กรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดร่างกฎกระทรวง อนุญาตให้ภาคเอกชน ดำเนินงานตรวจสอบเครื่องจักร พร้อมคาดยอดจดทะเบียนพุ่งสร้างเงินหมุนเวียนผู้ประกอบการ แตะ 8 แสนล้านบาทต่อปี

ข่าวทั่วไป Tuesday September 13, 2016 11:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--เจซีแอนด์โคพับลิครีเลชั่นส์ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดรายละเอียดการจัดทำร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ ว่าด้วยอนุญาตให้เอกชน (Third Party) เข้ามาช่วยตรวจสอบเครื่องจักรแทนพนักงานเจ้าหน้า ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต การพักใช้ใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาต เป็นผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชน และ ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานการตรวจสอบเครื่องจักร หลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบเครื่องจักร และการจัดทำรายงานผลการตรวจสอบเครื่องจักรของผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชน ทั้งนี้กฎกระทรวงดังกล่าวสร้างความคล่องตัวในการจดทะเบียนเครื่องจักรแก่ผู้ประกอบการเพื่อนำไปเป็นหลักประกันเพื่อเพิ่มวงเงินจำนองด้านเครื่องจักรเพื่อหมุนเวียนในกิจการอุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่าจะมีวงเงินจำนองเครื่องจักรเพิ่ม รวมกว่า 8 แสนล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ กฎกระทรวงดังกล่าว คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติหลักการแล้ว เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา หลังจากนี้จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไปตามลำดับ นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดให้เอกชน (Third Party) เข้ามาช่วยตรวจสอบเครื่องจักรแทนพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมได้เพิ่มบทบัญญัติในพระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ. 2514 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2558 เกี่ยวกับการกำหนดให้เอกชนเป็นผู้ตรวจสอบเครื่องจักรที่จะจดทะเบียนกรรมสิทธิ์แทนพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมจัดทำร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ คือ 1.ร่างกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต การพักใช้ใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาต เป็นผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชน และ 2.ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานการตรวจสอบเครื่องจักร หลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบเครื่องจักร และการจัดทำรายงานผลการตรวจสอบเครื่องจักร ของผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชน โดยเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการในร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป นายมงคล กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่างกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต การพักใช้ใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาต เป็นผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชน เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับบุคคลหรือนิติบุคคลใดที่ประสงค์จะเป็นผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชน เพื่อให้ผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชนปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องชัดเจน โดยมีรายละเอียด อาทิ กำหนดหน้าที่ของผู้ตรวจเครื่องจักรเอกชน เป็น 3 ระดับ ได้แก่ ผู้ตรวจสอบเครื่องจักรระดับ 1 มูลค่าเครื่องจักรไม่เกิน 50 ล้านบาท ผู้ตรวจสอบเครื่องจักรระดับ 2 มูลค่าเครื่องจักรไม่เกิน 100 ล้านบาท และผู้ตรวจสอบเครื่องจักรระดับ 3 ไม่จำกัดมูลค่าเครื่องจักร กำหนดวิธีการขอใบอนุญาต กำหนดคุณสมบัติของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่จะขอเป็นผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชน กำหนดขั้นตอนการพิจารณาออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต รวมทั้งการพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตของผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชน 2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานการตรวจสอบเครื่องจักร หลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบเครื่องจักร และการจัดทำรายงานผลการตรวจสอบเครื่องจักร ของผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชน เป็นการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานการตรวจสอบเครื่องจักร อาทิ กำหนดให้ผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชนต้องมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์พร้อม กำหนดให้ผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชนต้องตรวจสอบเครื่องจักรตามระดับที่ได้รับอนุญาต กำหนดวิธีการจัดทำรายงานและรับรองผลการตรวจสอบ นายมงคล กล่าวต่อว่า กรมโรงงานฯ ได้ทำรายละเอียดคุณสมบัติของผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชนนั้นจะต้องมีคุณสมบัติ อาทิ ต้องเป็นบุคคลธรรมดา อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี สำเร็จการศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท ฯลฯ โดยบุคคลหรือนิติบุคคลที่จะเป็นผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชนได้นั้นจะต้องมายื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อนายทะเบียนเครื่องจักรประจำจังหวัดก่อน และจะต้องผ่านการฝึกอบรม ผ่านการทดสอบเพื่อให้ได้ใบรับรอง จากนั้นจะต้องนำเอกสารมายื่นเพื่อให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมตรวจสอบก่อนออกใบอนุญาตให้เป็นผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชนตามกฎหมาย โดยผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชนจะสามารถปฏิบัติหน้าที่แทนพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ก็ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว อย่างไรก็ตามการใช้บริการผ่านช่องทางการให้บริการของผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชนคาดว่า จะใช้เวลาประมาณ 30 วัน ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และประมาณ 37 วัน สำหรับต่างจังหวัด จากปกติ 45 – 60 วัน นายมงคล กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการลดระยะเวลาในการจดทะเบียนฯ จะช่วยประหยัดเวลาได้มากถึง 37% ทำให้ราชการมีความสามารถในการให้บริการออกทะเบียนในช่องทางปกติของทางราชการจากเดิม 800 ฉบับต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 1,300 ฉบับต่อปี ในส่วนของเอกชนคาดว่าจะให้บริการได้กว่า 500 ฉบับต่อปี หากรวมกันทั้ง 2 ช่องทางแล้วสามารถออกทะเบียนได้เพิ่มมากขึ้นถึง 1,800 ฉบับต่อปี อีกทั้งคาดว่า จะมีผู้ประกอบการนำเล่มทะเบียนเครื่องจักรมาจดจำนองประมาณ 1,200 ฉบับต่อปี มูลค่าเฉลี่ยต่อฉบับกว่า 680 ล้านบาท รวมมูลค่ากว่า 8 แสนล้านบาทต่อปี ที่จะเป็นเงินทุนหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สถิติยอดการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร ปี 2559 ตั้งแต่เดือนมกราคม – สิงหาคม 2559 มีผู้ประกอบการขอรับการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ 1,113 ราย เครื่องจักรที่ได้จดทะเบียน 6,099 เครื่อง รวมมูลค่าการจดทะเบียนเครื่องจักร 559,583,256,279 บาท และมีการจดทะเบียนจำนอง 527 ราย โดยมีวงเงินจำนองเครื่องจักร 358,705,804,025 บาท โดยที่สถิติการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา (มกราคม 2556 – ธันวาคม 2558) มีผู้ประกอบการขอรับการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ รวม 4,852 ราย เครื่องจักรที่ได้จดทะเบียน รวม 24,030 เครื่อง มูลค่าการจดทะเบียนเครื่องจักร รวม 1,328,291,663,912 บาท และมีการจดทะเบียนจำนอง รวม 2,914 ราย โดยมีวงเงินจำนองเครื่องจักร รวม 1,592,225,373,311 บาท นายมงคล กล่าวทิ้งท้าย สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรได้ที่ สำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลาง กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4062 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ