มรภ.สงขลา ดันงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม

ข่าวทั่วไป Wednesday September 21, 2016 12:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--มรภ.สงขลา มรภ.สงขลา ดันงานวิจัยอาจารย์สู่ระดับอุตสาหกรรม ดึงโรงาน-วิสาหกิจ-กลุ่มเกษตรกร ร่วมปั้นผลงานคุณภาพ สร้างเครือข่ายพัฒนาท้องถิ่นทั้งในประเทศและนานาชาติ ดร.วนิดา เพ็ชร์ลมุล อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล (มรภ.สงขลา) ผู้เสนอการอบรมพัฒนาศักยภาพความร่วมมือด้านงานวิจัยของอาจารย์สู่ระดับอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างวิทยาลัยฯ กับคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยภาครัฐไปปฏิบัติงาน ในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันภาคเอกชน (Talent Mobility) ซึ่งการวางรากฐานที่สำคัญคือพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับความรู้และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรให้มีโอกาสพัฒนาความรู้ด้านการวิจัย จะส่งผลให้เกิดการพัฒนากระบวนการ นวัตกรรม และมาตรฐานการศึกษาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สอดคล้องกับโครงการ Talent mobility ที่ส่งเสริมให้นักวิจัยในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐในประเทศ มีโอกาสทำงานในสถานประกอบการจริง เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ดร.วนิดา กล่าวว่า วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะต้องพัฒนาความรู้ความสามารถทางการวิจัยของบุคลากร ให้สอดคล้องตามแนวทางพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำวิจัยร่วมกับอุตสาหกรรมในท้องถิ่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตรกร เป็นต้น จึงได้จัดการอบรมในครั้งนี้ขึ้น โดยมีจุดมุ่งหวังเพื่อพัฒนานักวิจัยของสถาบันให้สามารถดำเนินโครงการวิจัยได้ตามระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกต้อง ร่วมกับผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและบทความทางวิชาการ เพื่อเผยแพร่เป็นที่ยอมรับทางวิชาการ และได้แนวทางในการพัฒนาสร้างสรรค์งานวิจัย สำหรับหลักสูตรการฝึกอบรมประกอบด้วย บรรยายหัวข้อแนวทางการดำเนินการงานวิจัยให้สอดคล้องกับภาคอุสาหกรรม ขั้นตอนการเริ่มเข้าร่วมเป็นนักวิจัยในฐานข้อมูลของระบบ ขั้นตอนการดำเนินวิจัย ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม แนวทางการจัดสรรงบประมาณของงานวิจัย พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติในหัวข้อแนวทางการสร้างความร่วมมือกับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมในระดับโรงงานอุตสาหกรรม วิสาหกิจ และ กลุ่มเกษตรกร ซึ่งมหาวิทยาลัยมุ่งหวังให้ผลจากการอบรมนำไปสู่งานวิจัยที่มีคุณภาพ มีนวัตกรรมที่สอดคล้องและตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น สังคม ก่อเกิดเครือข่ายวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ