รองเลขาธิการสพฉ. ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นการทำงานของสายด่วน 1669 ระบุ ระบบพร้อมช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้ไดรับการรักษาอย่างทันท่วงที เปิดสถิติปี 59 ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินไปได้กว่า 1.6 ล้านคน

ข่าวทั่วไป Tuesday February 28, 2017 11:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ รองเลขาธิการสพฉ. ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นการทำงานของสายด่วน 1669 ระบุ ระบบพร้อมช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้ไดรับการรักษาอย่างทันท่วงที เปิดสถิติปี 59 ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินไปได้กว่า 1.6 ล้านคน พร้อมแจงรายละเอียดของเหตุการณ์อดีตกองหลังทีมชาติไทยหัวใจวายสนามกีฬา สธ. แนะประชาชนจดจำ 9 ขั้นตอนการใช้งานสายด่วนให้ขึ้นใจ และให้โทรแจ้งเหตุ 1669 ก่อนเข้าให้การช่วยเหลือผู้ป่วย นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ออกมาชี้แจงอีกรอบถึงกรณีที่ นายบุญธรรม บูรณธรรมานันท์ อดีตกองหลังทีมชาติไทย หัวใจวายระหว่างการฝึกซ้อมฟุตบอล ในสนามกีฬา กระทรวงสาธารณสุข และเสียชีวิตว่า เราพยายามสอบถามข้อเท็จจริงเพราะข่าวที่ออกไปนั้นทำให้เกิดความไม่มั่นใจต่อระบบการแพทย์ฉุกเฉินซึ่งเป็นระบบที่สร้างมาเพื่อให้ประชาชนมั่นใจเพื่อที่จะช่วยเหลือชีวิตประชาชนหากเจ็บป่วยฉุกเฉินได้และหากประชาชนไม่มั่นใจในระบบแล้วมันจะมีผลเสียมากต่อชีวิตคน ทั้งนี้หมายเลข 1669 ที่เราได้จัดทำขึ้นมานั้นก็ไม่ใช่หมายเลขที่เราจัดทำไว้เพื่อประชาสัมพันธ์องค์กรแต่เป็นหมายเลขที่เราเชื่อว่ามันจะช่วยชีวิตคนได้ ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุเราก็รีบหาข้อมูลเพื่อทำให้เกิดความชัดเจนทันที ซึ่งในเบื้องต้นเมื่อมีการโทรเข้ามาที่ระบบ 1669 โดยมาตรฐานจะมีการบันทึกเวลาทุกนาทีเมื่อมีการติดต่อ การรับโทรศัพท์ หรือการปล่อยรถพยาบาล โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ในระบบของเราได้บันทึกไว้ว่าศูนย์สื่อสารและสั่งการ 1669 ได้รับแจ้งการขอความช่วยเหลือในเวลาประมาณ 17.23 น. และได้ประสานไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดคือ โรงพยาบาลบำราศนราดูร ในเวลา 17.24 น. และภายใน 2-3 นาทีรถโรงพยาบาลก็ออกมาจากรพ.บำราศนราดูรเพื่อที่จะมารับตัวผู้ป่วยแต่เมื่อรถออกมาแล้วญาติก็ได้นำตัวผู้ป่วยส่งไปยังโรงพยาบาลด้วยตนเองรถพยาบาลก็เลยไม่ได้เข้าถึงจุดเกิดเหตุเพราะมีการนำตัวผู้ป่วยออกมาก่อนแล้ว รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวอีกว่า และในส่วนที่มีข่าวว่าได้มีการวิ่งมาขอความช่วยเหลือที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ที่สุดในขณะนั้น เท่าที่เราได้รับทราบข้อมูลมาคือญาติหรือเพื่อนของผู้เสียชีวิตได้วิ่งมาที่ด้านล่างตึกของตึก สพฉ. และพนักงานรักษาความปลอดภัยก็รีบวิ่งมาบอกศูนย์สื่อสารสั่งการที่ชั้น 2 ทันทีและสิ่งที่ศูนย์สื่อสารสั่งการทำเป็นอันดับแรกคือรีบโทรแจ้งศูนย์สั่งการที่จังหวัดนนทบุรีเพื่อให้ส่งรถส่งอุปกรณ์ที่มีความพร้อมมารับตัวผู้ป่วย และในขณะเดียวกันเราก็เตรียมวิ่งออกไปช่วยผู้ป่วยที่จุดเกิดเหตุ พร้อมเครื่อง AED ที่เรามีอยู่แล้วด้วย ซึ่งในระหว่างที่เรากำลังจะเข้าให้การช่วยเหลือก็ได้รับแจ้งจากวิทยุเช่นกันว่าได้มีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกไปแล้ว เพราะเวลาที่มีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในกระทรวงสาธารณสุขของเราก็จะมีระบบรักษาความปลอดภัย โดยมีเจ้าหน้าที่อยู่ที่จุดเกิดเหตุ และเมื่อมีการตัดสินใจย้ายเจ้าหน้าที่ก็เคลียร์ผ่านวิทยุว่าจะมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ซึ่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของเราก็อยู่ในข่ายวิทยุนั้นก็ได้ยินว่าผู้ป่วยออกไปแล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่เราได้ยินว่ามีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกไปรักษาแล้วเราก็ไม่ได้ลงไปตรงจุดเกิดเหตุตรงนั้น แต่เราก็ไม่ได้นิ่งเฉยประสานและสอบถามไปที่โรงพยาบาลบำราศนราดูร ซึ่งรพ.บำราศนราดูรได้แจ้งว่าผู้ป่วยไปถึงเวลา 17.30 น. แต่เวลาที่เขาวิ่งมาขอความช่วยเหลือจากเราที่ตึก สพฉ. ก็ประมาณ 17.30 น.ซึ่งตอนที่ตัดสินใจแจ้งเราก็คือตอนที่ได้มีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกไปแล้ว ตนคาดเดาว่าเพื่อนส่วนหนึ่งคงวิ่งมาแจ้งเรา และอีกส่วนหนึ่งก็ปฐมพยาบาลและก็นำส่งโรงพยาบาลด้วยตนเองซึ่งเป็นความคลาดเคลื่อนในช่วงเวลาที่ไม่พอดีกัน นพ.ภูมินทร์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า อย่างไรก็ตามที่เราพบเห็นบ่อยมากสำหรับการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินคือโดยทั่วไปคนเราเมื่อเจอผู้ป่วยฉุกเฉินหรือผู้ป่วยวิกฤตในลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะเข้าไปช่วยผู้ป่วยก่อน ซึ่งใช้เวลาเป็น 10 กว่านาที พอรู้สึกว่าไม่ไหวแล้วถึงจะเริ่มโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือ ซึ่งเวลาที่เสียไปก็นานพอสมควร ซึ่งโดยหลักการของมาตรฐานเลยเมื่อเราพบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นเราจะต้องโทรแจ้งสายด่วน 1669 ก่อนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญเข้าให้การช่วยเหลือให้เร็วที่สุด ดังนั้นหากประชาชนพบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินจะต้องโทรแจ้งสายด่วน 1669 ก่อนและระหว่างที่เจ้าหน้าที่กำลังเดินทางมาถึงเราก็เข้าไปให้ความช่วยเหลือในระหว่างที่รอเจ้าหน้าที่ได้ ดังนั้นเหตุการณ์เกิดขึ้นนี้จุดที่ 1.คืออาจจะตัดสินใจโทรแจ้งสายด่วน 1669 ช้า ซึ่งไม่ใช่ความผิดของใครหากแต่จะทำให้เรานำกลับมาปรับปรุงตัวเราเองให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบว่าเมื่อพบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินผู้ประสบเหตุจะต้องโทรสายด่วน 1669 ก่อนแล้วเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย สำหรับข้อมูลในการใช้งานสายด่วน 1669 นั้นอยากให้ประชาชนจำให้ขึ้นใจว่าเมื่อพบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินให้เรารีบแจ้งสายด่วน 1669 และต้องแจ้งอาการผู้ป่วยว่าผู้ป่วยมีอาการอย่างไร เพราะเจ้าหน้าที่จะต้องทำการประเมินอาการผู้ป่วยว่าหนักเบาขนาดไหนจะได้จัดส่งรถที่มีศักยภาพขนาดไหนไปรับผู้ป่วย นอกจากนี้แล้วผู้แจ้งเหตุต้องแจ้งในเรื่องของสถานที่ที่เกิดเหตุให้ชัดเจน เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้ประเมินการเดินทางในการเข้าให้ความช่วยเหลือได้ และผู้แจ้งเหตุต้องให้ข้อมูลเบอร์ติดต่อกลับเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดต่อได้ ทั้งนี้จากสถิติในแต่ละปีมีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ใช้บริการผ่านสายด่วน 1669 เป็นล้านคน โดยใน 4 ปีที่ผ่านมาสถิติการใช้งานสายด่วน 1669 ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น โดยในปีพ.ศ. 2559 ที่ผ่านมาสถิติผู้ใช่บริการผ่านสายด่วน 1669 ถึง 1,169,136 คน ซึ่งระบบเรากำลังพัฒนาไปได้ด้วยดี ประชาชนก็รู้จักสายด่วนมากขึ้นและเราก็ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินมากขึ้นด้วย " ข่าวที่เกิดขึ้นนั้นเรารู้สึกไม่สบายใจมาก และต้องขอแสดงความเสียใจกับผู้ป่วยและญาติต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีกครั้งด้วย ซึ่งเรามีหน้าที่ค้นหาว่าจุดอ่อนของระบบคืออะไรและเราก็มีหน้าทีที่จะต้องแก้ไขให้มันดีขึ้นมากกว่าเดิม และสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้นั้นเรายืนยันว่าเจ้าหน้าที่ของ สพฉ.ไมได้เพิกเฉย เราพร้อมและเตรียมตัวที่จะออกไปให้การช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่มันเป็นปัญหาในเรื่องของการสื่อสารที่ทำให้เวลาไม่พอดีกัน และส่วนระบบในการภาพรวมของการสั่งการ ตามตัวเลขที่เรามีถือว่าระบบไปได้ด้วยดี สิ่งที่เราจะต้องค้นหาต่อไปคือก่อน 17.23 น. ได้มีการโทรแจ้งมาที่สายด่วน 1669 หรือไม่ และหากแจ้งแล้วเกิดอะไรขึ้นในระหว่างนั้นเพื่อที่เราจะได้ทราบข้อเท็จจริงและนำกลับมาพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้นต่อไป " รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าว สำหรับ 9 ขั้นตอนที่ประชาชนต้องรู้ก่อนโทรแจ้งสายด่วน 1669 มีดังนี้ 1. เมื่อพบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินให้ตั้งสติและโทรแจ้งสายด่วน 1669 2.ให้ข้อมูลว่าเกิดเหตุอะไรมีผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บในลักษณะใด 3. บอกสถานที่เกิดเหตุเส้นทางจุดเกิดเหตุให้ชัดเจน 4. บอกเพศ ช่วงอายุ อาการจำนวนผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ 5. บอกระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วย 6. บอกความเสี่ยงที่อาจเกิดซ้ำ เช่นอยู่กลางถนนหรือรถติดแก็ส 7. บอกชื่อผู้แจ้งเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ 8. ช่วยเหลือเบื้องต้นตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ 9. รอทีมกู้ชีพมารับผู้ป่วยเพื่อนำส่งโรงพยาบาล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ