สคร.10 อุบลฯ เตือน ระวังอันตรายจากเห็ดพิษ

ข่าวทั่วไป Tuesday June 20, 2017 16:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี เตือน ระวังอันตรายจากเห็ดพิษ หรือเห็ดเมา มีลักษณะใกล้เคียงเห็ดทานได้ พบผู้ป่วยแล้ว 287 ราย และคาดว่าจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มมากขึ้นในฤดูฝนนี้ นางศุภศรัย สง่าวงศ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.10) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องส่งผลให้มีเห็ดขึ้นตามธรรมชาติ มีทั้งเห็ดที่รับประทานได้ และเห็ดพิษหรือเห็ดเมา มีลักษณะใกล้เคียงกับเห็ดที่รับประทานได้ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดเก็บมารับประทานจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ข้อมูลจากกลุ่มระบาดวิทยา พบรายงานผู้ป่วยกินเห็ดพิษในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และมุกดาหาร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 มิถุนายน 2560 จำนวนทั้งสิ้น 287 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือกลุ่มอายุ 45 - 54 ปี พบผู้ป่วยมากที่สุดในช่วงเดือนพฤษภาคม มีผู้ป่วยมากถึง 194 ราย และคาดว่าจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มมากขึ้นในฤดูฝนนี้ นางศุภศรัย กล่าวอีกว่า เห็ดที่มีพิษรุนแรงที่สุดและเป็นเหตุให้เสียชีวิตบ่อยที่สุด คือ เห็ดระโงกหิน หรือ เห็ดไข่ตายซาก จะมีสารพิษ 2 ชนิดคือ อะมาท็อกซินส์ และฟาโลท็อกซินส์ ทำลายระบบทางเดินอาหาร ตับ ไต สมอง ระบบเลือด ระบบหายใจ ทำให้เสียชีวิตได้ใน 4-10 ชั่วโมง สารพิษในเห็ดจะทนความร้อนได้ดี ดังนั้นถึงแม้เห็ดจะสุกแล้ว แต่ความเป็นพิษก็ยังมีสูง อาการของผู้กินเห็ดพิษที่พบส่วนใหญ่จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการที่พบรองลงมาคือ ถ่ายเหลว ปวดท้อง อาการจะเกิดขึ้นหลังกินแล้วประมาณ 20 นาที ถึง 24 ชั่วโมง รายที่อาการรุนแรงจะเสียชีวิตได้ภายใน 1-8 วัน ขอเตือนประชาชนในการรับประทานเห็ดป่า ปัจจุบันการจำแนกเห็ดกินได้กับเห็ดพิษ ส่วนใหญ่ใช้ประสบการณ์ของผู้เก็บเห็ด ดังนั้นการเก็บเห็ดเพื่อนำมาบริโภค ต้องทราบถึงแหล่งที่มาว่าเก็บมาจากไหน ไม่ควรเก็บเห็ดที่ขึ้น ข้างถนน หรือใกล้โรงงานสารเคมี เพราะเห็ดจะดูดซับสารพิษไว้มาก และห้ามกินเห็ดดิบอย่างเด็ดขาด การแก้ไขเมื่อรับประทานเห็ดแล้วมีอาการผิดปกติให้รีบนำตัวมาพบแพทย์ และบรรเทาอาการก่อน ด้วยการดื่มน้ำให้มากแล้วล้วงคออาเจียนออกมาให้เร็วที่สุด จากนั้นให้รวบรวมเห็ดที่เหลือ รวมถึงอาหารจากการปรุงจากเห็ดที่รับประทานเข้าไป ใส่ถุงนำส่งตรวจหาสารพิษที่ชัดเจนต่อไป ส่วนการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับพิษหลังรับประทานเห็ดพิษนั้น ต้องทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่อยู่ในกระเพาะอาหารออกมาให้มากที่สุด เพื่อลดการแพร่กระจายพิษ โดยให้ผู้ป่วยดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือแกง 3 ช้อนชา แล้วล้วงคอเพื่อให้อาเจียนโดยเร็วที่สุด แต่วิธีนี้ห้ามใช้กับเด็กต่ำกว่า 5 ขวบ จากนั้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาล พร้อมกับตัวอย่างเห็ดพิษหากยังเหลืออยู่ไปให้แพทย์ดูด้วย ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 /นางศุภศรัย กล่าวปิดท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ