สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 26-30 ก.ย.59 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 3 – 7 ต.ค.59 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 3, 2016 16:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--ปตท. สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 43.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 2.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 46.74เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 58.59เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก · OPEC เห็นชอบในการปรับลดปริมาณการผลิตจาก เดือน ส.ค. 59 ที่ 33.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 32.5 – 33.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อลดอุปทานส่วนเกิน และเพิ่มสมดุลของอุปสงค์และอุปทานน้ำมันในตลาดโลก ทั้งนี้ที่ประชุมตั้งคณะกรรมการ เพื่อศึกษารายละเอียด อาทิ ปริมาณการผลิตของประเทศสมาชิก เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสามัญของOPEC ในวันที่ 30 พ.ย. 59 อนึ่งรัสเซียซึ่งไม่เป็นสมาชิกในกลุ่ม OPEC ประกาศพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อเพิ่มเสถียรภาพในตลาดน้ำมัน · Shell Petroleum Development Company of Nigeria (SPDC) ประกาศหยุดดำเนินการท่อ Trans Niger Pipeline ที่ใช้ขนส่งน้ำมันดิบ Bonny Light (กำลังการสูบถ่าย 180,000 บาร์เรลต่อวัน) เพราะเหตุเพลิงไหม้บริเวณแนวท่อ และกลุ่ม Niger Delta Avenger กลับมาก่อวินาศกรรมแหล่งน้ำมัน หลังยุติบทบาทเพื่อเจรจากับรัฐบาล ตั้งแต่เดือน ส.ค. ที่ผ่านมา · EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ก.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 502.7 ล้านบาร์เรล สวนทางกับผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3 ล้านบาร์เรล · สหพันธ์การค้า Industri Energi ของนอร์เวย์ เผยปัจจุบันพนักงานของบริษัทให้บริการขุดเจาะ (เช่นSchlumberger, Halliburton) มากกว่า 300 ราย ได้ประท้วงหยุดการทำงาน ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. 59 ส่งผลให้แท่นขุดเจาะและสำรวจ (Rig) จำนวน 7 แท่น ต้องหยุดดำเนินงาน และมีแนวโน้มขยายวงกว้าง โดยพนักงาน1,700 ราย อาจเข้าร่วม ซึ่งจะทำให้แท่นขุดเจาะต้องหยุดดำเนินการรวมถึง 10 แท่น ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ Ÿ Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐอเมริกา สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 ก.ย. 59 เพิ่มขึ้น 7 แท่น (Rig) รายสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 425 แท่น สูงสุดในรอบ 7 เดือน และสรุปจำนวนแท่นขุดเจาะ ในไตรมาสที่ 3/59 เพิ่มขึ้น 95 แท่น จากไตรมาสก่อนหน้า นับเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 2 ปีครึ่ง ส่วนหลักเพิ่มขึ้นจากแหล่งผลิต Permian ในรัฐ Texas และรัฐ New Mexico · รัฐบาลคาซัคสถานประกาศผ่อนคลายข้อจำกัดเกี่ยวกับการเผาก๊าซ ที่ได้จากการผลิตน้ำมันดิบ เพื่อเตรียมผลิตน้ำมันดิบ Kashagan ที่การผลิตจะเริ่มในเดือน ต.ค.- พ.ย. 59 โดยคาดว่าจะสามารถผลิตน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ปี 59-61 ได้เป็นปริมาณ 7 ล้านบาร์เรล, 21-35 ล้านบาร์เรล และ 49 ล้านบาร์เรล ตามลำดับ · กรรมการผู้จัดการของ Arabian Gulf Oil (AGOCO) บริษัทลูกของบริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบีย เผยปัจจุบันการผลิตน้ำมันดิบของบริษัท อยู่ที่ 290 KBD และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 350 KBD ภายในสิ้นปี 2559 นี้ เนื่องจากท่าส่งออกน้ำมันดิบ Zueitina (150 KBD) สามารถเริ่มดำเนินการได้อีกครั้ง (การผลิตน้ำมันดิบของAGOCO ลดลงสู่ระดับ 150 KBD หลังท่าส่งออกดังกล่าวถูกกองกาลังติดอาวุธควบคุมในช่วงวันที่ 11-12 ก.ย. 59 ที่ผ่านมา) แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI เพิ่มขึ้นติดต่อกันตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 59 เป็นวันที่ 3 หลัง OPEC ตกลงเพดานการผลิตน้ำมันดิบในเบื้องต้นที่ 32.5-33.0 MMBD เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีผลในเชิงปฏิบัติ โดยต้องหารือต่อรายละเอียด ว่าเพดานการผลิตของแต่ละประเทศในการประชุมสามัญ OPEC วันที่ 30 พ.ย.59 ขณะที่รายงานล่าสุดทั้ง OPEC และรัสเซียต่างทำสถิติผลิตน้ำมันดิบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดย Reutersประเมินปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC ในเดือน ก.ย. 59 เพิ่มขึ้น 70,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 33.60 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากอิรักและลิเบียผลิตเพิ่มขึ้น และ กระทรวงพลังงานรัสเซียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.ย. 59 เพิ่มขึ้น 400,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 11.11 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย ส่วนผู้ผลิตสำคัญอย่างสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มกลับมาผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากน้ำมันดิบที่สูงขึ้นจะยิ่งกระตุ้นให้ผู้ผลิตเพิ่มแท่นขุดเจาะ (Rig) จากเดิมที่จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,609 แท่น ในเดือน ต.ค. 57 ก่อนลดลงรุนแรง และต่อเนื่องจากผลกระทบของวิกฤติการณ์ราคาน้ำมันตกต่ำจนกระทั่งทำสถิติต่ำสุดสัปดาห์ล่าสุด ที่ 316 แท่น ในเดือน พ.ค. 59 จากนั้นผู้ผลิตเริ่มเพิ่มแท่นขุดเจาะ ขึ้นชัดเจนโดยเฉพาะในไตรมาส 3/59 ซึ่งไม่มีลดลงติดต่อกัน 14 สัปดาห์ นานที่สุดตั้งแต่ปี 2554 ส่วนด้านอุปสงค์ EIA รายงานความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ เดือน ก.ค.59 ลดลง 1.3% YoY มาอยู่ที่ 19.71 MMBD นับเป็นการลดลงจากปีก่อนหน้า เป็นครั้งแรกในรอบครึ่งปี จากการวิเคราะห์เชิงเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 47.4 – 52.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ WTI อยู่ในกรอบ 46.0 – 50.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ43.5 – 48.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก รายงานอุปสงค์ Gasoline จากอินโดนีเซียที่แข็งแกร่ง โดยบริษัท Pertamina ของอินโดนีเซียมีความต้องการที่จะนำเข้า Gasoline ปริมาณ 8.0 - 8.5 ล้านบาร์เรลต่อเดือน ในไตรมาส 4/59 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการซื้อขายแบบสัญญาระยะยาว (Term) โดยแบ่งเป็น ชนิด 88RON ปริมาณ5.0 - 5.5 ล้านบาร์เรลและชนิด 92 RON ปริมาณ 3.0 ล้านบาร์เรล อีกทั้งบริษัท JX Nippon Oil & Energy Corp.บริษัทกลั่นน้ำมันรายใหญ่สุดในญี่ปุ่น ประกาศปิดซ่อมแซมโรงงานปิโตรเคมี Muroran (180,000 บาร์เรลต่อวัน) ซึ่งสามารถผลิต Gasoline และ Kerosene หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย. 59 และบริษัท บริษัท Chevronปิดซ่อมบำรุง CDU (71,300 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่นน้ำมัน Richmond (243,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่ รัฐ Californiaในสหรัฐฯ เป็นระยะเวลา 45 วัน และปิดซ่อมแซมโรงกลั่นน้ำมัน El Segundo (269,000 บาร์เรลต่อวัน) แถบ Los Angeles เนื่องจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ อย่างไรก็ตาม โรงกลั่น Yunan Petrochecimal (260,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Petro China มีแผนที่เลื่อนเปิดดำเนินการออกไปเป็น พ.ศ. 2560 จากแผนเดิมที่จะเปิดเดือน ต.ค. 59 อนึ่งโรงกลั่นดังกล่าวมีกำลังการผลิต Gasoline อยู่ที่ 3.5 ล้านตันต่อปี ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 58.2 – 63.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจาก ปริมาณการส่งออก Diesel ของยุโรปที่เพิ่มขึ้นจานวนมากในระยะนี้ เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ อเมริกาใต้ แอฟริกาเหนือและตุรกี เนื่องจากโรงกลั่นปิดซ่อมบำรุงหลายแห่ง ส่งผลให้ Diesel ในคลังสำรองบริเวณยุโรปตะวันตก (Amsterdam-Rotterdam-Antwerp : ARA) ลดลง อีกทั้ง อัตราการกลั่นของโรงกลั่นในเม็กซิโกลดลง เหลือ 56 % ในปัจจุบันจากการปิดซ่อมบำรุงตามแผน การซ่อมแซมจากเหตุขัดข้อง รวมถึงนโยบายเน้นส่งออกน้ำมันดิบมากกว่ากลั่นเองส่งผลให้ในเดือน ส.ค. 59 เม็กซิโกนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 36 % เทียบกับปีก่อนหน้า และ Korea National Oil Corp. ของเกาหลีใต้ รายงานอุปสงค์ Gasoilในเดือน ส.ค. 59 เพิ่มขึ้น 20.4 % จากเดือนก่อนหน้า หรือ 10.4 % เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 15.08 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณการส่งออกลดลง 7.7 % จาก เดือนก่อนหน้า หรือ 13.8 % เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 14.29 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ฝนตกหนักในอินเดียส่งผลให้ความต้องการ Gasoil เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าลดลง และผลักดันให้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น อาทิเช่น Essar Oil ของอินเดียออกประมูลขาย Gasoil 0.05 % S ปริมาณรวมกว่า 1 ล้านบาร์เรล ส่งมอบเดือน ต.ค. 59 อีกทั้ง Arbitrage จากเอเชียและตะวันออกไปตะวันตกปิด ส่งผลให้ Gasoil ค้างคาในเอเชีย สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 55.7 – 60.5เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ