เส้นทางการเรียน Gen Z ของจริง ไม่ทำงานประจำ!?! อยากทำธุรกิจทันที?!?

ข่าวทั่วไป Wednesday March 1, 2017 13:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ จากกระแสสังคมและไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ที่หันมาให้ความสำคัญกับการมีธุรกิจเป็นของตนเองจำนวนมาก ทั้งการเริ่มต้นธุรกิจได้ตั้งแต่อายุยังน้อย หรือการสานต่อธุรกิจของครอบครัว ด้วยการขยายกลุ่มสินค้า-บริการทางเลือกใหม่ในรูปแบบที่ต่างออกไปจากผู้ใหญ่ในยุคบุกเบิก ดั่งเช่น "ภูดิศ เลิศศันสนะ" ทายาทธุรกิจร้านขนม "น้อย เบเกอร์รี่" ย่านพระราม 2 ที่มุ่งสานต่อธุรกิจครอบครัว ด้วยการอาศัยความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารที่ทันสมัย มาประยุกต์ใช้ร่วมกับความรู้ด้านบริหารจัดการ ด้วยมองเห็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขนมมีรูปแบบและความหลากหลาย ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น จึงได้เลือกศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ที่จะช่วยสามารถต่อยอดทางความคิดโดยอิงความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ สู่การพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมใหม่ได้อย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งสานต่อธุรกิจของครอบครัวได้อย่างชาญฉลาด นายภูดิศ เลิศศันสนะ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ (iSC) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. เล่าว่า ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วเมื่อตอนที่ต้องเลือกศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยนั้น ส่วนตัวแล้วไม่ได้ประสบปัญหาในการเลือกคณะมากนั้น เนื่องจากมีเป้าหมายแน่วแน่ที่ต้องการศึกษาต่อในสาขาที่สามารถประยุกต์ใช้กับธุรกิจที่บ้านได้ ซึ่งเป็นธุรกิจร้านขนม "น้อย เบเกอร์รี่" ที่ก่อตั้งขึ้นเป็นเวลากว่า 37 ปี นับตั้งแต่ยุคที่เบเกอร์รี่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก และตนต้องการที่จะสืบทอด และพัฒนาธุรกิจให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคปัจจุบันมากขึ้น โดยจากที่สังเกตพฤติกรรมผู้บริโภคจากลูกค้าของร้านนั้นพบว่า ผู้บริโภคยุคปัจจุบันต้องการขนมที่ทานง่าย พกพาสะดวก แต่แฝงคุณประโยชน์ครบครัน ยกตัวอย่างเช่น ขนมทานแล้วขับถ่ายสะดวก หรือทานแล้วไม่อ้วน เป็นต้น ดังนั้นในช่วงแอดมิชชั่น ตนจึงได้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้ จนพบกับโครงการปริญญาตรีภาคพิเศษ สาขาวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ (iSC) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีสาขาเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์อาหารและเทคโนโลยี นายภูดิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อได้เข้ามาศึกษาในโครงการดังกล่าว พบว่าการเรียนการสอนจะแบ่งเนื้อหาสาระออกเป็น 2 ด้านสำคัญ คือ 1) ด้านวิทยาศาสตร์ ที่มีความเข้มข้นของเนื้อหาในภาคทฤษฎี ครอบคลุมด้านเคมี ฟิสิกส์ และชีววิทยา ควบคู่ไปกับการเน้นหนักในภาคปฏิบัติ ผ่านการทดลองใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ในแง่มุมต่างๆ โดยเน้นหลักไปที่การทดลองที่สามารถนำไปต่อยอดในเชิงธุรกิจได้ เช่น การตรวจหาสารเคมีในสิ่งแวดล้อมหรือในผลิตภัณฑ์ต่างๆ และการทดลองผสมจุลินทรีย์ลงในผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อยืดอายุหรือเพิ่มคุณค่าทางอาหาร เป็นต้น 2) ด้านบริหารจัดการทางพาณิชยศาสตร์ ที่เน้นสอนการประยุกต์ใช้ความรู้วิทยาศาสตร์สู่การต่อยอดธุรกิจ วางแผนธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค และการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับเงินทุน โดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาต่างๆ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. รวมไปถึงอาจารย์พิเศษจากหน่วยงานภายนอกอย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด และ บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ที่มาร่วมสอนและแชร์ประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย พร้อมทั้งยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้าชมกระบวนการทำงานจริงของบริษัท จากระยะเวลา 2 ปีที่ได้เรียนมานั้น ส่วนตัวแล้วมีความประทับใจในรายวิชาในด้านวิทยาศาสตร์อย่าง วิชาปฏิบัติการเคมี และชีววิทยาทั่วไป เพราะเป็นเนื้อหาที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้การพัฒนาธุรกิจเบเกอร์รี่ของครอบครัว และจุดประกายแนวความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้ โดยจุดที่ทำให้ประทับใจ คือ ได้รู้จักคุณสมบัติของสารเคมีและจุลินทรีย์แต่ละชนิด ว่ามีประโยชน์หรือโทษอย่างไร อีกทั้งยังได้ทดลองใช้จุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการยืดอายุอาหารโดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น เป็นต้น ขณะที่รายวิชาธุรกิจเบื้องต้น ในด้านการบริหารจัดการนั้น ตนประทับใจในกิจกรรมเวิร์คช็อปการวางแผนพัฒนาธุรกิจ เพราะทำให้เข้าใจการวางแผนสำหรับการบริหารจัดการธุรกิจ และสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุด ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ต้องการผลิตขนมในรูปแบบใหม่ เพื่อขยายกลุ่มผู้บริโภค อาจจะต้องทำการสำรวจตลาดเป้าหมายให้แน่ชัดก่อนว่า ผู้บริโภคชื่นชอบขนมในรูปแบบใด โดยอาจจะทำเป็นขนมชิ้นเล็กๆ ให้ชิมก่อนหน้าร้าน เพื่อเป็นทดสอบตลาด ควบคู่ไปกับลดการสิ้นเปลืองเงินทุนที่เกินความจำเป็น เป็นต้น ทั้งนี้ ภายหลังจากศึกษาจบในระดับปริญญาตรี ตั้งใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ในสาขาการตลาด ที่ประเทศอังกฤษ เพื่อเติมเต็มความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร รวมทั้งด้านบริหาร ให้พร้อมกลับมาต่อยอดธุรกิจโรงงานเบเกอร์รี่ของครอบครัวเป็นลำดับต่อไป นายภูดิศ กล่าวทิ้งท้าย
แท็ก ครอบครัว   ขนม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ