ปภ. ประสาน 44 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ในช่วงวันที่ 13 – 15 กันยายน 2559

ข่าวทั่วไป Tuesday September 13, 2016 11:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 44 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ในช่วงวันที่ 13 – 15 กันยายน 2559 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย จัดชุดเคลื่อนที่เร็วและเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง กรณีสถานการณ์รุนแรงให้ดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชั่น และคาดว่าพายุดังกล่าวจะเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศไทย ในช่วงวันที่ 13 – 15 กันยายน 2559ส่งผลให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกเป็นบริเวณกว้างและฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสาน 44 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา น่าน และแพร่ ภาคกลาง 3 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี และนครนายก ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ เลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี และบึงกาฬ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ในช่วงวันที่ 13 – 15 กันยายน 2559 โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณที่มีปริมาณฝนสะสมอยู่แล้ว รวมถึงจัดเตรียมสรรพกำลัง ทั้งเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบล (OTOS) เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย ตลอดจนกำหนดพื้นที่รองรับน้ำและเก็บกักน้ำ และวางแผนพร่องน้ำ ผันน้ำ และระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบภัยซ้ำซาก โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ โดยบูรณาการแผนการระบายน้ำในเชิงลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากอุทกภัย กรณีสถานการณ์รุนแรงให้ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด พร้อมระมัดระวังอันตรายจากปริมาณฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยและดินโคลนถล่มได้ สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ