มรภ.สงขลา บวงสรวงทวดช้าง สิ่งศักดิ์คู่มหา’ลัย ชวนประชาชนร่วมสักการะในงานวัฒนธรรมสัมพันธ์

ข่าวทั่วไป Monday February 20, 2017 10:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.พ.--มรภ.สงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดพิธีบวงสรวงทวดช้าง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำมหาวิทยาลัย เพื่อความสิริมงคลของชาวราชภัฏและประชาชนทั่วไป อันเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2560 "วิถีวัฒนธรรม ตามรอยพ่อ"ระหว่างวันที่ 10-18 กุมภาพันธ์ 2560 ชาว มรภ.สงขลา เชื่อกันว่าทวดช้างหรือพ่อทวดช้าง สถิตอยู่ในเขารูปช้างอันศักดิ์สิทธิ์ ทวดช้างเป็นทวดศักดิ์สิทธ์ในรูปของพญาช้างใหญ่ ผู้คนนิยมเคารพกราบไหว้บูชามาช้านานแล้ว และเชื่อตกทอดกันว่าพ่อทวดช้างจะช่วยดลบันดาลให้สามารถดำรงชีพอยู่อย่างปลอดภัยและเป็นสุข นักศึกษาเชื่อว่าหากบูชาทวดช้างอย่างถูกต้องแล้วท่านจะดลบันดาลให้เรียนจบได้สมดั่งใจมุ่งหวัง ตำนานทวดช้าง ในความเชื่อของชาว มรภ.สงขลา เล่าสืบทอดต่อๆ กันมาว่า ท่านลักเก้า ผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์สินเงินทองและมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ได้ทำการรวบรวมทรัพย์ แก้วแหวงเงินทองต่างๆ นับได้มหาศาล ออกเดินทางจากสถานที่พำนับของตนเพื่อจะไปบรรจุใส่พระบรมธาตุเมืองนคร พร้อมด้วยผู้ติดตามเป็นควาญช้างชื่อนายบังดอเลาะห์ ยายมาล่าห์ และบังสุม รวมทั้งพญาช้างใหญ่ 2 เชือกคือ พ่อพลายแก้ว และแม่พังงา ออกร่วมเดินทางมาด้วย ครั้งมาถึงบริเวณที่ตั้งของเขาใหญ่ลูกหนึ่งใน อ.เมือง จ.สงขลา ก็เกิดพายุร้ายถาโถมเข้าใส่ ท่านลักเก้าและคณะจึงหลบฝนอยู่บนเขาลูกดังกล่าว แต่ไม่อาจต้านทานความรุนแรงของพายุร้ายได้ เป็นเหตุให้ควาญช้างทั้ง 2 และช้างทั้งหมดถึงแก่ความตาย นำความเศร้าโศกมาสู่ท่านลักเก้าเป็นยิ่ง ท่านจึงฝังศพควาญช้าง และพญาช้างใหญ่ทั้ง 2 ไว้บนยอดเขาลูกดังกล่าว ต่อมาจุดที่มีการฝังศพช้างดังกล่าวมีหินก้อนหนึ่งผุดขึ้นมามีลักษณะคล้ายพญาช้างใหญ่ ชาวบ้านเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์เรียกว่าทวดช้าง หรือพ่อทวดช้าง เชื่อกันว่าท่านจะช่วยป้องปกผู้คนในพื้นที่ๆ ท่านดูแลให้ประสบอยู่แต่ความสุขความ ที่มาของชื่อเขารูปช้าง อีกตำนานหนึ่ง ซึ่งเล่าแตกต่างจากตำนานบทแรก กล่าวไว้ว่า เขารูปช้างนั้นมีนิทานพื้นบ้านเล่าต่อๆ กันมาว่า ในสมัยก่อนชายชื่อ นายแรง ไปทำไร่ไถนาและเลี้ยงสัตว์อยู่ที่ อ.กงหลา จ.พัทลุง และ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา อยู่มาวันหนึ่งมีช้างป่าลงมาจากเทือกเขาบรรทัด ลงมายังพื้นราบและทำลายพืชผลไร่นาของชาวบ้านเสียหายเป็นจำนวนมาก นายแรงรู้เข้าจึงเข้าสู้กับจ่าโขลงช้างป่า(หัวหน้าช้างป่า) และมีชัยชนะสามารถขับไล่ช้างป่าทั้งโขลงกลับสู่เทือกเขาบรรทัดได้ โดยจ่าฝูงของช้างป่าโขลงนี้เองที่นายแรงจับยกขึ้นเหนือศีรษะและทุ่มไปตกในเมืองสงขลากลายเป็น เขาลูกช้าง ภายหลังคนเรียกเพี้ยนเป็น เขารูปช้าง ดังปรากฏในปัจจุบัน (ที่มา : http://www.siamsouth.com)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ