ผถห.GUNKUL กดปุ่มรับโซลาร์ฟาร์ม แดนปลาดิบ แห่งที่ 4 พร้อมอนุมัติออกหุ้นกู้เพิ่ม 3 พันลบ./รองรับธุรกิจเฟื่องฟู

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 30, 2016 11:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--IR network ผู้ถือหุ้น บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) โหวตให้ทุ่มงบกว่า 1 หมื่นล้านบาทลงทุน โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ lwakuni ประเทศญี่ปุ่นอย่างพร้อมเพรียง ดันโซลาร์ฟาร์มแดนปลาดิบทะลุเกิน 200 เมกะวัตต์ และอนุมัติออกหุ้นกู้เพิ่มวงเงิน 3,000 ล้านบาท รองรับแผนขยายการลงทุน "โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์" ส่งซิกผลงานQ4 ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากธุรกิจพลังงานทดแทนหนุนเต็มสูบ มั่นใจปี 2560 กลุ่มบริษัทฯ ก้าวเข้าสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าอย่างเต็มตัว นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) เปิดเผยถึงผลการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2559 ว่า มีมติอนุมัติให้เข้าทำรายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ lwakuni City Miwa Town Solar Power Plant เมืองอิวาคุนิ จังหวัดยามางุจิ ประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิตตามสัญญาณซื้อขายไฟฟ้า 75.0 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใน Godo Kaisha East Japan Solar 13 (โครงการ Iwakuni) เมืองอิวาคุนิ จังหวัดยามางุจิ ประเทศญี่ปุ่น มูลค่าการลงทุนรวมของโครงการ 31,327.80 ล้านเยน หรือประมาณ 10,776.76 ล้านบาท โดยบริษัทดังกล่าวจะผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับ Chugoku Electric Power ขนาดกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 75.0 เมกะวัตต์ ซึ่งได้รับสัมปทานในการขายไฟฟ้าให้กับ Chugoku Electric Power ในอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in Tariff (FiT) หน่วยละ 32 เยน เป็นระยะเวลา 20 ปี ส่งผลทำให้ขณะนี้บริษัทมีโครงการพลังงานงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญีปุ่นรวมประมาณ 200 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นยังมีมติเห็นชอบให้ออกและเสนอขายหุ้นกู้เพิ่มอีกวงเงิน 3,000 ล้านบาท จากวงเงินเดิมไม่เกิน 3,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินใหม่ไม่เกิน 6,000 ล้านบาท อายุไม่เกิน 7 ปี เพื่อเป็นการลดภาระต้นทุนทางการเงิน เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเงินกู้ระยะยาวสำหรับพัฒนาโครงการปัจจุบันและโครงการใหม่ รวมทั้งรองรับการขยายธุรกิจในอนาคตของบริษัทฯ เขากล่าวต่อถึง ทิศทางผลประกอบการไตรมาส 4/2559 ของบริษัทและบริษัทย่อยคาดว่า มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส3/2559 ที่มีผลกำไรสุทธิจำนวน 125.43 ล้านบาท เนื่องจากขณะนี้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมเพิ่มขึ้น จากบริษัท พัฒนาพลังงานลม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโรงไฟฟ้าวายุวินด์ฟาร์ม และโครงการโรงไฟฟ้าซับพลูวินด์ฟาร์ม 1-2 ครบทั้ง 60 เมกะวัตต์แล้ว โดยจะเริ่มทยอยรับรายได้ทันทีตั้งแต่ปี 2559 ประมาณ 100 ล้านบาท อีกทั้งยังทยอยรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ปัจจุบันจ่ายไฟเข้าระบบแล้วประมาณ 120 เมกะวัตต์ (รวมโซลาร์ฟาร์มจาก บริษัท บีเอ็มพี โซล่าร์ จำกัด กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ ) ปัจจุบันบริษัทฯ มีโครงการโซลาร์ฟาร์มและพลังงานลม กำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 486 เมกะวัตต์ (นับรวมที่ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้น 75 เมกะวัตต์) ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยปี 2559 ได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไปแล้ว 171 เมกะวัตต์ รวมทั้งมีการรับรู้รายได้จากธุรกิจเทรดดิ้งกับงานก่อสร้างเข้ามาเติ่มเติม และบริษัทยังมีแผนเข้าประมูลงานใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพของธุรกิจในภาคส่วนต่างๆ ให้เติบโตมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลการดำเนินงาน การเพิ่มงานในมือ (Backlog) ให้สูงขึ้น ที่สำคัญเพื่อผลักดันให้กำลังการผลิตภายในปี 2560 เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 500 เมกะวัตต์ "ที่ผ่านมาธุรกิจของบริษัทฯ เติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอด จากการหางานใหม่ๆ เพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของโซลาร์ฟาร์ม หรือแม้กระทั่งพลังงานลม ซึ่งขณะนี้มีรวมๆ กันแล้วทั้งในส่วนของโครงการโซลาร์ฟาร์มและพลังงานลมกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 486 เมกะวัตต์ และปีนี้ได้จ่ายไฟเข้าระบบไปแล้วรวม 171 เมกะวัตต์ ซึ่งเป้าหมายของเราคือ การก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำด้านธุรกิจพลังงานทดแทน รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินทรัพย์และกำไรในอนาคต ดังนั้นเราจึงอยากให้ผู้ถือหุ้นได้เติบโตไปพร้อม ๆ กับบริษัทฯ เพราะปี 2560 รายได้ประมาณ 50% ของกลุ่มบริษัทฯ จะมาจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ทำให้กลุ่มบริษัทฯ ก้าวเข้าสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าอย่างเต็มตัว นั่นหมายความว่ารายได้และกำไรของกลุ่มบริษัทจะปรับเพิ่มสูงขึ้นแน่นอนในอนาคต "นางสาวโศภชากล่าวในที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ