ปภ.แนะรู้ทันอันตราย – เรียนรู้แก้ไขเหตุฉุกเฉิน ล่องแก่งช่วงฤดูฝนปลอดภัย

ข่าวทั่วไป Wednesday August 23, 2017 14:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การล่องแก่งถือเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในช่วงฤดูฝน แต่หากขาดความระมัดระวัง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการล่องแก่งอย่างปลอดภัย ดังนี้ ล่องแก่งอย่างปลอดภัย - เตรียมพร้อมก่อนล่องแก่ง โดยตรวจสอบสภาพพื้นที่ สภาพอากาศ ลักษณะการไหลของน้ำ สภาพของลำน้ำ และความแรงของกระแสน้ำ - แต่งกายให้เหมาะสม สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดกุม เนื้อผ้าไม่อุ้มน้ำ สวมรองเท้าที่มีน้ำหนักเบา และมีสายรัดข้อเท้า - ฝึกพายเรือ ถ่อเรือ และนั่งทรงตัวในเรือ จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการล่องแก่ง - ใช้อุปกรณ์นิรภัยทุกครั้งที่ล่องแก่ง อาทิ หมวกนิรภัย เสื้อชูชีพ สนับข้อศอก สนับเข่า จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย - หลีกเลี่ยงการล่องแก่งในบริเวณที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยวและระดับน้ำลึก เพราะเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย - ห้ามยื่นอวัยวะส่วนใดออกนอกลำเรือขณะล่องแก่ง เพราะอาจกระแทกกับโขดหินหรือต้นไม้ริมฝั่งแม่น้ำ เรียนรู้แก้ไขเหตุฉุกเฉิน - กรณีกระแสน้ำไหลเชี่ยว ให้ใช้ไม้พายยัน เพื่อชะลอความเร็วและป้องกันการกระแทกกับแก่งหิน - กรณีกระแสน้ำวน ให้พายเรือออกจากจุดศูนย์กลางของน้ำวนโดยเร็วที่สุด - กรณีพลัดตกน้ำบริเวณกระแสน้ำวน ให้รีบว่ายน้ำออกไปทางอื่น เพื่อป้องกันกระแสน้ำดูด ทำให้จมน้ำเสียชีวิต - กรณีพลัดตกจากเรือ พยายามลอยตัวเหนือน้ำในลักษณะท่านอนหงาย ยกขาทั้งสองข้างขึ้น เสื้อชูชีพจะช่วยพยุงให้ลอยตัวขึ้นจากน้ำ ยกขาทั้งสองข้างไปด้านหน้าให้อยู่ในระดับผิวน้ำ พร้อมทั้งบังคับทิศทางให้ลอยตัวเข้าหาฝั่งที่อยู่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว - กรณีเรือพลิกคว่ำ ให้รีบว่ายน้ำหนีออกจากเรือ ไม่เข้าไปอยู่บริเวณใต้ท้องเรือ เพราะเรือจะกดจนจมน้ำหรือกระแทก กับโขดหิน ให้พยายามลอยตัวและหาที่ยึดเกาะ เพื่อรอการช่วยเหลือ ลักษณะของสายน้ำ - ร่องน้ำรูปตัววี เกิดจากสายน้ำบีบตัวเข้าหากัน โดยมีโขดหินสองข้างขวางลำน้ำ ทำให้เกิดเป็นร่องน้ำระหว่างช่องหิน ให้บังคับหัวเรือไปในทิศทางร่องน้ำรูปตัววี - น้ำวน เกิดในบริเวณที่มีกระแสน้ำไหลแรงและระดับน้ำลึก ประกอบกับมีหินบริเวณผิวน้ำและใต้น้ำ ทำให้เกิดคลื่นม้วนตัวในลักษณะรุนแรง ให้รีบออกจากศูนย์กลางของน้ำวนโดยเร็วที่สุด - น้ำนิ่งหลังแก่ง เกิดจากกระแสน้ำบริเวณหลังแก่งจะเป็นน้ำวนไหลย้อนทิศทาง ทำให้ความแรงของกระแสน้ำลดลง สามารถใช้เป็นจุดพักเรือได้ - น้ำม้วนหน้าแก่ง เกิดจากกระแสน้ำที่ตกจากที่สูง และม้วนตัวบริเวณหน้าแก่งก่อนจะไหลต่อไป หากกระแสน้ำ ไหลลงจากที่สูงมากจะมีความรุนแรงมาก กรณีพลัดตกจากเรือให้ดำน้ำออกจากโพรงน้ำโดยเร็ว ห้ามว่ายน้ำขึ้นมาเหนือน้ำ เพราะจะถูกกระแสน้ำดูดกลับลงไปใต้น้ำ ทำให้จมน้ำเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ การเรียนรู้ข้อควรปฏิบัติในการล่องแก่ง วิธีแก้ไขเหตุฉุกเฉิน และลักษณะของสายน้ำ จะช่วยป้องกันอันตรายและลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการล่องแก่ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ