CAT เร่งขยายเคเบิลใต้น้ำ 5 พันล้าน หลัง ครม.อนุมัติงบกระทรวงดีอี ขยายอินเทอร์เน็ตเกตเวย์นำประเทศสู่ดิจิทัลฮับอาเซียน

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday August 8, 2017 11:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--กสท โทรคมนาคม CAT พร้อมดำเนินการทันทีหลัง ครม.อนุมัติงบประมาณโครงการขยายอินเทอร์เน็ตเกตเวย์และเคเบิล ใต้น้ำเชื่อมต่อระหว่างประเทศ คาดทันแผนดีเดย์เปิดบริษัทลูก NGDC ปลายปีนี้ พร้อมปรับวิสัยทัศน์บริษัทแม่ สู่ดิจิทัลเซอร์วิส รองรับการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เปิดเผยว่า CAT ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลด้านโครงข่ายระหว่างประเทศได้รับมอบหมายให้ดำเนินการโครงการขยายอินเทอร์เน็ตเกตเวย์และเคเบิลใต้น้ำเชื่อมต่อระหว่างประเทศ(ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE)) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยในส่วนการขยายเคเบิลใต้น้ำ กระทรวงดีอีได้นำเสนอให้ CATและกระทรวงฯสามารถเบิกจ่ายแทนกันได้ ซึ่งกระทรวงดีอีนำเสนอ ครม.เห็นชอบในวันนี้ (1 ส.ค.60) CATได้เตรียมงานล่วงหน้าบางส่วนและเชื่อมั่นว่าจะสามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนดเวลา โครงการขยายอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ฯ ในงบประมาณ 5 พันล้านบาท ประกอบด้วย 3 กิจกรรม ได้แก่ 1. การขยายโครงข่ายบนบกเพิ่มช่องทางเชื่อมโยงไปสู่เพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา พม่า มาเลเซีย 2. การขยายเส้นทางเชื่อม Backhaul ในประเทศ ระหว่างสถานีเคเบิลใต้น้ำซึ่งเป็นจุดขึ้นบกหลัก คือศรีราชา สงขลา สตูล ซึ่งเป็นการเพิ่ม Capacity ศักยภาพการเชื่อมโยงภายในประเทศเพื่อรองรับทราฟิกให้สอดคล้องกับการขยายช่องทางระหว่างประเทศ 3. การสร้างเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ(เส้นใหม่) ไทย-ฮ่องกง "สองกิจกรรมแรก CAT จะเริ่มดำเนินการได้ทันทีเพราะเป็นการขยายเส้นทางในประเทศที่เราทำได้เอง ส่วนการสร้างเคเบิลใต้น้ำเส้นใหม่ไทย-ฮ่องกงนั้นมีการเจรจาหลายฝ่าย เบื้องต้น CAT ได้เริ่มเจรจาหลักการกับพาร์ทเนอร์ในจีน และพร้อมจะขยายการเจรจาเชิญชวนประเทศอื่นที่อาจสนใจร่วมเป็นภาคีในการจัดสร้างเคเบิลใต้น้ำไทย-ฮ่องกงร่วมกัน เช่น กัมพูชา เวียดนาม ฯลฯ" สำหรับขั้นตอนหลังจากที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติแล้ว CAT จะทำ TOR ตามราคากลางผ่านคณะกรรมการพิจารณางบประมาณ และคณะกรรมการบริษัทชุดใหญ่ และขออนุมัติให้ซื้อจ้างตามระเบียบต่อไป โดยมีเวลาประมาณ 2 เดือน สิงหาคม-กันยายน ในการดำเนินกระบวนการทั้งหมดนี้ให้เสร็จสิ้นก่อนตุลาคมเพื่อให้บริษัท NGDC สามารถเริ่มทำงานเต็มรูปแบบทันในวันที่ 1 พฤศจิกายน ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำแผนการเบิกจ่ายงวดแรกได้ตามกำหนด จัดตั้งบริษัทลูก NGDC เตรียมเปิดเป็นทางการพฤศจิกายนนี้ พ.อ.สรรพชัย กล่าวต่อไปว่า CAT ได้เตรียมจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท NGDC ภายในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้เป็นการดำเนินการเบื้องต้นตามมติ คนร. โดยรายละเอียดขั้นตอนต่อไปนั้นยังคงอยู่ระหว่างรอบริษัทที่ปรึกษาทั้งด้านบุคลากรและการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน โมเดลธุรกิจ และการศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจ ซึ่งทั้งหมดต้องศึกษาลงลึกในรายละเอียด เช่น ที่มาของเงินทุนซึ่งธุรกิจเคเบิลใต้น้ำต้องใช้เงินลงทุนสูง รวมทั้งเงื่อนไขที่จะเสนอรัฐบาลช่วยสนับสนุน ฯลฯ ทั้งนี้ CAT จะสรุปผลการศึกษาทั้งหมดนำเสนอ ครม.ก่อนเดือนตุลาคม 2560 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนธุรกิจและมีกำหนดเปิดดำเนินการ NGDC เต็มรูปแบบในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 "ระหว่างรอผลการศึกษา CAT ได้เริ่มดำเนินงานช่วง Interim ทำธุรกิจในส่วนที่เป็น NGDC ให้แยกเป็นอิสระ ซึ่งหลังจดทะเบียนบริษัทเรียบร้อยจากนี้จะมีการแต่งตั้ง CEO รักษาการเพื่อดูแลภาพรวม NGDC พร้อมกับตั้งคณะกรรมการบริษัทซึ่งจะเริ่มการสรรหา CEO จริงและรับสมัครพนักงานเข้าสู่ NGDC ต่อไป กระบวนการทั้งหมดนี้จะเสร็จสิ้นในเดือนตุลาคม" ปัจจัยบวก NGDC พ.อ.สรรพชัย กล่าวต่อไปว่าปัจจัยที่จะทำให้ NGDC ประสบความสำเร็จมีสมมติฐานคือ 1.จำนวนพนักงานพอเหมาะ 2. พนักงานมีประสิทธิภาพจากการคัดเลือกสรรหา 3. มูลค่าทรัพย์สินที่ไปสามารถแข่งขันในตลาดได้ 4.ประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ "การสนับสนุนจากภาครัฐจะช่วยให้บริษัทดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่องได้ในช่วงแรก โดยเมื่อหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานต้องใช้บริการธุรกิจคลาวด์อยู่แล้วอาจสามารถพิจารณาให้ภาครัฐเหล่านี้ไม่ต้องลงทุนเองโดยมาใช้ทรัพยากรของ NGDC ในสัดส่วนหนึ่ง โดยการสนับสนุนเหล่านี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อสรุปเสนอ ครม.พิจารณาซึ่งหากทั้งหมดทำได้สอดคล้องไปพร้อมๆกันจะหนุนให้ธุรกิจใหม่ไปต่อได้ ขณะที่หากการสนับสนุนไม่เกิดตามที่ตั้งไว้ Business Model จะเปลี่ยนไปอีกแบบ" ปรับจุดยืน-วิสัยทัศน์บริษัทแม่ (CAT Holding) พ.อ.สรรพชัย ยังได้เผยถึงการปรับตัวของ CAT หลังการปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่เป็น CAT Holding ว่าจากเดิมที่ธุรกิจของ CAT วางจุดแข็งที่โครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก ปีหน้าจะปรับเปลี่ยนมุ่งเน้นธุรกิจด้านดิจิทัลเซอร์วิสมากขึ้น เช่น บริการ IoT และ Smart Solutions โดยเน้นบริการอัจริยะสำหรับสมาร์ทซิตี้เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศไทยที่สอดคล้องตามนโยบายThailand 4.0 "แนวโน้มธุรกิจโทรคมนาคมด้านโครงสร้างพื้นฐาน วันนี้ทุกรายทำได้เพียงลดราคาแข่งกันเท่านั้นโดยที่ไม่ได้มอบประสบการณ์ที่แท้จริงให้กับลูกค้า อนาคตของเราจะไปโฟกัสตรงนั้นมากขึ้น"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ