ซินโครตรอน จับมือ มข. ลงนามสัญญาบริการร่วมใช้แสงซินโครตรอน หวังพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากร เพื่อยกระดับคุณภาพงานวิจัยของประเทศ

ข่าวทั่วไป Wednesday August 31, 2016 16:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า "การลงนามสัญญาการให้บริการร่วมระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กระทรวงวิทย์ฯ กับมหาวิทยาลัยขอนแก่นในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือ ที่นับว่าเป็นประโยชน์ต่อวงการวิจัยเป็นอย่างมาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมอย่างเต็มกำลัง อีกทั้งความร่วมมือที่เกิดขึ้น ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับมหาวิทยาลัย เป็นการเปิดโอกาสให้ทั้ง ๒ ฝ่าย ได้ใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ร่วมกันลดปัญหาความซ้ำซ้อนในการจัดหา บำรุงรักษา อุปกรณ์และครุภัณฑ์วิจัยชั้นสูง เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณในภาพรวมให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการร่วมพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ ซึ่งจะเป็นการบูรณาการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพงานวิจัยของประเทศ และพัฒนาบุคลากรทางวิทยาศาสตร์อย่างยั่งยืน" ศ. น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร กล่าวเพิ่มเติมว่า " สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน มีพันธกิจในการให้บริการแสงซินโครตรอน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศในทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สถาบันฯ ได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น มานานกว่า ๕ ปี ที่ผ่านมา มีผลงานบทความวิชาการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติจำนวนมากและมีคุณภาพสูงเป็นที่ประจักษ์ ความร่วมมือดังกล่าว ดำเนินการมาสู่การยกระดับการทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการที่มีความคล่องตัว และเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกันยิ่งขึ้น อีกทั้ง มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ที่มีทิศทางการขับเคลื่อนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอย่างชัดเจนพร้อมทั้งมีศูนย์วิจัยเฉพาะทาง ๓๑ ศูนย์ที่พร้อมสร้างนวัตกรรมโดยใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอน พิธีลงนามสัญญาให้บริการแสงซินโครตรอน ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และเพิ่มศักยภาพงานวิจัยจากการใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอน โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับสิทธิ ในการจัดสรรเวลาการใช้แสงซินโครตรอนให้แก่โครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยในสัดส่วน ร้อยละ 50 ของชั่วโมงการให้บริการแสงฯ ของระบบลำเลียงแสงที่ 1.1W เทคนิค X-ray Absorption Spectroscopy อีกทั้งยังครอบคลุมกิจกรรมพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ โดยบูรณาการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพงานวิจัยของประเทศ และพัฒนาบุคลากรทางวิทยาศาสตร์อย่างยั่งยืน สถาบันฯ ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่นในความไว้วางใจในงานบริการของสถาบันฯ เป็นอย่างยิ่ง"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ