รายงานสถานการณ์ประชากรโลก ปี 2560

ข่าวทั่วไป Thursday October 19, 2017 08:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--United Nations Population Fund (UNFPA) รายงานสถานการณ์ประชากรโลกฉบับล่าสุดของ UNFPA เตือนว่าการขาดการตรวจสอบความไม่เท่าเทียมกันและความล้มเหลวในการปกป้องสิทธิของสตรีในกลุ่มล่างของความยากจนจะนำไปสู่ความไม่สงบ บั่นทอนความสงบสุขและเป้าหมายในการพัฒนาโลกใบนี้ สตรีเพียงแค่ครึ่งหนึ่งในโลกที่ได้ทำงานที่ได้รับค่าจ้างตอบแทนทั่วโลก สตรีได้รับรายได้แค่เพียงร้อยละ 77 เมื่อเทียบกับรายได้ที่ผู้ชายได้ สตรี 1 ใน 5 ทั่วโลกไม่ได้รับสิทธิการลาคลอด และสตรีอีกเป็นจำนวนมากต้องเผชิญกับ "บทลงโทษจากการทำหน้าที่เป็นแม่" ณ องค์การสหประชาชาติ นิวยอร์ก วันที่ 17 ตุลาคม 2560 – รายงานสถานการณ์ประชากรโลกประจำปี 2560 ที่ตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่ในวันนี้โดย UNFPA หรือกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติชี้ให้เห็นว่าถ้าไม่มีการจัดการความไม่เท่าเทียมกันอย่างเร่งด่วนและสร้างพลังให้สตรีสามารถตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตของตัวเองได้ ประเทศต่างๆ จะต้องเผชิญกับความไม่สงบและภัยคุกคามต่อสันติสุขและเป้าหมายในการพัฒนาประเทศได้ รายงานฯ ฉบับนี้ที่มีหัวข้อว่า "โลกที่แตกแยก – สถานการณ์สิทธิและสุขภาวะทางเพศในยุคของความไม่เท่าเทียม" ยังชี้ให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมกันซึ่งรวมไปถึงเรื่องสิทธิและสุขภาวะทางเพศสามารถขยายเข้าไปสู่ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายของสังคมโลกได้เลยทีเดียว ความล้มเหลวในการให้บริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ซึ่งรวมไปถึงการวางแผนครอบครัวให้กับสตรีที่อยู่ในกลุ่มที่ยากจนที่สุดสามารถสร้างจุดอ่อนแอให้กับระบบเศรษฐกิจและทำลาย ความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายที่ 1 ของเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นั่นคือ การขจัดความยากจนให้หมดไปจากโลกนี้ได้ ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจสร้างและได้รับแรงหนุนให้เพิ่มมากขึ้นจากความไม่เท่าเทียมกันในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งรวมไปถึงสุขภาพของสตรี ซึ่งสตรีในชนชั้นอภิสิทธิที่มีจำนวนไม่มากเท่านั้นที่สามารถควบคุมภาวะการเจริญพันธุ์ของตนเองได้ ทำให้มีโอกาสที่จะพัฒนาทักษะต่างๆ ของตัวเองและเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ได้รับค่าตอบแทนและได้รับอำนาจทางเศรษฐกิจในที่สุด ดร. นาตาเลีย คาเนม ผู้อำนวยการบริหาร UNFPA หรือกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า "วันนี้ ความไม่เท่าเทียมกันในประเทศต่างๆ ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องว่า มี หรือ ไม่มี เท่านั้น แต่ความไม่เท่าเทียมกันในวันนี้มันเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า สามารถ หรือ ไม่สามารถ มากขึ้นทุกๆ วัน สตรีที่ยากจนขาดวิธีการที่สนับสนุนให้สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องขนาดของครอบครัวของตัวเอง หรือ สตรีที่มีสุขภาพที่ย่ำแย่เพราะจำนวนการให้บริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ไม่เพียงพอทำให้สตรีเหล่านี้ 'ไม่สามารถ' ตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศของตัวเองได้เลย" ในประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก สตรีที่ยากจนที่สุดมีทางเลือกในการวางแผนครอบครัวเพียงน้อยนิดมาก ได้รับการเข้าถึงการบริการหลังคลอดน้อยมาก และมีแนวโน้มที่จะคลอดบุตรโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์หรือผู้ผดุงครรภ์ ทั้งนี้ รายงานฯ ฉบับนี้ยังบอกอีกด้วยว่าบริการการวางแผนครอบครัวที่มีอยู่อย่างจำกัดส่งผลให้มีการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ตั้งใจถึง 89 ล้านครั้ง และมีการทำแท้งถึง 48 ล้านครั้งในประเทศที่กำลังพัฒนา นี่ไม่เพียงแต่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของสตรีแต่ยังจำกัดความสามารถของสตรีในการร่วมหรือได้อยู่ในตลาดแรงงานที่ได้รับค่าจ้างตอบแทนและที่จะก้าวต่อไปสู่อิสระทางการเงินอีกด้วย การที่สตรีขาดการเข้าถึงบริการที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง เช่น บริการการดูแลเด็กที่มีค่าบริการที่สามารถจ่ายได้ ทำให้พวกเธอไม่สามารถออกไปทำงานหารายได้นอกบ้านได้ และสำหรับสตรีที่ทำงานอยู่ในตลาดแรงงานที่ไม่มีสวัสดิการลาคลอดและต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติต่อสตรีที่ตั้งครรภ์ นี่คือบทลงโทษที่พวกเธอต้องรับจากการเข้าสู่การเป็นแม่ ทำให้สตรีเป็นจำนวนมากต้องเลือกระหว่างหน้าที่การงานและการเป็นมารดา ดร.นาตาเลียกล่าวว่า "ประเทศต่างๆ ที่ต้องการจัดการกับความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจสามารถเริ่มต้นได้จากการจัดการความไม่เท่าเทียมในปริมณฑลอื่นๆ เช่น เรื่องสิทธิและสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ และการทำลายอุปสรรคทางสังคมและเชิงระบบที่ขัดขวางไม่ให้สตรีสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้" รายงานฯ ฉบับนี้ยังแนะนำอีกด้วยว่าให้มุ่งช่วยกลุ่มคนที่อยู่รั้งท้ายหรือชายขอบก่อน ซึ่งสอดคล้องกับแผนหลักของสหประชาชาติที่มุ่งบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนและสังคมที่มีพื้นที่สำหรับทุกคนให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2573 ทั้งนี้ วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573 เล็งไปสู่ "อนาคตที่ดีกว่า อนาคตที่เราทุกคนช่วยกันทำลายอุปสรรคต่างๆ ลงและแก้ไขความเหลื่อมล้ำต่างๆ ด้วยกัน ดังนั้น เราจำเป็นที่จะต้องมีเป้าหมายที่จะลดความไม่เท่าเทียมกันในทุกด้าน และสิ่งที่จะช่วยลดความไม่เท่าเทียมกันได้อย่างมากคือการทำให้ สิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ของสตรี เกิดขึ้นจริง"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ