สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 17-21 ต.ค. 59 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 24-28 ต.ค. 59 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 25, 2016 16:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--ปตท. สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่51.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 50.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของราคาน้ำมันสำเร็จรูป ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 64.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 0.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 61.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ · Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐอเมริกา สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21ต.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 11 แท่น (เพิ่มขึ้นต่อเนื่องกัน 17 สัปดาห์) มาอยู่ที่ 443 แท่น ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 59 · Reuters รายงานราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะกระตุ้นให้ผู้ผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ กลับมาดำเนินการขุดเจาะน้ำมันดิบ Cowen & Co. บริษัทให้บริการทางการเงินในสหรัฐฯ ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นทุก 5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จะแปรไปเป็นเงินลงทุนขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ จำนวน 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นจำนวน แท่น ทั้งหมด 85 แท่น · รัฐมนตรีน้ำมันไนจีเรีย นาย Emmanuel lbe Kachikwu คาดว่าไนจีเรียจะประกาศยกเลิกเหตุสุดวิสัย (Force majeure) ในเดือน ธ.ค. 59 หรือ ม.ค. 60 ซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของประเทศเพิ่มขึ้น 22 % สู่ระดับ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน · Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) รายงานความต้องการใช้น้ำมันของอินเดีย ในเดือน ก.ย. 59 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.7% มาอยู่ที่ 3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี จากฤดูมรสุมที่ล่าช้ากว่าปกติส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก · Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ต.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 5.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 468.7 ล้านบาร์เรล ลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 6 สวนทางกับผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.7 ล้านบาร์เรล · นาย Mohammed Barkindo เลขาธิการกลุ่ม OPEC แสดงความเห็นในเชิงบวกว่า สมาชิกกลุ่ม OPEC ทั้ง 14 ประเทศจะสามารถเจรจาตกลงลดกำลังการผลิตได้ ในการประชุมวันที่ 30 พ.ย. 59 ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานรัสเซีย นาย Alexander Novak ประชุมร่วมกับซาอุดีอาระเบียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางการลดปริมาณอุปทานน้ำมันโลก · Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE ที่ลอนดอน และ NYMEX ที่นิวยอร์ก สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 ต.ค. 59 กลุ่มผู้จัดการกองทุนเพิ่มสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4,547 สัญญา มาอยู่ที่ 296,630 สัญญา และเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกัน 4 สัปดาห์ แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากผลกระทบของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ9 เดือน หลังนาย Charles Evans ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) สาขาชิคาโกเห็นว่า FED อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งนับตั้งแต่ปัจจุบันถึงปลายปี 2560 ซึ่งโดยทั่วไปแล้วนาย Charles Evans ต้องการให้ชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยมาตลอด นอกจากนี้แรงสนับสนุนราคาน้ำมันจากการเจรจาระหว่างซาอุดีอาระเบียและรัสเซียเริ่มที่จะแผ่วลง อีกทั้งอิรักผู้ผลิตน้ำมันดิบอันดับ 2 ของกลุ่ม OPEC ยังมีแผนเพิ่มการลงทุนในแหล่งผลิตน้ำมันต่อเนื่อง ล่าสุดกระทรวงน้ำมันของอิรักเปิดสัมปทานแหล่งผลิตน้ำมันขนาดเล็กและกลาง 12 แห่งให้แก่บริษัทน้ำมันต่างประเทศ โดยให้แต่ละบริษัทเป็นผู้เสนอรูปแบบสัญญา จากเดิมที่เป็นรูปแบบService-based ซึ่งอิรักจะจ่ายเงินเป็นมูลค่าคงที่ต่อน้ำมันแต่ละบาร์เรล ให้แก่บริษัทที่มาลงทุนไม่ว่าราคาน้ำมันจะอยู่ที่ระดับใด สาเหตุจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำส่งผลให้อิรักมีรายได้ลดลงมาก อิรักจึงพยายามกระจายความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่ผันผวนให้แก่บริษัทที่มาลงทุน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 49.5- 53.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบNYMEX WTI ที่48-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ ที่ 47-51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจากผู้ค้าในตลาดคาดอุปทานน้ำมันเบนซินของเอเชียในช่วงเดือน พ.ย.59 อาจตึงตัว เพราะอุปทานจากเกาหลีใต้และอินเดียลดลงจากหน่วยผลิตน้ำมันเบนซินของโรงกลั่นปิดซ่อมบำรุง อาทิ บริษัท SK ของเกาหลีใต้ปิดหน่วย RFCC No.2 (กำลังการกลั่น 60,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่นUlsan (กำลังการกลั่น 840,000 บาร์เรลต่อวัน) ในช่วงเดือน พ.ย. 59 และบริษัท Reliance ของอินเดียจะปิดซ่อมหน่วย FCC (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Jamnagar (กำลังการกลั่น 660,000 บาร์เรลต่อวัน) ในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน พ.ย. 59 เป็นเวลา 5 สัปดาห์ ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินPetroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ต.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 30,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.46 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามPlatts รายงานโรงกลั่นเอกชนของจีน (Teapot Refineries) มีอัตราการกลั่นในเดือน ก.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 10 % อยู่ที่ 57 % เพราะโรงกลั่นหลายแห่งกลับมาดำเนินการหลังจากปิดซ่อมบำรุง และ Petroleum Planning & Analysis Cell (PPAC) รายงานความต้องการใช้น้ำมันเบนซินของอินเดีย เดือน ก.ย. 59 ลดลงจากเดือนก่อน 18,000 บาร์เรลต่อวันหรือประมาณ 3.4% มาอยู่ที่ระดับ 510,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากน้ำท่วมในหลายเมืองใหญ่ ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินที่สิงคโปร์เพิ่มขึ้น โดย IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ต.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.54 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 12.86 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 62-66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นจากข่าว Platts รายงานตลาดน้ำมันดีเซลในเอเชียได้แรงสนับสนุนจากอุปทานที่ลดลงโดยโรงกลั่นในเอเชียเหนือหันไปผลิตน้ำมันอากาศยานและน้ำมันทำความอบอุ่นเพื่อรองรับความต้องการในช่วงหน้าหนาว อย่างไรก็ตาม Arbitrage จากเอเชียไปตะวันตกยังคงปิด กดดันไม่ให้ราคาปรับตัวขึ้นได้มาก ด้านปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลในภูมิภาคลดลง โดย PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ต.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 380,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 8.88 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ต.ค. 59 ลดลง จากสัปดาห์ก่อน 660,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่12.90 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Platts รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซลของโรงกลั่นจีน 42 แห่ง ในเดือน ก.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 5.5 % เพราะอุปสงค์เพิ่มขึ้นในฤดูกาลเพาะปลูกและการประมงและโรงกลั่นน้ำมัน Zhenhai (กำลังการกลั่น 460,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Sinopec ในจีนตั้งเป้าส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปทั้งสิ้น 1.2 ล้านบาร์เรล ในเดือน ต.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 80,000 บาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 59-63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ