ปภ.รายงานพื้นที่ภาคเหนือมีสถานการณ์หมอกควัน 2 จังหวัด พร้อมประสานทุกภาคส่วนเร่งแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างเต็มกำลัง

ข่าวทั่วไป Friday March 17, 2017 13:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานคุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือณ วันที่ 15 มีนาคม 2560 เวลา 05.00 น. มี 2 จังหวัด ปริมาณฝุ่นละอองในอากาศเกินค่ามาตรฐานและส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ทั้งนี้ ปภ. ได้ประสาน 9 จังหวัดภาคเหนือดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหา ไฟป่าและหมอกควันอย่างเข้มข้น โดยใช้กลไก "ประชารัฐ" พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศ และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด คุมเข้มมิให้มีการเผาในพื้นที่เสี่ยง ควบคู่กับการจัดทำข้อตกลงของชุมชนประกาศเขตห้ามเผาเป็นระยะเวลา 60 วัน ตามสภาพความเสี่ยงภัยของพื้นที่ รวมถึงระดมวัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือฉีดพ่นละอองน้ำเพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ เพื่อลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์หมอกควันมิให้วิกฤตมากขึ้น นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการประสานข้อมูลคุณภาพอากาศกับกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 เวลา 05.00 น. พบว่า พื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ พะเยา และตาก ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 48 – 166 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) มีค่าระหว่าง 55 – 120 ซึ่งคุณภาพอากาศในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลางถึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยจังหวัดลำปาง ในพื้นที่ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ มีคุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่า 166 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) มีค่า 120 ส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในพื้นที่ตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่า 149 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) มีค่า 113 ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประสาน 9 จังหวัดภาคเหนือดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างเข้มข้น โดยใช้กลไก "ประชารัฐ" ขับเคลื่อนการทำงานในมิติเชิงพื้นที่ กำหนดมาตรการป้องกันให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาในพื้นที่ พร้อมจัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และอำเภอ จัดเจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศ และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดรวมถึงจัดชุดลาดตระเวนเฝ้าระวังและระงับเหตุไฟป่า พร้อมระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครภาคประชาชนจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงคุมเข้มไม่ให้มีการเผาในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่เกษตรกรรม ชุมชน หมู่บ้าน และพื้นที่ริมทาง และรณรงค์ให้เกษตรกรใช้วิธีไถกลบเศษวัสดุทางการเกษตรแทนการเผา หรือใช้สารอินทรีย์ย่อยสลายตอซัง ควบคู่กับการจัดทำข้อตกลงของชุมชนประกาศเขตห้ามเผาเป็นระยะเวลา 60 วัน ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในพื้นที่ รวมถึงระดมวัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อเพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝุ่นละอองหมอกควันในอากาศ อีกทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสายหมู่บ้าน รถกระจายเสียง วิทยุ และโทรทัศน์ชุมชนถึงผลกระทบจากปัญหาไฟป่าหมอกควัน ตลอดจนแจกจ่ายหน้ากากอนามัยและให้คำแนะนำการปฏิบัติตนในช่วงเกิดสถานการณ์หมอกควัน ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันสามารถติดต่อได้ที่สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานแก้ไขปัญหาโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ