้ต่ำ รวมทั้ง การเผยแพร่ต้นแบบการผลิตการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการฝึกอบรมอย่างเป็นรูปธรรมในแต่ละภาค ควบคู่ไปกับการฝึกอบรมอาชีพอื่นๆ นอกฤดูการทำนา ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล - การกำกับดูแลค่าเช่านาตาม พ.ร.บ. ค่าเช่านาให้เกิดความเป็นธรรม ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการแข่งขันอย่างยั่งยืน และยุทธศาสตร์ที่ 8 วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม เหตุผลสนับสนุน เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้ภาคเกษตรและเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แม้ว่าสัดส่วนของภาคเกษตรต่อ GDP โดยรวมจะลดลงอย่างต่อเนื่องก็ตาม 4. ประเด็นข้อเสนอแนะแนวทางพัฒนา การใช้แหล่งเงินทุนที่ได้จากการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร (รายได้รัฐจากการประมูลระบบ 3G และ 4G) ให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในด้านต่างๆ โดยผ่านเครื่องมือในการสื่อสาร โดยนำรายได้ส่วนหนึ่งมาพัฒนาเทคโนโลยี เช่น ร้อยละสิบของการประมูลมาจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อการพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และสื่อใหม่ต่างๆ โดยมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายด้านการกำกับการสื่อสารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะส่งผลย้อนกลับให้อุตสาหกรรมการสื่อสารขยายตัวเพิ่มขึ้น ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์ที่ 8 วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม เหตุผลสนับสนุน ในยุคต่อไปในระยะ 20 ปีข้างหน้าเป็นยุค Digital Economy ประชาชนคนไทยจะมีการเรียนรู้ผ่านโทรศัพท์มือถือ และสื่อใหม่ต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น Social media, Mobile Application เป็นต้น จึงจำเป็นต้องใช้แหล่งเงินทุนจากการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ต่อสาธารณะผ่านโทรศัพท์มือถือ และสื่อใหม่ต่างๆ ทั้งในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร การศึกษา การสาธารณสุข (การส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม) การประกอบธุรกิจ SMEs การนำเข้า-ส่งออก การเมืองการปกครอง เป็นต้น ทั้งนี้ ความเห็นและข้อเสนอแนวทางดังกล่าวข้างต้น ได้ถูกส่งไปยังเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2559 โดยหวังว่าทาง สศช. จะนำไปใช้ประโยชน์ในการออกร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ