ผู้เชี่ยวชาญชี้โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ “อวดอ้าง” หรือ “ชักจูงใจ” ไม่เป็นความผิด

ข่าวทั่วไป Wednesday August 24, 2016 17:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทีจีส์ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15453/2557 ได้ให้แนวทางของกฎหมายว่าการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นความผิดตาม พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ว่าจะต้อง "อวดอ้างสรรพคุณ" หรือ "ชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม" TABBA ระบุมาตรา 32 แห่ง พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คลุมเครือไม่ชัดเจน เสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ เพื่อให้แนวทางแก่ผู้ประกอบการในการปฏิบัติตามกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชี้ชัดการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หากไม่อวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 32 แห่ง พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 สอดคล้องกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15453/2557 ด้านสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยระบุมาตรา 32 คลุมเครือไม่ชัดเจน การบังคับใช้ขึ้นกับการตีความของเจ้าพนักงาน ทำให้ยากต่อการปฏิบัติตาม ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจต่างๆ เป็นวงกว้าง จึงเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความแนวทางการปฏิบัติตามมาตรา 32 เพื่อเป็นแนวทางแก่ทุกฝ่ายในการบังคับใช้และปฏิบัติตามกฏหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณประมาณ เลืองวัฒนะวณิช ทนายความและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย กล่าวว่า "กฎหมายหลักที่ใช้ควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยคือ มาตรา 32 แห่ง พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งในวรรค 1 ระบุว่า 'ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม' ซึ่งที่ผ่านมาหลายฝ่ายมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในการตีความว่าการกระทำใดที่ต้องห้ามตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของข้อกฎหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15453/2557 ได้ให้บรรทัดฐานในการตีความไว้อย่างชัดเจนว่าการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หากมิได้มีเนื้อหาอันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยตรงหรือโดยอ้อมแล้วนั้น ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 32" คุณธนากร คุปตจิตต์ ประธานสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA เปิดเผยว่า "คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15453/2557 จะช่วยให้ทุกฝ่ายทั้งผู้บังคับใช้และภาคธุรกิจมีความเข้าใจตรงกันถึงขอบเขตของการโฆษณาตามวรรค 1 ของมาตรา 32 แห่ง พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวขึ้นกับดุลยพินิจของเจ้าพนักงานแต่ละบุคคลว่าการกระทำใดเป็นความผิดหรือไม่เป็นความผิด ทำให้ยากต่อการปฏิบัติตาม ทั้งยังมีโทษและแรงจูงใจในเรื่องของเงินสินบนนำจับ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในวงกว้าง ทั้งต่อการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งค้าปลีก ร้านอาหาร ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทางสมาคมฯ จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐในการให้ความเห็นทางกฎหมาย ตีความและกำหนดแนวทางในการปฏิบัติตามมาตรา 32 เกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเป็นหลักแก่ทุกฝ่ายในการบังคับใช้และปฏิบัติตามกฎหมายนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต่อไป" คุณโตมร ศุขปรีชา สื่อมวลชนและคอลัมนิสต์ กล่าวว่า "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตของมนุษย์มาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสังคมและวัฒนธรรมในหลากหลายมิติ รวมถึงวัฒนธรรมอาหาร จึงมีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น วัฒนธรรมการผลิตและบริโภคไวน์ในยุโรป หรือการทำสาเกในประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีข้อจำกัดมากและในบางครั้งไม่อาจทำได้ เพราะถูกตีความว่าเป็นการชักจูงใจ ทั้งๆ ที่ความมุ่งหมายของสื่อมวลชนคือการนำเสนอวัฒนธรรมที่แตกต่างเพื่อขยายมุมมองของสาธารณชนเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หาใช่การส่งเสริมให้คนดื่มอย่างไร้สติ การควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงไม่ควรอิงกับหลักศีลธรรมแต่เพียงอย่างเดียวโดยมองข้ามมิติอื่น และต้องอยู่บนพื้นฐานที่เชื่อว่าประชาชนทุกคนมีเหตุผล สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเองอย่างเหมาะสม" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิจิตรา สึคาโมโต้ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "การควบคุมสินค้าและบริการต่างๆ รวมถึงการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยนโยบายสาธารณะนั้น จะต้องอยู่บนฐานของเหตุผลและข้อเท็จจริง โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการปกป้องสวัสดิภาพของสังคมโดยรวม ควบคู่ไปกับการเคารพสิทธิและเสรีภาพของทุกฝ่ายทั้งผู้ดื่มและผู้ไม่ดื่ม ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติของอารยประเทศ ซึ่งพบว่าสามารถป้องกันสังคมจากพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าการควบคุมแบบสุดโต่งบนฐานของศีลธรรม เช่น การเบลอภาพของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรายการโทรทัศน์ ทั้งๆ ที่คนดูต่างก็รู้ว่าสิ่งที่ถูกเบลออยู่นั้นคืออะไร" "สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกฮอล์ไทยได้สร้างมาตรฐานของอุตสาหกรรมในการทำการตลาดและโฆษณาอย่างรับผิดชอบต่อสังคม โดยสมาชิกของ TABBA มีระเบียบปฏิบัติด้านการตลาดที่มากกว่ากฎหมายกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่ทำการตลาดกับผู้ที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนส่งเสริมการดื่มอย่างรับผิดชอบผ่านการส่งเสริมความรู้และความเข้าใจแก่คนในสังคม ทั้งนี้ สมาคมฯ พร้อมที่จะมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากยิ่งขึ้น เรามีข้อมูล งานวิจัย และกรณีศึกษาการแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแผนงาน นโยบาย และมาตรการต่างๆ ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ต่อไป และที่สำคัญ ภาครัฐซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล ต้องยอมรับในการร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกับภาคเอกชน เพื่อการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน" คุณธนากร กล่าวทิ้งท้าย
แท็ก ศาลฎีกา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ