สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 29 พ.ค.-2 มิ.ย. 60 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ แนวโน้ม 5-9 มิ.ย. 60 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 5, 2017 17:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--ปตท. สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปปรับลดลงทุกชนิด โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 2.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 2.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 2.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูป ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 1.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 64.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลลดลง 2.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 60.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ · Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่น (Rig) ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 มิ.ย. 60เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 11 แท่น มาอยู่ที่ 733 แท่น ระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 58 และเพิ่มขึ้นรายสัปดาห์ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 20 · Reuters เผยตัวเลขปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศ OPEC (รวม 13 ประเทศ) เดือน พ.ค. 60 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 250,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 32.22 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเป็นเดือนแรกที่ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2560 เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากลิเบียและไนจีเรียเพิ่มขึ้น หลังสถานการณ์ความวุ่นวายในประเทศเริ่มคลี่คลาย · บริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบียเผยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลิเบียกลับมาอยู่ที่ระดับ 827,000 บาร์เรลต่อวัน หลังจากเกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิคของแหล่งน้ำมันดิบ Sharara (กำลังการกลั่น 300,000 บาร์เรลต่อวัน) ส่งผลให้ปริมาณการผลิตลดลงต่ำกว่าระดับ 800,000 บาร์เรลต่อวัน ก่อนหน้านี้ · รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของอิรักรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบ ในเดือน พ.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.01 ล้านบาร์เรลต่อวัน เฉลี่ยอยู่ที่ 3.26 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยส่งออกจากท่าทางตอนใต้ ปริมาณ 3.24ล้านบาร์เรลต่อวัน และผ่านตุรกีทางตอนเหนือปริมาณ 22,000 บาร์เรลต่อวัน ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก · ประธานาธิบดีรัสเซีย นาย Vladimir Putin และผู้นำซาอุดีอาระเบียรองมกุฎราชกุมาร Mohammed Bin Salman (MBS) ได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ราคาน้ำมันในวันที่ 30 พ.ค. 60 ที่กรุงมอสโคว ประเทศรัสเซีย โดย MBS กล่าวความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและซาอุดีอาระเบียแน่นแฟ้นขึ้นและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อกันเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ผู้นำทั้งสองประเทศกล่าวจะร่วมมือกันสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงให้กับตลาดน้ำมัน โดยมีเป้าหมายให้ราคาน้ำมันมีเสถียรภาพและอยู่ในระดับที่เหมาะสม · Abu Dhabi National Oil Company (ADNOC) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แจ้งลูกค้าในเอเชียว่าจะลดปริมาณส่งมอบน้ำมันดิบทุกชนิด ตามสัญญาระยะยาว (Term) ในเดือน ก.ค. 60 · Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียในเดือน พ.ค. 60 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 10.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน สอดคล้องกับระดับที่รัสเซียตั้งเป้าหมายไว้ โดยลดลง 300,000 บาร์เรลต่อวัน จากระดับเดือน ต.ค. 59 · Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 26 พ.ค. 60 ลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 8 โดยลดลงจากสัปดาห์ก่อน 6.4 ล้านบาร์เรล อยู่ที่509.9 ล้านบาร์เรล · Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาด ICE ที่ลอนดอนและตลาด NYMEX ที่นิวยอร์ก สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 พ.ค. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนเพิ่มสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 17,555 สัญญา มาอยู่ที่ 239,049 สัญญา แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง โดยนักลงทุนกังวลต่อปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ อาจเพิ่มขึ้น หลังสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากความตกลงปารีสว่าด้วยปัญหาโลกร้อน หรือ "COP 21" โดย EIA รายงานสหรัฐฯ ผลิตน้ำมันดิบ สัปดาห์สิ้นสุด 26 พ.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 9.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่ ส.ค. 58 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกจากจำนวนแท่นขุดเจาะ (Rig) น้ำมันในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 20 ทำให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกอาจลดลงล่าช้ากว่าที่กลุ่ม OPEC และ Non-OPEC คาดการณ์ อีกทั้งอุปทานน้ำมันจากเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน ในอิรักอาจเพิ่มขึ้น โดยบริษัท Rosneft ของรัสเซีย เซ็นสัญญาร่วมพัฒนาแหล่งผลิตปิโตรเลียม 5 แห่ง และมีแผนขยายท่อขนส่งน้ำมันดิบ จากปัจจุบันที่ 700,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในปลายปี 60 นี้ เพื่อรองรับปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้Reuters ประเมินว่าเคอร์ดิสถานมีปริมาณสำรองน้ำมัน 45,000 ล้านบาร์เรล และอิรักผ่อนคลายท่าทีที่เคยต่อต้านเคอร์ดิสถานกรณีขายน้ำมันดิบเอง หลังจากนักรบชาวเคิร์ดร่วมมือกับรัฐบาลอิรัก ต่อต้านกลุ่มรัฐอิสลาม (Islamic State: IS) ให้จับตามองการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) วันที่ 13-14 มิ.ย. 60 ที่ FOMC อาจปรับเพิ่ม Fed Fund Rate ที่จะกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Fund Flow) ในสัปดาห์นี้คาดว่าน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 48.00-52.00 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบNYMEX WTI อยู่ในกรอบ 46.00-50.00 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวที่ 47.00-51.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินรายสัปดาห์ลดลงจากหน่วยงานศุลกากรของจีน (General Administration of Customs: GAC) รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซิน ในเดือน เม.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 8.9 % อยู่ที่7.7 ล้านบาร์เรล ประกอบกับ Platts คาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันเบนซินในเอเชียจะกลับมาล้นตลาดในเดือน มิ.ย. 60 เนื่องจากสิ้นสุดฤดูปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมัน ประกอบกับ Arbitrage จากภูมิภาคยุโรปมายังเอเชียจะเปิดจนถึงปลายเดือน มิ.ย. 60 ด้านปริมาณสำรอง Petroleum Association of Japan (PAJ) ของญี่ปุ่นรายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 พ.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.04 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 11.93 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ADNOC ออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน ปริมาณรวม 8.16 ล้านบาร์เรล ส่งมอบครึ่งหลังของปี 60 เนื่องจากโรงกลั่น Ruwais(กำลังการกลั่น 840,000 บาร์เรลต่อวัน) อยู่ระหว่างซ่อมแซมหลังจากเหตุเพลิงไหม้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และคาดว่าโรงกลั่นจะกลับมาดำเนินการได้ภายในปีนี้ อนึ่ง S&P Global Platts คาดการปิดโรงกลั่น Ruwais ของADNOC ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซิน ลดลง 2 ล้านบาร์เรลต่อเดือน ด้านปริมาณสำรองInternational Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 31 พ.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.72 ล้านบาร์เรล สู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือน ที่ 11.89 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์นี้คาดว่าน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60.00-64.00 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล ราคาเฉลี่ยน้ำมันน้ำมันดีเซลรายสัปดาห์ลดลงจาก Platts รายงานอุปสงค์น้ำมันดีเซลของจีน เดือน เม.ย. 60 ลดลงจากปีก่อน 0.4 % อยู่ที่ 2.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ Meteorological Department ของอินเดียรายงานพายุฝนกระหน่ำบริเวณชายฝั่ง Kerala ทางตะวันตกเฉียงใต้ นับเป็นการเริ่มฤดูมรสุมเร็วที่สุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ผู้ค้าคาดอาจทำให้การใช้น้ำมันดีเซลสำหรับภาคชลประทานลดลง อีกทั้ง WoodMackenzie เผยอัตราการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันดีเซลของอินเดียในปี พ.ศ. 2560 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 3% ต่อปี ซึ่งเป็นการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปีเมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2558 และ 2559 ที่เติบโตอยู่ที่ 5% ต่อปี ประกอบกับบริษัทน้ำมันแห่งชาติของคูเวต Kuwait National Petroleum Company (KNPC) มีแผนเริ่มเดินเครื่องโรงกลั่น Mina Abdullah (730,000 บาร์เรลต่อวัน) ในสัปดาห์นี้ หลังการซ่อมบำรุงแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตามIES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.10 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 13.28 ล้านบาร์เรล และ PAJ ของญี่ปุ่นรายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 พ.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.43 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 9.95 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์นี้คาดว่าน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 57.00-61.00 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ