ปภ.จัดประชุมการประเมินความต้องการหลังเกิดภัย ยกระดับการฟื้นฟูให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ข่าวทั่วไป Monday May 22, 2017 11:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "การจัดทำการประเมินความต้องการหลังเกิดสาธารณภัย (Post Disaster Need Assessment : PDNA) ของประเทศไทย" เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และพัฒนาขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการประเมินความต้องการหลังเกิดสาธารณภัย รวมถึงมีแนวทางในการพัฒนาระบบการประเมินความต้องการหลังเกิดสาธารณภัยแบบบูรณาการที่เหมาะสม นับเป็นแนวทางหนึ่งในการยกระดับการฟื้นฟูหลังเกิดสาธารณภัยและระบบการจัดการสาธารณภัยของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตามมาตรฐานสากล นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสาธารณภัยมีแนวโน้มเกิดบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากขึ้น สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน การประเมินความต้องการของผู้ประสบภัยหลังเกิดสาธารณภัย ซึ่งเป็นการประมาณการความเสียหายทางกายภาพและสาธารณูปโภคที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยขนาดใหญ่ ความสูญเสียด้านเศรษฐกิจ ชุมชนและอื่นๆ นับเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนากระบวนการฟื้นฟูหลังเกิดสาธารณภัยมีประสิทธิภาพมากขึ้น กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "การจัดทำการประเมินความต้องการหลังเกิดสาธารณภัย (Post Disaster Need Assessment : PDNA) ของประเทศไทย" ในวันที่ 22 – 25 พฤษภาคม 2560 ณ โรงแรม เอส.ดี.อเวนิว กรุงเทพมหานคร และวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีเจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้ประสานงานด้านการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยระดับกระทรวง/หน่วยงาน (DRR Focal Point) และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 60 คนเข้าร่วมประชุมฯ ในรูปแบบการบรรยายด้านการประเมินความต้องการหลังเกิดสาธารณภัยจากทีมงานองค์การสหประชาชาติ ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลก ผู้แทนจากสหภาพยุโรป และเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาคีเครือข่าย โดยเป็นการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ วิเคราะห์ข้อมูลความเสียหาย ความสูญเสีย และผลกระทบจากสาธารณภัยของประเทศไทย รวมถึงการแบ่งกลุ่มเพื่อระดมความคิดเห็น และการฝึกปฏิบัติตามแนวทางของ PDNA การประชุมฯ ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และพัฒนาขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการประเมินความต้องการหลังเกิดสาธารณภัยและผลกระทบความเสียหายและความสูญเสียที่สำคัญใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการผลิต ด้านสังคม ด้านสาธารณสุข และด้านการจัดการร่วมในระดับประเทศได้อย่างเต็มรูปแบบตามมาตรฐานสากล รวมถึงมีแนวทางในการพัฒนาระบบการประเมินความต้องการหลังเกิดสาธารณภัยแบบบูรณาการที่เหมาะสมในระดับชาติ ภูมิภาค จังหวัด และท้องถิ่น นำไปสู่การระดมทรัพยากร งบประมาณในการดำเนินงาน การประสานความร่วมมือ และการขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งการประเมินความต้องการหลังเกิดสาธารณภัย ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ภาครัฐ และภาคส่วนต่างๆ เข้าใจความต้องการของผู้ประสบภัยอย่างแท้จริง รวมถึงสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายในการสร้างคืนใหม่ให้ดีและปลอดภัยกว่าเดิม นำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์การฟื้นฟูระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว นับเป็นแนวทางหนึ่งในการยกระดับการฟื้นฟูหลังเกิดสาธารณภัยและระบบการจัดการสาธารณภัยของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน กรอบการดำเนินงานเซนได เพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (พ.ศ.2558 - 2573) ที่มุ่งเน้นการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยและการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน เพื่อลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากสาธารณภัย นำไปสู่การสร้างประเทศไทยให้รู้รับ ปรับตัว และฟื้นกลับจากภัยพิบัติอย่างรวดเร็วและยั่งยืน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ