สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 22-26 ส.ค. 59 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 29 ส.ค.- 2 ก.ย. 59

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 29, 2016 15:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--ปตท. สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.55เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.96เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดีราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 56.42เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ · Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ส.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.5 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 523.6 ล้านบาร์เรล สวนทางกับผลสำรวจนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลงจากสัปดาห์ก่อน 500,000 บาร์เรล · อิหร่านตอบรับเข้าร่วมประชุมหารือนอกรอบเรื่องการคงกำลังการผลิต (Production Freeze) ระหว่างกลุ่มผู้ผลิต OPEC และ Non-OPEC ก่อนการการประชุม International Energy Forum (IEF) ที่ประเทศแอลจีเรีย ในวันที่ 26-28 ก.ย. 59 ขณะที่เวเนซูเอลาซึ่งกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจขั้นรุนแรงอยู่ระหว่างเดินสายพบประเทศสมาชิกเพื่อแสวงหาแนวร่วมยกระดับราคาน้ำมัน · Bloomberg รายงานรัฐบาลอิรักสามารถบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน (KRG) โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตจากแหล่งKirkuk ประมาณ 150,000 บาร์เรลต่อวัน หลังจากหยุดการดำเนินการตั้งแต่เดือน มี.ค. 59 (ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิรัก ในเดือน ก.ค. 59 อยู่ที่ 4.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปริมาณการส่งออกอยู่ที่ 3.70 ล้านบาร์เรลต่อวัน) · ปัญหา Supply Disruption ในลิเบีย และไนจีเรียเริ่มคลี่คลาย บริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบียนำเรือบรรทุกน้ำมันดิบเข้าเทียบท่า Zueitina (ปริมาณส่งออก 180,000 บาร์เรลต่อวัน) ได้สำเร็จแม้กลุ่มติดอาวุธขู่โจมตี ในส่วนของไนจีเรียกลุ่มติดอาวุธ Niger Delta Avengers (NDA) พร้อมเจรจากับรัฐบาลแทนการใช้อาวุธโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน · ปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของแองโกลาไปจีนเดือน ก.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.3% มาอยู่ที่ระดับ 1.11 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้แองโกลาเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบสู่จีนรายใหญ่ที่สุด แซงหน้าซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย ซึ่งส่งออกที่ 950,000 บาร์เรลต่อวัน และ 760,000 บาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก · เรือตรวจการณ์ของอิหร่านในสังกัด Islamic Revolutionary Guard Corps (IRGC) จำนวน 4 ลำ เคลื่อนที่เข้าใกล้เรือรบสหรัฐฯ 2 ลำ ในระยะห่างออกไปเพียง 270 เมตร ซึ่งถือเป็นระยะอันตรายต่อการเดินเรือจนเรือสหรัฐฯ ต้องยิงเตือน และเปลี่ยนเส้นทางเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ ขณะที่เรือของ IRGC ล่าถอยออกไป เหตุที่เกิดขึ้นทำให้สหรัฐฯ ไม่พอใจอย่างยิ่ง ขณะที่ รมว.กลาโหมอิหร่าน นาย Hossein Dehqan กล่าวว่าอิหร่านพร้อมเผชิญหน้ากับเรือใดๆที่ล่วงล้ำเข้ามาในอ่าวเปอร์เซีย · Independent Chemical Information Service (ICIS) รายงานอัตราการกลั่นของโรงกลั่นอิสระ (Independent Refineries) ของจีน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ส.ค. 59 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน3% มาอยู่ที่ระดับ 44.6% ของกำลังการกลั่นทั้งหมด 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน · สำนักงานกำกับกิจการพลังงานของนอร์เวย์ (Norwegian Petroleum Directorate หรือ NPD) ปรับลดประมาณการณ์วงเงินลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ปี พ.ศ.2560 อยู่ที่ 1.5 แสนล้านโครน หรือประมาณ 1.84 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากประมาณการณ์เดือน พ.ค.59 ที่ระดับ 1.53 แสนล้านโครน และคาดว่าจะลงทุนใน Exploration Wells ปี พ.ศ.2560 จำนวน 30 หลุม ทั้งนี้รายได้ของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมคิดเป็น 20% ของ GDP · Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบWTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE ที่ลอนดอน และ NYMEX ที่นิวยอร์ก สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ส.ค. 59 กลุ่มผู้จัดการกองทุนเพิ่มสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 88,924 สัญญา มาอยู่ที่241,196 สัญญา และเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกัน 3 สัปดาห์ แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไตรมาสที่ 2/59 ออกมาดีตามคาดโดยขยายตัวที่ระดับ 1.1% ต่อปี กอปรกับทางด้านตลาดน้ำมัน ประเทศผู้ผลิตเริ่มแสดงท่าทีให้การสนับสนุนการประชุมนอกรอบมากขึ้น โดยรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของอิหร่าน นาย Bijan Zanganeh เผยอิหร่านพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับการประชุมระหว่างกลุ่มผู้ผลิต OPEC และ Non-OPEC ในเดือนหน้า โดยหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากกลุ่มประเทศผู้ผลิตอื่นๆเช่นกัน อย่างไรก็ตามอิหร่านจะทำตามข้อตกลงการ Freeze Production ก็ต่อเมื่อปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านอยู่ที่ระดับก่อนถูกคว่ำบาตรที่ 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน อนึ่งปัจจุบันปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านเดือน ก.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 3.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทางด้านซาอุดีอาระเบีย รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันคนใหม่ นาย khalid Al-Falih เผยซาอุดีอาระเบียจะรับฟังความต้องการของประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบที่เข้าร่วมประชุมให้มากที่สุด โดยเชื่อว่าการประชุมในเดือนหน้าที่แอลจีเรียจะช่วยยกระดับราคาน้ำมันดิบและปรับสมดุลของตลาดน้ำมัน อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าจะไม่มีการลดกำลังการผลิต ในช่วงระยะสั้นราคาน้ำมันดิบได้แรงสนับสนุนจากการประชุมระหว่างผู้ผลิตที่จะเกิดขึ้นในเดือนหน้า โดยตั้งแต่มีข่าวการประชุมดังกล่าวส่งผลผลักดันราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวขึ้นมากว่า 13% ทางด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิค ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 47-51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 45-49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ ดูไบ จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 43-47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวสูงขึ้นจาก บริษัท S-Oil ของเกาหลีใต้มีแผนปิดดำเนินการหน่วยRFCC ที่โรงกลั่น Onsan (กำลังการกลั่น 699,000 บาร์เรลต่อวัน) ในช่วงครึ่งหลังของเดือน ก.ย. 59 ขณะที่บริษัท SK Energy มีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น Incheon (กำลังการกลั่น 275,000 บาร์เรลต่อวัน) ในเดือน ก.ย. 59 เป็นเวลา 3เดือน ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ส.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.68 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่13.36 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 เดือน และ PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในยุโรปบริเวณ Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) สัปดาห์สิ้นสุด 18 ส.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 800,000 บาร์เรล หรือ 8.9 % อยู่ที่ 8.5 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเผยความต้องการใช้น้ำมันเบนซิน เดือน ก.ค. 59 ลดลงจากเดือนก่อน 180,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 2.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากภัยน้ำท่วมในหลายมณฑล ทั้งนี้กรมศุลกากรจีนรายงานยอดส่งออกน้ำมันเบนซินในเดือน ก.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 145% มาอยู่ที่ 8.25 ล้านบาร์เรล บ่งชี้ความต้องการใช้ภายในประเทศที่อ่อนแอ ทำให้จีนพลิกบทบาทมาเป็นผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปหลักของภูมิภาค ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ส.ค. 59 คงที่ อยู่ที่ระดับ 232.7 ล้านบาร์เรล สวนทางกับผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters ที่คาดว่าจะลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.2 ล้านบาร์เรล และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ส.ค.59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.43% มาอยู่ที่ 10.01 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 54-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นจากผู้ค้ารายงานตลาดน้ำมันดีเซลในเอเชียแข็งแกร่ง เนื่องจากมีอุปสงค์จากผู้ซื้อในภูมิภาคเพิ่มขึ้น และ โรงกลั่นน้ำมัน Izmit (กำลังการกลั่น 220,000 บาร์เรลต่อวัน) ในตุรกี ของTupras หยุดดำเนินการฉุกเฉิน หน่วยผลิตน้ำมันดีเซล (กำลังการผลิตน้ำมันดีเซล 50,000 บาร์เรลต่อวัน) และหน่วยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 59 ด้านปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล PJK รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในยุโรปบริเวณ ARA สัปดาห์สิ้นสุด 18 ส.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 200,000 บาร์เรล หรือ 0.9 % อยู่ที่23.9 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24ส.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 610,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 14.03 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเผยความต้องการใช้น้ำมันดีเซลเดือน ก.ค. 59 ลดลงจากเดือนก่อน 320,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 3.2ล้านบาร์เรลต่อวัน และบริษัทน้ำมันแห่งชาติของเกาหลีใต้ (Korean National Oil Corp.) รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซลของเกาหลีใต้เดือน ก.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 2.5% มาอยู่ที่ 15.48 ล้านบาร์เรล ด้านปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19ส.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 200,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 153.3 ล้านบาร์เรล และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ส.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 13.64% มาอยู่ที่ 12.05ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 53-57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ