คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประชุมวิชาการ ด้านเทคโนโลยีอาคาร ปลุกจิตสำนึกสถาปนิก วิศวกร รุ่นใหม่สร้างอาคารประหยัดพลังงาน รักษ์สิ่งแวดล้อม

ข่าวทั่วไป Wednesday August 2, 2017 09:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือ Gross Domestic Product-GDP คือผลรวมสุดท้ายของสินค้าและบริการที่รัฐบาลเกือบทุกประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ได้ถือเป็นตัวชี้วัดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ภายใต้ค่า GDP ทีสูงขึ้น หลายประเทศกลับเผชิญวิกฤติปัญหาด้านพลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติ โดยสัมพันธ์กันอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น ก๊าซธรรมชาติ แร่ ผิวดิน ลดลง ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ นอกจากนี้ยังพบปัญหามลภาวะ ทำให้ประชากรในประเทศประสบภัยจากสารตกค้าง ทั้งในอาหาร อากาศ น้ำดื่ม เป็นเหตุให้ต้องรับการบำบัด รักษาอาการเจ็บป่วย เหล่านี้ล้วนเป็นบูมเมอแลงย้อนกลับสร้างความเสียหายต่อประชากรในประเทศอย่างประเมินค่าไม่ได้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จึงจัดโครงการประชุมวิชาการเทคโนโลยีอาคารด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม 2017 (4th Building Technology Alliance Conference on Energy and Environment 2017) โดยมี รศ.ดร.สมหมาย ปรีเปรม รองอธิการบดีฝ่ายการคลังและทรัพย์สินเป็นประธาน เพื่อสร้างสนับสนุนผลงานวิจัยด้านสถาปัตยกรรม เทคโนโลยีอาคาร พลังงานและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับอาคาร แลกเปลี่ยนความรู้ สร้างเครือข่าย ความคิดเห็นและประสบการณ์ทางด้านวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีอาคาร พลังงานและสิ่งแวดล้อม ปลูกฝังให้นักศึกษา นักวิจัย เกิดความตระหนักร่วมเกิดการทำงานภายใต้วิชาชีพที่มีจิตสำนึกร่วมต่อการประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมภายในประเทศร่วมกัน โดยจัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม 2560 ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.ชูพงษ์ ทองคำสมุทร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ปัญหาเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญร่วมกัน เพราะอาจหมายรวมถึงความมั่นคงของชาติหรือของโลก ฉะนั้นการประชุมวิชาการครั้งนี้จึงสำคัญมาก ที่จะช่วยผลักดันสถาบันเครือข่ายวิชาการที่เข้มแข็ง เพื่อปลูกจิตสำนึกให้นักศึกษา สถาปนิก วิศวกรรุ่นใหม่ ตระหนักถึงทำงานวิชาชีพภายใต้การคำนึกถึงพลังงานและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ "ปัจจุบันประเทศไทย ซื้อไฟจากลาว พม่า หากวันหนึ่งประเทศเหล่านี้หยุดส่งไฟไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด สิ่งที่เกิดขึ้นคืออุตสาหกรรมบ้านเรา การท่องเที่ยว การใช้พลังงาน เศรษฐกิจจะหยุดชะงักทั้งหมด อีกกรณีหนึ่ง คือการพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดมลพิษ คุณภาพชีวิตของคนในประเทศต่ำลง เมื่อคนป่วยล้นประเทศ แล้วจะหาเงินไปทำไม ฉะนั้นสองปัญหานี้เกิดความรุนแรงสูงมากในระดับความมั่นคงของชาติ แต่ทุกคนยังตระหนักถึงปัญหานี้น้อยมาก เราจึงต้องปลูกฝังค่านิยมการประหยัดพลังงาน ให้สถาปนิก และ สถาปัตยกรรม ทำงานสอดคล้องกับวิศวกรโยธา ประกอบร่างเป็นอาคารที่ดี เป็นพื้นฐาน ที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกอาคารต้องทำ" พระ ครูวิมลปัญญาคุณ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม ผู้นำเทคโนโลยีอาคารประหยัดพลังงาน กล่าวว่า เทคโนโลยีที่นำมาสร้างนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนทราบกันดีคือแผงโซล่าเซลล์ แต่น้อยคนที่จะลงมือทำได้สำเร็จ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องยาก การทำงานของโรงเรียนศรีแสงธรรมคือนำธรรมชาติแก้ไขปัญหาธรรมชาติ เน้นการสอนให้นักเรียนพึ่งพาตนเองในทุกด้าน และลดการใช้พลังงาน เป็นต้นแบบโรงเรียนพลังงานช่วยชาติ ปัจจุบันมีการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นศูนย์บาท นอกจากนี้ยังขยายสู่ทุกหน่วยงานในประเทศโดยมีตำราวิชาการสองเล่ม ได้แก่ วิชาโซล่าเซลล์ และวิชาพลังงานทดแทน เปิดสอน เปิดอบรม และแทรกอยู่ในรายวิชาเรียนของนักเรียน 220 คน ครู 19 คน โดยนักเรียนสามารถประยุกต์ใช้กระทั่งเกิดนวัตกรรมหลากหลายชิ้น สร้างรายได้แบ่งเบาภาระครอบครัว มีความรู้และตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างประหยัด คุ้มค่า และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม นับเป็นต้นแบบโรงเรียนพลังงานช่วยชาติ "แรกเริ่มในการสร้างอาคารประหยัดพลังงานเกิดจากการขาดแคลนอาคารเรียน และค่าไฟฟ้า จึงพยายามลดต้นทุนค่าไฟฟ้าโดย การพึ่งพาตนเองโดยนำโซล่าเซลล์เข้ามาช่วย กระทั่งปัจจันไม่ต้องจ่ายค่าไฟ พึ่งพาตนเองได้ โดยยึดหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่9) ศึกษาด้วยตนเอง เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ และทดลองลงมือทำทุกวัน เพื่อถ่ายทอดแก่เด็กในโรงเรียน จนเกิดเป็นตำราเรียน และนวัตกรรมที่สร้างรายได้ให้นักเรียน เช่น รถนอนนา ไฟฉายจากโซล่าเซลล์(ไฟฉายขอข้าว) ขยายสู่หลายหน่วยงานทั่วประเทศ กระทั่งนายกรัฐมนตรียกให้เป็นต้นแบบโรงเรียนพลังงานช่วยชาติ" พระ ครูวิมลปัญญาคุณ ยังกล่าวต่ออีกว่า "หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ผล และยั่งยืนจริง ตัวอย่างการทรงงาน เริ่มจากจุดเล็กๆ ระเบิดจากข้างใน ต่อยอดเป็นเรื่องใหญ่ โดยทำทุกวันอย่างต่อเนื่อง ใช้ปัญหาในพื้นที่ แก้ปัญหาในพื้นที่ การจัดการป่าและน้ำ การจัดการพื้นที่ ไม่มีกฎตายตัว ขึ้นอยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยหลักการทรงงานตลอดระยะ 70 ปี ทุกคนรู้ดี แต่น้อยคนจะน้อมนำมาใช้ โดยหัวใจหลักคือ ต้องลงมือปฏิบัติ ถึงจะสำเร็จ เห็นภาพ ไม่เช่นนั้นจะไม่เกิดการแก้ปัญหา และไม่เกิดปัญญา" ท่านสามารถ Download Proceedingsงานประชุมวิชาการ ฟรี ได้ ที่https://btac2017.wordpress.com/proceedings/

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ