สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 14-18 ส.ค. 60 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 21-25 ส.ค. 60 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 22, 2017 11:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--ปตท. ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงทุกชนิด โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 0.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 66.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 1.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 62.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ · Energy Information Administration (EIA) คาดว่าผู้ผลิต Shale Oil ของสหรัฐฯ มีแนวโน้มผลิตน้ำมันในเดือน ก.ย. 60เพิ่มขึ้น 117,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 6.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน อีกทั้งบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน Wood Mackenzie และRystad Energy คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันที่แหล่ง Permian ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในปลายปี พ.ศ. 2560 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 300,000 บาร์เรลต่อวัน (เดือน ก.ค. 60 ผลิตที่ระดับ 2.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน ) · Bureau of Ocean Energy Management (BOEM) ของสหรัฐฯ เผยยอดการประมูลแหล่งผลิตทะเลลึก (Deep Water)นอกชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ ในปีนี้มีมูลค่าสูงถึง 121 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 7 เท่า โดยมีบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เข้าร่วม เช่น Royal Dutch Shell, Chevron, ExxonMobil และอื่นๆ บ่งชี้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากอ่าวเม็กซิโกอาจเพิ่มขึ้น · สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานปริมาณการกลั่นน้ำมันดิบในเดือน ก.ค. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 500,000บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 10.71 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.ย. 59 เนื่องจากโรงกลั่นปิดซ่อมบำรุงและหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลตรวจสอบกระบวนการกลั่นน้ำมัน · ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือคุกรุ่นล่าสุด วันที่ 21 ส.ค. 60 สหรัฐฯ ส่งทหารกว่า 17,500 นาย ซ้อมรบUlchi Freedom Guardian กับเกาหลีใต้เป็นเวลา 10 วัน ซึ่งเกาหลีเหนือมองว่าเป็นการเตรียมรบและกล่าวว่าการซ้อมรบเปรียบเสมือนการราดน้ำมันบนกองไฟ และขู่พร้อมยิงขีปนาวุธโจมตีสหรัฐฯ ตลอดเวลา ส่งผลให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และเอเชีย รวมไปถึงตลาดน้ำมันแล้วหันไปหาทองคำและพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสินทรัพย์มั่นคง (Safe Haven) · Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ WTIในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 15 ส.ค. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 9,804 สัญญา อยู่ที่ 294,392 สัญญา ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก · Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 18 ส.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 5 แท่น อยู่ที่ 763 แท่น และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 406 แท่น · EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 11 ส.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 8.3 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 466.5 ล้านบาร์เรล ลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 7 · วันที่ 15 ส.ค. 60 การผลิตน้ำมันดิบจากแหล่ง El Sharara (กำลังการผลิต 340,000 บาร์เรลต่อวัน) ของลิเบียลดลงมาอยู่ในช่วง 130,000 - 150,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดิมผลิตที่ 280,000 บาร์เรลต่อวัน เพราะพนักงานผละงานประท้วงเรียกร้องรัฐบาลเพิ่มความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน ขณะที่พนักงานที่ท่าส่งออกน้ำมันดิบ Zueitina (ปริมาณส่งออก160,000บาร์เรลต่อวัน) ขู่ว่าจะปิดกั้นท่าเทียบเรือ หากข้อเรียกร้องไม่ได้รับการตอบสนองซึ่งรวมถึงเงินเดือนที่จ่ายล่าช้ามาหลายเดือนโดยให้เวลารัฐบาล 3 สัปดาห์ในการตกลงปฏิบัติตามข้อเสนอ · เจ้าหน้าที่ตำรวจชายฝั่งของนอร์เวย์ขับไล่กลุ่ม Greenpeace ซึ่งประท้วงบริษัท Statoil ณ พื้นที่ขุดเจาะสำรวจแหล่งผลิตน้ำมัน Korpfjell บริเวณอาร์กติก หลังเพิ่งเริ่มดำเนินการเมื่อสัปดาห์ก่อน อย่างไรก็ตาม กลุ่ม Greenpeace ยืนยันจะกลับมาประท้วงและชี้ว่าการขุดเจาะน้ำมันดิบในอาร์กติกกระทบต่อการดำรงชีพของนกและขัดต่อข้อตกลงลดคาร์บอน แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มกว่า 1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงปลายสัปดาห์ โดยน้ำมันดิบ ICE Brent ปิดตลาดเหนือ 52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกในรอบสัปดาห์ ขณะที่ NYMEX WTI ปิดตลาดเหนือ 48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากตลาดได้รับสัญญาณบวกต่อเนื่องจากรายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ในช่วงกลางสัปดาห์ที่ปรับลดลง 7 สัปดาห์ต่อเนื่อง ประกอบกับ Baker Hughes Inc. รายงานบริษัทขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ปรับลดจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสัปดาห์สิ้นสุด 18 ส.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 5 แท่น มาอยู่ที่ 763 แท่น เป็นการปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน และลดลงมากสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. 60 นอกจากนี้บริษัท Denbury Resources Inc. ของสหรัฐฯ ประกาศลดงบลงทุนในปี พ.ศ. 2560 ลงอยู่ที่ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นเดียวกับหลายบริษัทที่ประกาศปรับลดงบลงทุนในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ราคาน้ำมันยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแผนการส่งออกน้ำมันของไนจีเรีย ในเดือน ก.ย. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 0.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 1.88 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ในเดือน ต.ค. 60 จะส่งออกลดลงจากเดือนก่อน 0.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 1.72 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันอาจได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ให้จับตาสถานการณ์การประท้วงของพนักงานบริษัทน้ำมันในลิเบีย ส่งผลให้บริษัท NOC ต้องประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) หยุดส่งมอบน้ำมันดิบ Sharara จากท่าส่งออก Zawiya เมื่อวันเสาร์ที่ 19 ส.ค. 60 ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกระทบอุปทานน้ำมัน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 50.5-54.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 47.0-50.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 48.5-52.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับตัวลดลงจาก EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ส.ค. 60 คงที่จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 231.1 ล้านบาร์เรล ต่างจากที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters คาดการณ์ว่าลดลง 1.1 ล้านบาร์เรล เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศลดลงขณะใกล้สิ้นสุดฤดูขับขี่ท่องเที่ยวและเริ่มเปิดภาคเรียน ประกอบกับ บริษัท China National Offshore Oil Corp. (CNOOC) ของจีน เผยแผนเริ่มดำเนินการหน่วย CDU Phase 2 (กำลังการกลั่น 20,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Huizhou (กำลังการกลั่น 240,000 บาร์เรลต่อวัน) ในช่วงปลายเดือน ส.ค. 60 อีกทั้งกรมสิ่งแวดล้อมและพลังงานของออสเตรเลียรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันเบนซินในเดือน มิ.ย. 60 ลดลง จากปีก่อน 26% มาอยู่ที่ 78,800 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม โรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งหยุดดำเนินการ อาทิ โรงกลั่นน้ำมัน Liaoning (กำลังการกลั่น 410,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท PetroChina Dalian Petrochemical Corp. เกิดเหตุเพลิงไหม้ และโรงกลั่นน้ำมัน Deer Park (กำลังการกลั่น 325,700 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Royal Dutch Shell ในรัฐ Texas สหรัฐฯ จะปิดซ่อมแซมเป็นเวลา 1 สัปดาห์หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ในวันที่ 17 ส.ค. 60 และผู้ค้าน้ำมันคาดโรงกลั่น Ras Tanura (กำลังการกลั่น 550,000 บาร์เรลต่อวัน) ในซาอุดิอาระเบียมีแผนซ่อมบำรุงหน่วย Condensate Splitter (กำลังการกลั่น 225,000 บาร์เรลต่อวัน) ในเดือน ต.ค. 60 เป็นเวลา 30 วัน และ Petroleum Planning and Analysis Cell ของอินเดียรายงานยอดขายน้ำมันเบนซินภายในประเทศ เดือน ก.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.7% มาอยู่ที่ 2.14 ล้านบาร์เรล ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 ส.ค. 60 ลดลง จากสัปดาห์ก่อน 0.19 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 15.02 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 65.0-68.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับตัวลดลงจาก บริษัท Sinopec ของจีนรายงานแผนการส่งออกน้ำมันดีเซล จากโรงกลั่น Shanghai Petrochemical Co. (กำลังการกลั่น 320,000 บาร์เรลต่อวัน) ในเดือน ส.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 223,500 บาร์เรล อยู่ที่ 670,000 บาร์เรล เนื่องจากในเดือน ก.ค. 60 โรงกลั่นประสบปัญหาด้านการบริหาร และบริษัท CNOOCของจีนรายงานแผนการส่งออกน้ำมันดีเซลในเดือน ส.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 250,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 1.27 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้บริษัทมีโควตาในการส่งออกน้ำมันดีเซลในปี พ.ศ. 2560 ปริมาณ 4.4 ล้านบาร์เรล ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 ส.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.83 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 13.64 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามในวันที่ 14 ส.ค. 60 เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ โรงกลั่น Ashdod (กำลังการกลั่น 100,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Paz Oil ประเทศอิสราเอล ซึ่งอาจกระทบต่อการผลิตและส่งออกน้ำมันดีเซล ประกอบกับมีแรงซื้อจากบริษัท Ceylon Petroleum Corp. (Ceypetco) ของศรีลังกาออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.05 %S ปริมาณ190,000 บาร์เรล ส่งมอบ 4-5 ต.ค. 60 และ บริษัท Imopetro ของโมซัมบิกซื้อน้ำมันดีเซล 0.005 %S ปริมาณ 5.1 ล้านบาร์เรล ส่งมอบช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ.2560 ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60.0-63.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ