ปภ. นำร่องโครงการวางระบบเตือนภัยผ่านระบบโทรมาตร เพื่อป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง

ข่าวทั่วไป Wednesday September 28, 2016 16:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการ วางระบบเตือนภัยผ่านระบบโทรมาตร เพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยนำแนวคิด "ประชารัฐ" ส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยมีส่วนร่วมเฝ้าระวังอุทกภัย โดยติดตั้งสถานีโทรมาตรใน 4 ลุ่มน้ำสำคัญ ครอบคลุมทั้งลุ่มน้ำคลองนาทวี ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา ลุ่มน้ำคลองภูมี และลุ่มน้ำคลองมาบัง พร้อมจัดทำแอปพลิเคชั่นสำหรับบันทึกและส่งข้อมูลสถานการณ์น้ำผ่านเครือข่าย Smart Phone ภายใต้แนวคิด "หน้าบ้านใครผู้นั้นส่งข้อมูล" เพื่อให้ประชาชนร่วมเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนสถานการณ์อุทกภัยในชุมชน ถือเป็นโครงการนำร่องที่ทำให้ประชาชนมีช่องทางในการเปิดรับข้อมูลข่าวสารด้านสาธารณภัยที่รวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะดำเนินการพัฒนาและขยายผลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะพื้นที่ 25 ลุ่มน้ำของประเทศ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า พื้นที่ภาคใต้ประสบปัญหาอุทกภัยบ่อยครั้ง สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ การวางระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประชาชนสามารถเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยได้อย่างทันท่วงที กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จังหวัดสงขลา สำนักงานทรัพยากรน้ำ ภาค 8 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และโครงการเครือข่ายเมืองในเอเชียเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (ACCCRN HATYAI) ดำเนินโครงการวางระบบเตือนภัยผ่านระบบโทรมาตร เพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ตามกรอบแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 และกรอบความร่วมมือเซนไดเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พ.ศ.2558 – 2573 โดยนำแนวคิด "ประชารัฐ" ส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยร่วมเฝ้าระวังอุทกภัย ซึ่งได้ติดตั้งสถานีโทรมาตรใน 4 ลุ่มน้ำสำคัญของภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ ลุ่มน้ำคลองนาทวี ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา ลุ่มน้ำคลองภูมี จังหวัดสงขลา และลุ่มน้ำคลองมำบัง จังหวัดสตูล เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ ปริมาณและระดับน้ำในพื้นที่ เส้นทางการไหลของน้ำ พื้นที่รองรับน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยรายงานข้อมูลสถานการณ์น้ำไปยังศูนย์ประมวลผลกลางแบบทันที (Real Time) ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 12 สงขลา เพื่อประเมิน วิเคราะห์ และคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์อุทกภัย จะได้ประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที ครอบคลุมพื้นที่ 13 อำเภอ 41 ตำบล 135 หมู่บ้าน 175 ชุมชน พร้อมจัดทำแอปพลิเคชั่นสำหรับบันทึกและส่งข้อมูลสถานการณ์น้ำ โดยใช้เครือข่าย Smart Phone ภายใต้แนวคิด "หน้าบ้านใครผู้นั้นส่งข้อมูล" เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนสถานการณ์อุทกภัยในชุมชน โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำ เขตชุมชน เขตเศรษฐกิจ และพื้นที่สำคัญของจังหวัด ซึ่งเมื่อตรวจพบระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ระบบจะแจ้งเตือนสถานการณ์อุทกภัยไปยังชุมชนผ่านกลุ่มไลน์ ทั้งระหว่างหน่วยงานและประชาชนในชุมชน เพื่อเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยไว้ล่วงหน้าได้อย่างทันท่วงที ทั้ง นี้ โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการนำร่องที่ทำให้ประชาชนมีช่องทางในการเปิดรับ และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสาธารณภัยที่รวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์เป็น ประโยชน์ต่อการวางแผนเตรียมพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติได้อย่างมี ประสิทธิภาพ ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะได้นำแนวคิดดังกล่าวไปดำเนินการพัฒนาและขยายผลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย โดยเฉพาะพื้นที่ 25 ลุ่มน้ำของประเทศ 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ