วธ. หนุนเด็ก-เยาวชนไทย เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ช่วยบ่มเพาะความรัก-ภาคภูมิใจในชาติ ชี้ต้องใช้สื่อหลากหลาย-ทันสมัย เร่งพัฒนาระบบคิวอาร์โค้ด-เออาร์โค้ดในแหล่งเรียนรู้ วธ. ทั่วประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday May 22, 2017 11:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(รมว.วธ.) กล่าวในการเป็นประธานในพิธีเปิดงานและบรรยายพิเศษหัวข้อ "ความสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์" ในงานสัมมนาทางวิชาการ "ประวัติศาสตร์กรุงธนบุรีจากเอกสารของชาวต่างชาติ" โดยมีบุคลากรของกรมศิลปากร นักวิชาการและประชาชนเข้าร่วมประมาณ 100 คน เมื่อเร็วๆนี้ ว่า การศึกษาประวัติศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะทำให้เราได้เรียนรู้เหตุการณ์ความเป็นไปในอดีตของประเทศชาติและโลก จนเกิดการยอมรับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลกที่สำคัญช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจและการสืบทอดอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมประเพณี โบราณสถานและโบราณวัตถุของชาติไว้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายส่งเสริมให้เด็ก เยาวชนและประชาชนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชาติและโลกเนื่องจากเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความรักและภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยและชาติไทย นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์ ยังสอนให้คนเรารู้จักคิดวิเคราะห์เปรียบเทียบนำบทเรียนครั้งอดีตมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและประเทศ อย่างไรก็ตาม สื่อการศึกษาด้านประวัติศาสตร์จะต้องมีความหลากหลายและทันสมัย เพื่อช่วยจูงใจให้เด็กและเยาวชนมาเรียนรู้ อาทิ ภาพยนตร์ "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" พันท้ายนรสิงห์ บางระจัน และสื่อการ์ตูนแอนิเมชั่น เป็นต้น นายวีระ กล่าวด้วยว่า วธ. ได้ปรับปรุงแหล่งเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในสังกัดของ กรมศิลปากร ให้มีความทันสมัยและเอื้ออำนวยต่อการเข้าชม ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ และพื้นที่แหล่งโบราณสถานด้วยระบบ คิวอาร์โค้ด (QR Code) และเออาร์โค้ด( AR Code) ซึ่งใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ไอแพดและแท็บเล็ต ทำให้ผู้เข้าชมได้รับข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับประวัติและความสำคัญของโบราณสถาน โบราณวัตถุและศิลปวัตถุในเวลาอันรวดเร็ว ขณะนี้ได้เริ่มนำร่องในแหล่งเรียนรู้ บางแห่ง อาทิ แหล่งโบราณสถานเวียงกุมกาม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นต้น โดยตั้งเป้าหมายในอนาคตจะดำเนินการให้ครอบคลุมแหล่งเรียนรู้ของวธ.ทั่วประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ