ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2560

ข่าวทั่วไป Friday April 28, 2017 11:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า "ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559 – มีนาคม 2560) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,041,990 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 9,305 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.9 มีสาเหตุจากการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น และการนำส่งรายได้ของกรมสรรพสามิต สูงกว่าประมาณการ 25,268 และ 4,026 ล้านบาท หรือร้อยละ 37.8 และ 1.5 ตามลำดับ สำหรับภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย ได้แก่ ภาษีน้ำมันฯ ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเบียร์" นายกฤษฎาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า "การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณที่ผ่านมายังเป็นไปตามกรอบที่กระทรวงการคลังวางไว้ นอกจากนี้ การขยายตัวของมูลค่านำเข้า โดยเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง เป็นสัญญาณที่ดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลดีสำหรับการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2560 ให้เป็นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้" ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2560(ตุลาคม 2559 – มีนาคม 2560) และเดือนมีนาคม 2560 เดือนมีนาคม 2560 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 163,411 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 7,189 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 11.8) ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559 – มีนาคม 2560) รายได้รัฐบาลสุทธิมีจำนวน 1,041,990 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 9,305 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.9 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.4) 1. ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559 – มีนาคม 2560) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,041,990 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 9,305 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.9 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.4) โดยเป็นการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นและการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตที่สูงกว่าประมาณการ อย่างไรก็ดี เนื่องจากในช่วงเดียวกันปีที่แล้วมีรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม (3G และ 4G) ทำให้ผลการจัดเก็บรายได้ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้ 1.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 744,712 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 13,251 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.7 แต่ยังสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 21,125 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.9 โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ - ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 13,740 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.6 แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.8 เนื่องจากในช่วงก่อนหน้า ภาคการผลิตเสื้อผ้าได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางขยายตัวได้ดี ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าขยายตัวจากระยะเวลาเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.9 และสูงกว่าประมาณการร้อยละ 2.2 - ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ 1,894 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,606 ล้านบาท หรือร้อยละ 70.9 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 63.1) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการที่มีรอบระยะเวลาบัญชีปีงบประมาณ (ซึ่งต้องชำระภาษีในเดือนกุมภาพันธ์ 2560) ได้โอนสัมปทานหลุมขุดเจาะให้บริษัทในเครือ ทำให้การชำระภาษีลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนผู้รับโอนสัมปทานมีรอบระยะเวลาบัญชีปีปฏิทิน ซึ่งจะชำระภาษีในเดือนพฤษภาคม 2560 - อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 8,139 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.3) เป็นผลจากภาษีจากค่าบริการและจำหน่ายกำไร (ภ.ง.ด. 54) ภาษีกำไรสุทธิ (ภ.ง.ด. 50) และภาษีหัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชน (ภ.ง.ด. 53) ที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 1.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 279,263 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,026ล้านบาท หรือร้อยละ 1.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.5) โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย ได้แก่ภาษีน้ำมันฯ จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 9,036 หรือร้อยละ 9.3 เนื่องจากการจัดเก็บภาษีน้ำมันเบนซินที่สูงกว่าประมาณการ รวมทั้งมีการจัดเก็บภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น และน้ำมันหล่อลื่น และภาษีเบียร์ จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 4,712 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.2 1.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 52,565 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,335 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.7 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.5) โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 9,204 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.4 เนื่องจากการใช้สิทธิพิเศษภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA)มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากร ระยะที่ 2 ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ขยายตัวร้อยละ 8.7 และร้อยละ 7.0 ตามลำดับ 1.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 69,788 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,095 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.2) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำส่งรายได้ที่ค้างนำส่งจากปีก่อนหน้า โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 5 อันดับแรก ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โรงงานยาสูบ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) 1.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 92,191 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 25,268 ล้านบาท หรือร้อยละ 37.8 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 40.8) สาเหตุสำคัญมาจากการรับรู้ส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตร (Premium) เป็นรายได้แผ่นดิน การนำส่งเงินสภาพคล่องส่วนเกินของกองทุนหมุนเวียน และการนำส่งเงินเหลือจ่ายประจำปี 2559 ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 4,731 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 450 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 19.5) โดยรายได้จากที่ราชพัสดุ และจากการจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 1.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 150,564 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,369 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.9 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 105,136 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 17,164 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.0 และการคืนภาษีอื่น ๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 45,428 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 18,533 ล้านบาท หรือร้อยละ 68.9 1.7 อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 5,069 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 111 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.1 1.8 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 7,591 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 928 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.9 1.9 เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 7,654 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 423 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.2 1.10 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ. กำหนดแผน และขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 3 งวด เป็นเงิน 25,651 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 591 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.4 2. เดือนมีนาคม 2560รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 163,411 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 7,189 ล้านบาทหรือร้อยละ 4.2 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 11.8) เป็นผลจากรัฐวิสาหกิจบางแห่งมีการเหลื่อมการนำส่งรายได้ในเดือนเมษายน 2560 จากที่ประมาณการไว้ว่าจะนำส่งในเดือนมีนาคม 2560 สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3573

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ