NIDA Poll การปรับขึ้นอัตราภาษีสุราและยาสูบ

ข่าวทั่วไป Tuesday September 26, 2017 16:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "การปรับขึ้นอัตราภาษีสุราและยาสูบ" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11 - 12 กันยายน 2560 โดยสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราภาษีสุรา และยาสูบ การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบ แบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาค สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4 จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราภาษีสุราและยาสูบ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.28 ระบุว่า ทราบ/เคยได้ยิน ขณะที่ร้อยละ 38.72 ระบุว่า ไม่เคยทราบ/ไม่เคยได้ยิน ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราภาษีสุราและยาสูบ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.92 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 20.32 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 8.56 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 20.88 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 10.32 ไม่ระบุ/ ไม่แน่ใจ โดยในจำนวนผู้ที่เห็นด้วยมากและค่อนข้างเห็นด้วย ให้เหตุผลว่า จะทำให้สามารถควบคุมได้อย่างเป็นระบบ จะได้ช่วยลดจำนวนคนดื่ม/สูบให้น้อยลง ไม่ดีต่อสุขภาพและผู้บริโภค อยากให้คนเลิกดื่ม/สูบ เด็กและเยาวชนจะได้ไม่มีกำลังเงินในการซื้อจะได้ลดจำนวนการผลิตลง เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ฟุ่มเฟือย จะทำให้มีรายได้เข้ารัฐบาลมากขึ้นและรัฐบาลจะได้นำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาประเทศต่อไป ส่วนผู้ที่ไม่ค่อยเห็นด้วยและ ไม่เห็นด้วยเลย ให้เหตผลว่าขึ้นภาษีแพงเกินไปซึ่งปกติก็ราคาแพงอยู่แล้ว ถ้าภาษีสุรา/ยาสูบเพิ่มขึ้น ภาษีสินค้าอื่น ๆ ก็จะขึ้นตามไปด้วยค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ผู้บริโภคเดือดร้อน มีผลกระทบต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อย สงสารร้านค้า ค้าขายยากขึ้น ขึ้นราคาอย่างไรก็ยังบริโภคเหมือนเดิมและต่อให้ปรับอย่างไรก็ซื้ออยู่ดี ไม่ได้ทำให้คนดื่ม/สูบ น้อยลง เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ประชาชนจะซื้อของหนีภาษีมากขึ้น เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ส่วนความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราภาษีสุราและยาสูบจะสามารถช่วยลดจำนวนผู้บริโภค (ดื่มหรือสูบ)ได้หรือไม่นั้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.20 ระบุว่า ไม่สามารถช่วยลดจำนวนผู้บริโภคได้เลย รองลงมา ร้อยละ 27.92 ระบุว่า สามารถช่วยลดจำนวนผู้บริโภคได้ค่อนข้างน้อย ร้อยละ 16.64 ระบุว่า สามารถช่วยลดจำนวนผู้บริโภคได้ค่อนข้างมาก ร้อยละ 8.08 ระบุว่า สามารถช่วยลดจำนวนผู้บริโภคได้มาก ร้อยละ 0.24 ระบุ อื่น ๆ ได้แก่ สามารถช่วยลดจำนวนผู้บริโภคได้ปานกลาง และร้อยละ 1.92 ไม่ระบุ / ไม่แน่ใจ สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราภาษีสุราและยาสูบ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจกลางคืน และผู้บริโภค (ดื่มหรือสูบ) มากน้อยเพียงใดนั้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 12.80 ระบุว่า ทำให้เกิดผลกระทบมาก รองลงมา ร้อยละ 18.80 ระบุว่า ทำให้เกิดผลกระทบค่อนข้างมาก ร้อยละ 27.52 ระบุว่า ทำให้เกิดผลกระทบค่อนข้างน้อย ร้อยละ 34.40 ระบุว่า ไม่ทำให้เกิดผลกระทบเลย ร้อยละ 0.72 ระบุ อื่น ๆ ได้แก่ ทำให้เกิดผลกระทบปานกลาง และร้อยละ 5.76 ไม่ระบุ / ไม่แน่ใจ ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราภาษีสุราและยาสูบ จะทำให้มีสินค้าหนีภาษีเพิ่มขึ้น มากน้อยเพียงใดนั้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.04 ระบุว่า เพิ่มขึ้น รองลงมา ร้อยละ 2.80 ระบุว่า ลดลง ร้อยละ 18.08 ระบุว่า เท่าเดิม และร้อยละ 10.08 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.64 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.36 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑล และภาคกลาง ร้อยละ 18.24 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.60 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.16 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 51.04 เป็นเพศชาย และร้อยละ 48.88 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.08 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่าง ร้อยละ 9.28 มีอายุไม่เกิน 25 ปี ตัวอย่าง ร้อยละ 16.64 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 23.04 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 30.80 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 16.56 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 3.68 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 88.96 นับถือศาสนาพุทธ ตัวอย่างร้อยละ 4.00 นับถือศาสนาอิสลาม ตัวอย่างร้อยละ 1.12 นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 5.92 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 21.92 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 66.96 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.80 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 6.32 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 26.96 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 29.52 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.52 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 24.48 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.16 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 7.36 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 10.64 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.04 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 19.92 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 13.92 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.20 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 16.80 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.40 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.48 เป็นพนักงานองค์กรอิสระ ที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 7.60 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 13.20 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 24.40 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 25.52 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 9.44 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.52 มีรายได้เฉลี่ย ต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 7.36 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,000 บาทขึ้นไป และร้อยละ 14.56 ไม่ระบุรายได้
แท็ก นิด้า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ