ก.เกษตรฯ จับมือสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย หนุนสร้างเครือข่ายชาวนาพัฒนาข้าวคุณภาพดี และต่อยอดการผลิตข้าวอินทรีย์ป้อนตลาด

ข่าวทั่วไป Wednesday March 29, 2017 21:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วันนี้ (23 มี.ค.60) เวลา 13.30 น. พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดงานโครงการชาวนาไทยร่วมใจพัฒนาข้าวสู่ตลาดโลกปี 2560 ณ ที่ทำการสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย จังหวัดขอนแก่น โดยมีนายพงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และนายสุเทพ คงมากนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยให้การต้อนรับ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ให้เกียรติมอบรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวดเรื่องข้าวอินทรีย์ 3 รางวัล จากนั้นได้เยี่ยมชมบูธข้าวอินทรีย์ของเกษตรกรแต่ละจังหวัด บูธข้าวชาวนาของแต่ละจังหวัดที่ได้รับรางวัลเกษตรอินทรีย์ดีเด่น นิทรรศการของหน่วยงานเกษตรในจังหวัดขอนแก่น และร้านค้าสินค้าเกษตรภายในงาน พลเอกฉัตรชัย เปิดเผยว่า การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีเป้าหมายสูงสุด คือ การทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีรายได้ที่มั่นคง และพึ่งพาตนเองได้ตามหลักการพัฒนาประเทศสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 ซึ่งหมายถึงการผลิตที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงเน้นคุณภาพและนวัตกรรม เพื่อให้สินค้าสามารถแข่งขันได้ทั้งในเชิงราคาและคุณภาพตามมาตรฐานต่าง ๆ ตั้งแต่มาตรฐาน GAPกระทั่งมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะสินค้าข้าวซึ่งข้าวหอมมะลิได้ชื่อว่าเป็นข้าวที่ดีที่สุดของโลก การผลิตข้าวหอมมะลิตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ที่หลีกเลี่ยงการใช้ปัจจัยการผลิตจากการสังเคราะห์ ไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ และไม่ใช้พืชที่มีการดัดแปรพันธุกรรม (GMOs) มีการจัดการผลผลิตและแปรรูป เพื่อรักษาสภาพและคุณภาพเกษตรอินทรีย์ ในทุกขั้นตอนจะยิ่งเสริมคุณภาพของข้าวหอมมะลิให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี การปรับเปลี่ยนเป็นผู้ผลิตในรูปแบบอินทรีย์นั้น ใช่ว่าจะสามารถกระทำได้ทันทีทันใด แต่ต้องอาศัยกระบวนการฟื้นฟูที่ดิน การเรียนรู้และปรับตัวสู่วิธีการผลิตแบบใหม่ การจัดหาแหล่งแปรรูปที่ยังคงรักษาความเป็นอินทรีย์ การรักษาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าในระยะยาว การตรวจรับรองคุณภาพสินค้า การสร้างแบรนด์ ให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปสู่ผู้ผลิต และการเชื่อมโยงสู่ตลาด ซึ่งทั้งหมดเป็นการพัฒนาสินค้าและสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรได้ ดังนั้น การเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตแบบอินทรีย์จากกลุ่มเกษตรกรที่มีประสบการณ์ด้านอินทรีย์สู่ผู้ผลิตอินทรีย์รายใหม่ จะเป็นส่วนสำคัญในการขยายการผลิต และการตลาดสินค้าอินทรีย์ได้ นอกจากนี้ จะเป็นการสร้างเกษตรกรสมัยใหม่ หรือ smart farmers ที่มีความรอบรู้ ไม่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรแบบดั้งเดิมเท่านั้น แต่รู้ลึกถึงกระบวนการผลิตอินทรีย์ที่ซับซ้อน อีกทั้งรู้กว้างเกี่ยวกับตลาดโลก และบทบาทใหม่ในการเป็นผู้ขายข้าวด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ