SPU : การแพทย์แผนไทย ยุคประเทศไทย 4.0

ข่าวทั่วไป Thursday March 16, 2017 16:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--มหาวิทยาลัยศรีปทุม การแพทย์แผนไทย ยุคประเทศไทย 4.0 อาจารย์ศุภรัตน์ ศิริวานนท์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยศรีปทุม การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม"Value–Based Economy และเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม เป็นเป้าหมายหลักของนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อให้ประเทศชาติ ประชาชนมีความ " มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" โดยเน้นด้านการบริการ ด้วยการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมด้านต่างๆ ดังนี้ 1. ด้านอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ ด้วยต้นทุนประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรท้องถิ่น พัฒนาผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นให้ทันสมัยเกิดมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ เน้นการสร้างเส้นทางธุรกิจใหม่ (New Startups) 2. ด้านสาธารณสุข และเทคโนโลยีทางการแพทย์ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภูมิปัญญาทางด้านสุขภาพ และสมุนไพรไทยที่มีความหลากหลาย ด้วยเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ลดการพึ่งพิงการนำเข้ายาจากต่างประเทศ เพิ่มศักยภาพผลิตภัณฑ์ยาจากสมุนไพร 3. ด้านเครื่องมือ อุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม พัฒนาแรงงานให้มีความเชี่ยวชาญ และทักษะสูงขึ้นเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ 4. ด้านดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกล รวมทั้งเทคโนโลยีด้านการเงิน อุปกรณ์เชื่อมต่อออนไลน์โดยไม่ต้องใช้คน เทคโนโลยีการศึกษา อี–มาร์เก็ตเพลส อี–คอมเมิร์ซ 5. ด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง เทคโนโลยีการออกแบบ ธุรกิจไลฟ์สไตล์ เทคโนโลยีการท่องเที่ยว การเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ เป็นต้น โลกปัจจุบันที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์มีความเจริญมากขึ้น ส่งผลให้คนไทยมีอายุคาดเฉลี่ยสูงขึ้น โดยปี พ.ศ.2557 โดยมีอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด เพศชายอยู่ที่ 71.3 ปี เพศหญิง 78.2 ในปี พ.ศ. 2553 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากในปีดังกล่าว ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 11.9 ซึ่งปัญหาสำคัญในประชากรสูงอายุไทย คือการเกิดภาวะทุพพลภาพ โดยที่อัตราผู้สูงอายุทุก 1 ใน 4 คนจะมีภาวะทุพพลภาพ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดเชื้อเรื้อรัง "ภาวะทุพพลภาพ" องค์การอนามัยโลก (WHO, 1980) ให้ความหมายไว้ คือ ความจำกัด หรือการสูญเสียความสามารถในการประกอบกิจกรรมที่ควรจะกระทำได้เป็นปกติ อันเป็นผลเนื่องมาจากภาวะบกพร่อง เช่น แขนขาอ่อนแรงเป็นอุปสรรคในการประกอบกิจวัตรประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร สวมใส่เสื้อผ้า อาบน้ำ เข้าห้องสุขา หรือการสูญเสียอวัยวะ สูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะ หรือร่างกาย รวมถึงสูญเสียสภาวะปกติของจิตใจจนไม่สามารถทำงานได้ ทำให้เกิดภาวะด้อยโอกาส หรือหย่อนกำลังความสามารถที่จะประกอบการงานตามปกติได้ และด้วยสภาพร่างกายของผู้สูงอายุที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ อวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำงานถดถอยเกิดความเสื่อมโทรม ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการทุพพลภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นภาระที่ทำให้รัฐต้องทุ่มงบประมาณ และทรัพยากรต่างๆ ในการดูแลประชากรกลุ่มนี้ในอัตราที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมอันนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดเชื้อเรื้องรังให้เพิ่มสูงขึ้น เช่น พฤติกรรมการบริโภคอาหารไม่ถูกหลัก อาหารรสหวาน เค็ม ไขมันสูง อาหารสำเร็จรูป รวมถึงการเคลื่อนไหวออกกำลังกายไม่เพียงพอ การสูบบุหรื่ การดื่มแอลกอฮอล์ สภาพการแข่งขันในสังคมที่สูงขึ้น ชีวิตประจำวันที่เร่งรีบก่อให้เกิดความเครียด ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคไม่ติดเชื้อเรื้องรัง โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ซึ่งประชากรกลุ่มนี้ยังอยู่ในวัยทำงาน ปัจจุบันประเทศไทยมีภาระจากกลุ่มโรคไม่ติดเชื้อเรื้อรัง(NCDs) ในสัดส่วนที่สูงกว่านานาชาติ โดยมีอัตราการเสียชีวิตถึง 300,000 กว่ารายในปี พ.ศ. 2552 คิดเป็นร้อยละ 73 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีสถิติการเสียชีวิตและผลกระทบจากกลุ่มโรคไม่ติดเชื้อเรื้อรัง(NCDs)มากที่สุด การเสียชีวิตของประชากรไทยประมาณ ร้อยละ 71เกิดจากโรคไม่ติดเชื้อเรื้อรัง และประมาณร้อยละ 29 ของการเสียชีวิตเกิดในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 60 ปี มีสัดส่วนการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ร้อยละ 27 โรคมะเร็งร้อยละ 12 โรคระบบทางเดินหายใจ ร้อยละ 7 และโรคเบาหวาน ร้อยละ 6 ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และระดับประเทศ ในปัจจุบันประเทศไทยต้องพึ่งพิงยาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะมูลค่าการนำเข้ายาในกลุ่มโรคไม่ติดเชื้อเรื้องรัง สูงถึงร้อยละ 70 ของมูลค่าตลาดยาในประเทศ หรือมีมูลค่าถึง 70,059.33 ล้านบาท ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก ตระหนักในปัญหาการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของโรคไม่ติดเชื้อเรื้อรัง จึงจัดทำยุทธศาสตร์เผยแพร่ไปทั่วโลก ยุทธศาสตร์ดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงการแพทย์สมัยใหม่(Modern Medicine /Conventional Medicine) ไม่สามารถแก้ปัญหาด้านสุขภาพประชากรโลกได้โดยเบ็ดเสร็จ ดังนั้นจึงส่งเสริมให้บูรณาการการแพทย์พื้นบ้าน(Traditional medicine) การแพทย์สนับสนุน (Complementary medicine) และ การแพทย์ทางเลือก (Alternative Medicine) ที่เป็นรากเหง้าสืบทอดกันในแต่ละท้องถิ่น มีความเหมาะสมกับวัฒนธรรม ประเพณีในลักษณะการแพทย์แบบผสมผสาน (Integrative Medicine) ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาสุขภาวะของประชากรโลกได้อย่างแท้จริง เป็นการสนับสนุนแนวคิดการแพทย์แบบองค์รวม(Holistic Medicine) การบูรณาการภูมิปัญญาด้านสุขภาพโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางในการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง ระบบการแพทย์ในอนาคตจึงเป็นการแพทย์พหุลักษณ์ ซึ่งเป็นการดูแลสุขภาพแบบผสมผสาน เชื่อมโยงในทุกมิติ ทั้งทางร่างกาย จิตวิญญาณ สังคม ครอบครัว รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่เข้ามากระทบอย่างครอบคลุม ให้ความสำคัญกับการควบคุมปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วย เน้นการป้องกัน มากกว่าการรักษา โดยการประยุกต์ใช้ร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบันในการส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟูสุขภาพ ส่งเสริมให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพได้ด้วยตนเอง ตามหลักปรัชญาด้านภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ซึ่งเชื่อว่าร่างกายคนเราประกอบด้วยธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ องค์ประกอบเหล่านี้ต่างเชื่อมโยงสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล ดังนั้นการเกิดวิปริตแปรปรวน หรือเสียสมดุลของธาตุทั้งสี่ จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเจ็บป่วย โดยปัจจัยที่มีอิทธิพลส่งผลกระทบให้เกิดการเจ็บป่วยตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย ดังนี้ 1. อุตุสมุฎฐาน ฤดูกาลต่างๆ ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปทั้ง ฤดูร้อน ฝน หนาว 2. อายุสมุฎฐาน ปัจจัยแต่ละช่วงอายุ ทั้งปฐมวัย(1-16) มัจฉิมวัย(16-32) ปัจฉิมวัย(>32 ) 3. กาลสมุฎฐาน อาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นตามช่วงเวลา 06.00-10.00, 10.00-14.00, 14.00-18.00 4. ประเทศสมุฎฐาน สภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัว รวมถึงที่อยู่อาศัย 5. พฤติกรรมก่อโรค อริยบท การทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน วิถีชีวิต การบริโภคอาหาร ด้วยปรัชญา องค์ความรู้ และวิถีการปฏิบัติ เพื่อการดูแลสุขภาพ และการบำบัดรักษาความเจ็บป่วยของประชาชนไทยแบบดั้งเดิม มีความสอดคล้องกับขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมและวิถีชีวิต ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมในแต่ละท้องถิ่น รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมแตกต่างกันทำให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นที่มีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนานตามนัยแห่งพระพุทธศาสนา รวมถึงพิธีกรรมเพื่อดูแลรักษาสุขภาพจิต สุขภาพกาย การดูแลมารดาและทารกตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนถึงคลอด ด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิมตามหลักการของธรรมชาติบำบัด การใช้สมุนไพรในท้องถิ่นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน เพื่อเป็นการสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ทดแทนการนำเข้ายาจากต่างประเทศ เสริมสร้างเศรษฐกิจของชาติด้วยการเพิ่มรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ทำให้ประเทศมีความมั่นคงทางยา จะเห็นว่าองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยเป็นการแพทย์แบบองค์รวม ให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลของร่างกาย ป้องกันการเจ็บป่วยก่อนที่จะเกิดขึ้น กรณีที่เกิดเจ็บป่วย เน้นการรักษาและฟื้นฟูด้วยวิธีธรรมชาติ ซึ่งสามารถป้องกันการเกิดโรคไม่ติดเชื้อเรื้อรังได้อย่างมีประสิทธิภาพ แตกต่างจากการแพทย์แผนปัจจุบันที่มุ่งเน้นการรักษา แยกส่วนของร่างกาย กับการเจ็บป่วย ดังนั้นการบูรณาการภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยเข้าไปในระบบสุขภาพของประเทศ โดยเฉพาะระบบบริการสุขภาพ ระดับปฐมภูมิช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง สร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพให้กับท้องถิ่น ประชาชนสามารถพึ่งตนเองและช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนด้วยวิถีชุมชนซึ่งเป็นการบริการที่มีต้นทุนต่ำ จำเป็นต้องพัฒนาการบริการให้ทันสมัยด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภูมิปัญญาซึ่งสืบทอดกันมาอย่างยาวนานจากอดีต และการเพิ่มความเชื่อมั่นต่อประสิทธิภาพการรักษาด้วยองค์ความรู้แพทย์แผนไทย จำเป็นต้องศึกษาวิจัย ตามหลักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ด้วยความเข้าใจในหลักการพื้นฐานองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย เพื่อให้สามารถเชื่อโยง ประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้รับบริการ ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการสาธารณสุขไทยได้ฝังรากลึกในโครงสร้างสังคมและ วัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้ง และมีความสำคัญโดยตรงกับ สุขภาพของคนไทย อย่างไม่สามารถปฏิเสธได้ ทั้งในยามปกติสุข และยามวิกฤต ซึ่งภูมิปัญญาการแพทย์สมัยใหม่ไม่สามารถรองรับปัญหาเหล่านี้ได้ การละทิ้งภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยในอดีตที่ผ่านมาถือว่าเป็นการสูญเสียประโยชน์ของสังคมไทย ที่จะได้รับประโยชน์จากประสบการณ์ของบรรพบุรุษในการดูแลสุขภาพของคนไทยมาช้านาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงความเป็นชาติไทยมาจนถึงทุกวันนี้ เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมสุขภาพดีถ้วนทั่วหน้าอย่างแท้จริง ไม่พึ่งพิงรัฐเป็นหลักเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งประเทศกำลังเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพซึ่งถือเป็นปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต ปัญหาความคับคั่งในการเข้ารับบริการด้านสุขภาพ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต่อครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐิจ และสังคมโดยรวมของประเทศ ที่เห็นได้ชัดเจนคือ อัตราผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังไม่ติดเชื้อ สาเหตุสำคัญล้วนมาจากพฤติกรรมที่ก่อโรค เช่นวิถีชีวิตที่เร่งรีบ มีการเคลื่อนไหวน้อยลง ขาดการออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร การพักผ่อน ความเครียด สิ่งแวดล้อม ปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โรคเหล่านี้สามารถป้องกันได้ด้วยตัวเองโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการเจ็บป่วย การที่ประชาชนมีความมั่นคงเข้มแข็ง และสามารถพึ่งพาตนเองในด้านสุขภาพได้ช่วยลดงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของรัฐ มีแนวทางดังนี้ 1.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นให้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายด้านสาธารณะในประเด็นที่เกี่ยวข้อง 2.ส่งเสริมและผลักดันให้นำภุมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพมาใช้ในระบบสุขภาพโดยเฉพาะการดูแลตนเองให้เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง จริงจัง 3. ผลักดันให้มีโครงการและแผนงาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ศรัทธาให้กับประชาชนในการนำสมุนไพรไทยมาใช้ในการดูแล รักษา ในระบบสุขภาพอย่างจริงจังและต่อเนื่อง 4. ผลักดันให้มีกฏหมายคุ้มครองผู้บริโภคด้านโภชนาการที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง รวมทั้งการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง 5. ส่งเสริมการดูแลสวัสดิการ รวมทั้งสุขภาพในผู้สูงอายุ เอกสารอ้างอิง 1.รายงานการสาธารณสุขไทย ด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก พ.ศ. ๒๕๕๔ – ๒๕๕๖, สำนักข้อมูลและประเมินผล กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข 2.รายงานสถานการณ์การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านไทย และการแพทย์ทางเลือก ประจำปี พ.ศ. 2548 -2550 3.แผนยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2555 – 2559), คณะอนุกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท พ.ศ. พ.ศ.2555 – 2559คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. 2555 4. ไขรหัส "ประเทศไทย 4.0" สร้างเศรษฐกิจใหม่ ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 2 พ.ค. 2559 05:01 อ่านข่าวต่อได้ที่: http://www.thairath.co.th/content/613903 (22 กุมภาพันธ์ 2560)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ