โปงลาง ไม่ธรรมดา รองแชมป์ SET เยาวชนดนตรี ปลุกดนตรีพื้นบ้านสู่ระดับโลก

ข่าวทั่วไป Thursday September 28, 2017 10:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ย.-- นาย ตระกูล แก้วหย่อง" หนุ่มชัยภูมิ ผู้ทำให้ดนตรีพื้นบ้าน โปงลาง โด่งดังไกลระดับโลก และ เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศSET เยาวชนดนตรี ปี 2557 เล่าถึงความตั้งใจว่า อยากช่วยพัฒนาดนตรีไทย และดนตรีพื้นบ้านให้ไปสู่จุดที่นานาชาติยอมรับ เหมือน "โปงลาง" เครื่องดนตรีที่มีเพียงไม้ไม่กี่ชิ้น ที่เขาสามารถใช้สร้างเสียงเพลงให้ชวนตื่นตาตื่นใจ เป็นเสียงเพลงที่ใครๆ ก็ฟังได้ นายตระกูล เปิดเผยว่า นับจากปี 2551 ที่เข้าศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เครื่องดนตรีเอกโปงลาง เขาก็สามารถกวาดรางวัลจากหลายเวที โดย 2554 ได้รับรางวัลชนะเลิศ 1st Prize เครื่องดนตรีโปงลาง ประเภท Folk Instruments ในการแข่งขัน The 12th OSAKA International Music Competition ณ เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น และทำให้กรรมการฝรั่งทึ่งในความพิเศษและไพเราะของโปงลาง "ก่อนนั้นมีคนแข่งประเภทโฟล์คมิวสิค ไม่จำกัดอายุ คนไทยหลายคนก็ได้รางวัลมาแต่ไม่ได้รางวัลที่ 1 ผมเอาโปงลางไปเล่น กรรมการดนตรีก็งง ถามว่าเครื่องดนตรีนี้คืออะไร มีในไทยด้วยหรือ ดนตรีนี้เพิ่งมี 50-60 ปี พัฒนาจากเกราะลอ ซึ่งใช้ตีเรียกสัญญาณในหมู่บ้าน ยุค 2500 พัฒนาเป็นโน๊ตจูนเสียง ที่โอซาก้า กรรมการเป็นฝรั่ง บอกว่า ทึ่งมาก ไม่เคยเห็น ดูเหมือนเอาไม้ผุๆ พังๆ มาแข่งแต่มันมหัศจรรย์ ทั้งการตี เทคนิค บทเพลงคิดได้ไง ตัดสินมาหลายปี ไม่เคยเห็นเครื่องดนตรีประหลาด เหมือนไม่มีอะไร แต่กลับมีอะไรมากกว่าคนอื่น" ต้นตระกูล เคยได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 SET เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 17 ปี 2557 โดยรอบชิงชนะเลิศ เล่นเพลงกาเต้นก้อน เป็นอีกาเต้นในท้องทุ่งนา "กรรมการชมว่าเพลงอีสานทำเป็นโซโลได้ขนาดนี้เลยหรือ ต้องยกความดีให้อาจารย์ผู้สอน คืออาจารย์นิติธร หิรัญหาญกล้า มีกลเม็ดทำให้ดนตรีไทยน่าสนใจมากขึ้น ไปสู้กับเครื่องดนตรีอื่นๆ ได้ และเป็นผู้ทำให้ผมอยากประกวด อีกท่านชื่ออาจารย์พิณทิพย์ ทิพย์ประเสริฐ ชื่อในวงการคือ คำเม้า เปิดถนน เป็นอาจารย์พิเศษที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และเป็นมือพิณวงพาราไดซ์ บางกอก เรียกว่าผมเรียนเพลงจากอาจารย์คำเม้า แต่มาพัฒนารูปแบบการเล่น พัฒนาการโชว์จากอาจารย์นิติธร ทำให้เพลงพื้นบ้านที่ฟังเพลินๆของผม พัฒนามีมูฟเมนท์ มากขึ้น สามารถสู้กับเพลงแจ๊ส หรือเพลงอื่นๆ ของตะวันตกได้ ผมภูมิใจมากที่ได้ยิน กรรมการบอกว่า เป็นกรรมการหลายสิบปี ไม่เคยเห็นความแหวกแนว มีความเป็นสากล แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์อีสานได้อยู่" ต้นตระกูล ได้ฝากเชิญชวนให้เยาวชนทั่วไทยตื่นตัว มาค้นหาโอกาส ประสบการณ์จากการเข้าประกวด SET เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะน้องๆที่ชอบดนตรีพื้นบ้าน งานนี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุด เพราะรับทุกประเภทดนตรีที่ไม่ใช้ไฟฟ้า แหวกแนว ไร้พรมแดน แม้ว่าโจทย์แต่ละปีค่อนข้างยาก แต่ก็ท้าทายสุด ๆ โดย มี4 ระดับ ชิงรางวัลเกียรติบัตรและทุนการศึกษา รวมมูลค่ารางวัลทั้งสิ้นกว่า 1.8 ล้านบาทโดยผู้ได้รับรางวัลเหรียญทอง จะได้รับทุนการศึกษาด้านดนตรีที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์และยังมีรางวัลสำหรับครูผู้ฝึกสอนที่ลูกศิษย์เข้ารอบชิงชนะเลิศอีกด้วย เยาวชนผู้สนใจสามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 กันยายน 2560 โดยจะเริ่มแข่งขันรอบรองชนะเลิศวันที่ 25-26 พฤศจิกายน และชิงชนะเลิศในวันที่ 17 ธันวาคม 2560 โดยดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.music.mahidol.ac.th หรือสอบถามโทร 0-2800-2525 ต่อ 3117, 3109

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ