ฝนหลวงฯ จัดเวทีร่วมเสวนาการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการในพื้นที่ภาคใต้

ข่าวทั่วไป Tuesday May 2, 2017 16:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดเวทีเสวนา เพื่อหาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการในพื้นที่ภาคใต้ กับ หน่วยงานร่วมบูรณาการในพื้นที่ภาคใต้จังหวัดสุราษฎร์ธานี อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 8 สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ และอาสาสมัครฝนหลวงภาคใต้ ระหว่างวันที่ 28-29 เมษายน 2560 ณ โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี สืบเนื่องจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรและอาสาสมัครฝนหลวงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในการสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงให้กับพื้นที่ปาล์มแปลงใหญ่ ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาชน ได้มีเวทีเพื่อช่วยกันระดมความคิด ในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งพื้นที่ภาคใต้ ถือได้ว่าเป็นแหล่งต้นน้ำที่มีความสำคัญ รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของลักษณะพื้นที่ ลักษณะอากาศ และระบบการเกษตร โดยเฉพาะระหว่างพื้นที่ตอนบนและตอนล่างของภาค กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในบรรยากาศ ได้มีความพยายามในการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวง ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการน้ำในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงเกิดความคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรและสังคมโดยรวมมากที่สุด อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรจากการขอรับบริการฝนหลวงและเติมน้ำในเขื่อนต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยจากการปฎิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม – 27 เมษายน 2560 มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 53 วัน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 96.7 ขึ้นปฏิบัติงานจำนวน 878 เที่ยวบิน (1285:45 ชั่วโมงบิน) ปริมาณการใช้สารฝนหลวง747.60 ตันพลุ ซิลเวอร์ไอโอไดด์สำหรับภารกิจปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 286 นัด และภารกิจปฏิบัติการยับยั้งความรุนแรงพายุลูกเห็บ จำนวน 848 นัด จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 54 จังหวัด และทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างสะสมรวม 152.508 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ประชาชนและเกษตรกรที่ต้องการขอรับบริการฝนหลวง สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคต่างๆ พร้อมติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง ได้ที่เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร หรือ เว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร นายสุรสีห์ กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ