ปภ.บูรณาการเข้มดำเนิน “3 มาตรการเชิงพื้นที่ 4 มาตรการบริหารจัดการ” รับมือไฟป่า-หมอกควัน พร้อมประสานแม่ฮ่องสอนคุมเข้มการเผา - ลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ

ข่าวทั่วไป Tuesday February 28, 2017 10:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดใช้กลไก "ประชารัฐ" ขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงรุกอย่างเข้มข้นตามแนวทาง "3 มาตรการเชิงพื้นที่ 4 มาตรการบริหารจัดการ" ครอบคลุมทั้งพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ริมทางหลวง กำหนดช่วงเวลาและจัดระเบียบการเผา ประกาศเขตห้ามเผา และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นกับผู้ที่ลักลอบจุดไฟในพื้นที่ห้ามเผา ปัจจุบันคุณภาพอากาศในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ 8 จังหวัดอยู่ในเกณฑ์ปกติถึงปานกลาง มีเพียงพื้นที่ตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนจังหวัดแม่ฮ่องสอน พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) มีค่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์ มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่ง ปภ.ได้ประสานจังหวัดแม่ฮ่องสอนคุมเข้มมิให้มีการเผาอย่างเด็ดขาด เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยควบคุมสถานการณ์หมอกควันมิให้รุนแรงจนถึงขั้นวิกฤต นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ช่วงปลายฤดูหนาวต่อเนื่องฤดูร้อน หลายพื้นที่ของประเทศมักประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยเฉพาะ 9 จังหวัดภาคเหนือ เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ รัฐบาลห่วงใยสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควัน โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 เห็นชอบแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปี พ.ศ.2560 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ซึ่งมีกรอบแนวคิดที่เน้นกลไกประชารัฐและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภายใต้ระบบ ศูนย์สั่งการแบบเบ็ดเสร็จของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมุ่งควบคุม เฝ้าระวังและป้องกันการเผาในพื้นที่เสี่ยง ควบคู่กับการเสริมสร้างความรู้เพื่อสร้างความตระหนักแก่ประชาชน ทั้งนี้ เพื่อบูรณาการการป้องกันไฟป่าหมอกควันล่วงหน้าและแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ 65 จังหวัดเสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยมุ่งเน้นการป้องกัน การเฝ้าระวัง การบริหารจัดการ และการประสานการปฏิบัติในภาวะฉุกเฉิน ภายใต้แนวทาง "3 มาตรการเชิงพื้นที่ 4 มาตรการบริหารจัดการ" ดังนี้ มาตรการเชิงพื้นที่ ครอบคลุม 3 พื้นที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) พื้นที่ป่า มุ่งควบคุมการเผา จัดทำแนวกันไฟ และสนธิกำลังลาดตระเวนในพื้นที่ป่า 2) พื้นที่เกษตรกรรม เน้นการกำหนดกติกา ช่วงเวลา จัดระเบียบการเผา ประกาศเขตห้ามเผา รวมถึงรณรงค์การไถกลบแทนการเผา และ 3) พื้นที่ริมทาง ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังการเผาวัสดุทุกประเภทในเขตริมทางหลวง และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการควบคุมการเผาในเขตชุมชน สำหรับ 4 มาตรการบริหารจัดการ ประกอบด้วย 1) มาตรการบริหารจัดการ ได้จัดตั้ง ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดและอำเภอ มีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นผู้บัญชาการ ทำหน้าที่อำนวยการ สั่งการ ระดมสรรพกำลังและทรัพยากรในการควบคุมไฟป่าและแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างมีเอกภาพ 2) มาตรการสร้างความตระหนัก ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ผลกระทบของไฟป่าและหมอกควัน บทลงโทษจากการลักลอบจุดไฟในพื้นที่ห้ามเผา พร้อมรณรงค์ปลูกฝังจิตสำนึกและสร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันไฟป่าและแก้ไขปัญหาหมอกควัน 3) มาตรการลดปริมาณเชื้อเพลิง ได้จัดทำแนวกันไฟและควบคุมการเผา ส่งเสริมการใช้สารหมักชีวภาพเพื่อย่อยสลายตอซัง รณรงค์การฝังกลบขยะและการไถกลบแทนการเผา และ 4) มาตรการประชารัฐ ได้กำหนดกติกาชุมชน มาตรการลดการเผาในพื้นที่ป่าไม้และเศษวัสดุทางการเกษตร รวมถึงสนับสนุนการแปรรูปวัสดุทางการเกษตร อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้จะเป็นช่วงที่มักเกิดวิกฤตหมอกควัน แต่จากการดำเนินมาตรการและกิจกรรมควบคุมการเผาอย่างต่อเนื่องในทุกรูปแบบ อาทิ กิจกรรม kick off การจัดเสวนาเครือข่าย การจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการแก้ไขปัญหา การตั้งรางวัลนำจับผู้ลักลอบเผาป่าและวัสดุการเกษตร การจัดกิจกรรมธนาคารใบไม้กิ่งไม้ การประชาสัมพันธ์ผ่านทุกช่องทางสื่อ และจัดชุดปฏิบัติการ ประจำตำบลให้ความรู้และรณรงค์สร้างการมีส่วนร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า ส่งผลให้ปัจจุบันคุณภาพอากาศในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ 8 จังหวัดอยู่ในเกณฑ์ปกติถึงปานกลาง ปริมาณฝุ่นละอองไม่เกินค่ามาตรฐาน และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตของประชาชน ซึ่งจากการประสานข้อมูลคุณภาพอากาศของ 9 จังหวัดภาคเหนือกับกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ช่วงวันที่ 26 – 27 ก.พ.60 พื้นที่ตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนจังหวัดแม่ฮ่องสอน พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) มีค่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์ มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งปภ.ได้ประสานจังหวัดแม่ฮ่องสอนคุมเข้มมิให้มีการเผาอย่างเด็ดขาด เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยควบคุมสถานการณ์มิให้รุนแรงจนถึงขั้นวิกฤต สำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ที่มีหมอกควันปกคลุม ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง เป็นระยะเวลานาน รวมถึงใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก เพื่อป้องกันการสูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงหลีกเลี่ยง การประกอบกิจกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มปริมาณหมอกควัน ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง สามารถติดต่อ ขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และสำนักงานป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจังหวัดสาขาในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ