ฟิทช์ประกาศเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบแก่ บมจ. ปูนซีเมนต์นครหลวง จากแผนการเข้าซื้อโฮลซิม (ลังกา)

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 29, 2016 13:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบแก่อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ของ บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ SCCC ที่ 'A(tha)' อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ ที่ 'A(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ที่ 'F1(tha)' หลังจากที่ SCCC ได้มีการประกาศมติการประชุมคณะกรรมการของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2559 อนุมัติการเข้าซื้อหุ้นบริษัท โฮลซิม (ลังกา) ลิมิเต็ด (HLL) และบริษัทย่อย ในสัดส่วนประมาณร้อยละ 99 จากบริษัทลาฟาร์จโฮลซิม (LafargeHolcim Ltd., 'BBB/Stable') การประกาศเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบดังกล่าวสะท้อนถึงความเห็นของฟิทช์ว่า การประกาศเข้าซื้อกิจการโรงปูนซีเมนต์ในประเทศศรีลังกาของ SCCC ในมูลค่าประมาณ 373.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 13,090 ล้านบาท) น่าจะส่งผลกระทบต่ออัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตของ SCCC โดยทำให้อัตราส่วนดังกล่าวอาจจะสูงกว่าระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิต ณ ปัจจุบันของบริษัทฯ ที่ 'A(tha)' ทั้งนี้ ฟิทช์จะพิจารณาอันดับเครดิตของบริษัทฯ และยกเลิกเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ เมื่อรายการดังกล่าวเสร็จสิ้นสมบูรณ์และฟิทช์ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างของแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว ฟิทช์มองว่าอัตราส่วนหนี้สินของ SCCC ภายหลังการเข้าซื้อกิจการ ซึ่งวัดโดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) อาจเพิ่มสูงขึ้นถึงระดับ 3.0 เท่าหรือมากกว่า ในขณะเดียวกันระยะเวลาที่บริษัทฯ จะต้องใช้ในการลดอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวลงจนถึงระดับที่ต่ำกว่า 2.25 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิต ณ ปัจจุบัน จะขึ้นอยู่กับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ หลังจากการเข้าซื้อกิจการ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในทางลบต่อสถานะทางการเงินของบริษัทฯ อาจจะได้รับการชดเชยบางส่วนจากสถานะทางธุรกิจที่ดีขึ้นจากการที่ธุรกิจมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีการกระจายตัวของแหล่งรายได้ที่ดีขึ้น ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต การเข้าซื้อกิจการกระทบสถานะทางการเงิน– โครงสร้างของแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการเข้าซื้อ HLL เป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาอันดับเครดิตของบริษัทฯ ในระหว่างที่รอการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ฟิทช์เชื่อว่าการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้น่าจะส่งผลให้อัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตของ SCCC อ่อนแอลง โดย FFO adjusted net leverage อาจจะปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 3.0 เท่า ในปี 2559 และคงอยู่ในระดับที่สูงกว่า 2.25 เท่าในปีต่อๆ ไป ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าระดับที่ฟิทช์พิจารณาว่าสอดคล้องกับอันดับเครดิต ณ ปัจจุบัน ของ SCCC ที่ 'A(tha)' ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวที่มาจากการกู้ยืม รวมถึงแผนการลดอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวของบริษัทฯ ในอนาคต ก่อนที่จะมีการประกาศการเข้าซื้อ HLL เดิมฟิทช์คาดว่าความยืดหยุ่นทางการเงินของ SCCC ในการรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันจะลดน้อยลง จากการที่บริษัทฯ มีแผนการใช้เงินลงทุนที่สูงเพื่อขยายกำลังการผลิต และขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยแหล่งเงินทุนส่วนใหญ่คาดว่าจะมาจากการกู้ยืมจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ซึ่งวัดโดย FFO adjusted net leverage จะเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.5-2.0 เท่าในปี 2559-2560 (อัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวอยู่ที่ 1.3 เท่า ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2559 และจาก 0.9 เท่า ณ สิ้นปี 2558) และลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1.5 เท่า จากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้น การมีตลาดหลักเพียงตลาดเดียว – ฟิทช์ยังคงมองว่าอันดับเครดิตของบริษัทฯ น่าจะยังคงถูกจำกัดจากการที่บริษัทฯ มีการกระจายตัวของแหล่งรายได้ที่จำกัด แม้ว่าจะมีการซื้อกิจการ HLL ก็ตาม แต่ระดับของความกระจุกตัวอาจจะลดลง โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่ายภาษีค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ HLL คิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 10 ของ EBITDA ของ SCCC ในปี 2558 ในขณะที่รายได้ส่วนใหญ่ของ SCCC มาจากการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกันภายในประเทศไทยเป็นหลัก สัดส่วนรายได้จาก HLL ในประเทศศรีลังกาไม่น่าจะช่วยเพิ่มการกระจายตัวของแหล่งรายได้ให้ SCCC ได้อย่างมีนัยสำคัญ ตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่ง – SCCC เป็นบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับร้อยละ 27 โดยวัดจากยอดขาย ฟิทช์คาดว่าบริษัทฯ จะสามารถรักษาตำแหน่งทางการตลาดของตนเองไว้ได้ โดยอาศัยชื่อเสียงของตราสินค้าประเภทปูนซีเมนต์และคอนกรีตผสมเสร็จที่เป็นที่รู้จักมาเป็นเวลานานของบริษัทฯ แม้ว่าคู่แข่งที่เป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศจะมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อัตราส่วนกำไรที่ค่อนข้างสูงของบริษัทฯ น่าจะมีส่วนช่วยให้บริษัทฯ มีความยืดหยุ่นในการปรับราคาสินค้าเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันในภาวะที่ตลาดมีการแข่งขันที่รุนแรง การแข่งขันที่สูงส่งผลกระทบต่ออัตราส่วนกำไร – ฟิทช์คาดว่าการแข่งขันในตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศจะรุนแรงขึ้นในปี 2559 จากกำลังการผลิตใหม่ที่เข้ามาในตลาด อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่ายภาษีค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA margin)ของ SCCC น่าจะลดลงเนื่องจากการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด โดยฟิทช์คาดว่า EBITDA margin ของบริษัทฯ จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 21-22 ในปี 2559 จากระดับร้อยละ 23-24 ในปี 2556-2558 ซึ่งน่าจะเป็นการปรับลดลงชั่วคราวจนกว่าอุปสงค์ในประเทศจะเติบโตขึ้นและรองรับอุปทานที่เพิ่มขึ้นได้ในปี 2560 ผลการดำเนินงานมีความอ่อนไหวต่อราคาพลังงาน – อัตราส่วนกำไรของบริษัทฯ มีความอ่อนไหวต่อระดับราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาถ่านหินและค่าไฟฟ้า ต้นทุนเชื้อเพลิง และไฟฟ้าโดยทั่วไปจะมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ราคาถ่านหินได้ปรับตัวลดลงเกือบร้อยละ 20 จากปีก่อน ฟิทช์คาดว่าราคาถ่านหินจะปรับตัวลดลงอีกในปี 2559 เนื่องจากกำลังการผลิตส่วนเกินยังคงกดดันระดับราคาอยู่ โดยในช่วงสามถึงสี่ปีข้างหน้าราคาถ่านหินน่าจะทยอยปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยอย่างค่อยเป็นค่อยไป สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ - ปริมาณการขายปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นแต่ระดับราคาขายโดยเฉลี่ยลดลงในปี 2559 - มีการรวมการเข้าซื้อกิจการ HLL - สัดส่วนรายได้จากการส่งออกยังคงอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 20-25 ในปี2559 และลดลงในปี 2560 จากปริมาณการขายภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น - EBITDA margin ลดลงมาอยู่ในระดับร้อยละ 21-22 ในปี 2559 และปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในระดับร้อยละ 22-23 ในปี 2560 - อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ประมาณร้อยละ 70-80 ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต ฟิทช์จะพิจารณาอันดับเครดิตของบริษัทฯ และยกเลิกเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ เมื่อฟิทช์ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างของแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว และทราบนโยบายการบริหารเงินทุนของ SCCC ภายหลังจากการเข้าซื้อกิจการ ปัจจัยลบ: - อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) สูงกว่า 2.25เท่าอย่างต่อเนื่อง - อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจัยบวก: ปัจจัยที่อาจมีผลทำให้ฟิทช์พิจารณายกเลิกเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ และคงแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสภียรภาพ - การยกเลิกการเข้าซื้อกิจการ HLL - การเข้าซื้อกิจการ HLL ไม่มีผลกระทบทางลบต่อสถานะทางการเงินของ SCCC อย่างมีนัยสำคัญ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ