พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

ข่าวทั่วไป Thursday October 19, 2017 17:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี และคณะ ตรวจเยี่ยม ติดตามการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณ และพระราโชบายของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการพัฒนาระบบการศึกษา พัฒนาคุณภาพของครู และยกระดับมหาวิทยาลัยราชภัฏ ให้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นในด้านต่างๆ โดยมี ดร.ถนอม อินทรกำเนิด อุปนายกสภามหาวิทยาลัย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ ณ อาคารเรียนรวมและศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ปฏิบัติภารกิจการพัฒนาท้องถิ่น และมุ่งเป็นมหาวิทยาลัยไทย เพื่อความเป็นไท ดังวิสัยทัศน์การเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ และได้มาตรฐานสากล ต่อการพัฒนาท้องถิ่นและสังคมไทยอย่างยั่งยืน ในเอกลักษณ์ "บูรณาการการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน" มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครประกอบด้วยบุคลากรสายวิชาการ จำนวน 437 คน บุคลากร สายสนับสนุนวิชาการ จำนวน 370 คน นักเรียนและนักศึกษาภาคปกติ จำนวน 13,565 คน นักศึกษา ภาคพิเศษ จำนวน 3,935 คน โดยมีอาคารทั้งหมด จำนวน 64 อาคาร และห้องสำหรับใช้งานเป็น ห้องเรียน จำนวน 265 ห้อง และห้องพักอาจารย์ จำนวน 161 ห้อง ห้องสำนักงาน จำนวน 119 ห้อง และห้องประชุม จำนวน 70 ห้อง อาคารที่ใช้เป็นอาคารเรียน 32 อาคาร และห้องปฏิบัติการต่าง ๆ เช่น ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการเฉพาะสาขาวิชา รวมจำนวน 228 ห้อง งานของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครที่มุ่งสู่การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและการผลิตและพัฒนาครู เพื่อสนองตอบต่อพระบรมราโชบายในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน กล่าวคือด้านการพัฒนาท้องถิ่น ดำเนินโครงการ 1) สำรวจและวิเคราะห์ปัญหาโดยมุ่งเน้นความต้องการของชุมชนท้องถิ่นที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยเข้าไปช่วยเหลือ 2) ให้ความสำคัญและร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นนั้นสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน 3) บูรณาการด้านการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิต ของชุมชนท้องถิ่นกับการเรียนการสอน โดยให้ชุมชนแห่งนั้นเป็นแหล่งเรียนรู้แก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เป็นห้องเรียนคุณภาพที่มีชีวิตที่นักศึกษาได้ถอดบทเรียนนำความรู้และประสบการณ์ ที่ได้มาไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ในการเรียนและการประกอบอาชีพ และ 4)ทบทวนผลสำเร็จของ โครงการ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานของยุทธศาสตร์ใหม่ต่อไป โครงการด้านการพัฒนาท้องถิ่นซึ่งมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ของชุมชนท้องถิ่น ได้แก่ 1) โครงการศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน แผ่นดินทอง คอยรุตตั๊กวา แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์แห่งพระราชาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นแหล่งความรู้ของชุมชนและประชาชนทั่วไป ก่อให้เกิดรายได้ เพิ่มทักษะอาชีพ และเป็นต้นแบบของชุมชนอื่น 2) โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยริมคลองลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ได้แผนผังชุมชนและรูปแบบที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และใช้งานได้จริง สอดคล้องกับนโยบายการจัดระเบียบการรุกล้ำคูคลอง แก้ปัญหาการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร และการจัดหาที่อยู่อาศัยให้ชุมชนผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะ มีความมั่นคงและยั่งยืน และปัจจุบันชุมชนเหล่านี้เป็นพื้นที่เรียนรู้และบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครอีกด้วย 3) โครงการวิจัยการพัฒนารูปแบบความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองท้องถิ่นเพื่อจัดการน้ำเสียคลองบางตลาด จังหวัดนนทบุรี นำไปสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาคลองบางตลาด ในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2560 เกิดผลที่เห็นเป็นรูปธรรม อาทิ ชมรมรักษ์คลองบางตลาด แผนแม่บท ในการพัฒนาคลองบางตลาด การจัดสรรงบประมาณและกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาคลองไม่เกิดความทับซ้อน มีหน่วยงานต่างๆ เข้าไปศึกษาดูงานเพื่อการขายผลองค์ความรู้และประสบการณ์ การพัฒนาความร่วมมือมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่โจทย์การพัฒนาข้อเสนองานวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 4) โครงการบริการสุขภาพด้วยแพทย์แผนไทยประยุกต์ ให้บริการออกหน่วยแพทย์แผนไทยประยุกต์เคลื่อนที่ดูแลรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยแก่ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงชุมชนที่แจ้งขอความช่วยเหลือ คือ ชุมชนอมรพันธ์ฯ ถนนเสนานิคม 1 ซอย 40 กรุงเทพมหานคร 5) โครงการบริการวิชาการของวิทยาลัยชัยบาดาลพิพัฒน์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ให้แก่ชุมชนชัยบาดาลและบริเวณใกล้เคียงตามความต้องการจนพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกประสบการณ์ของนักศึกษาและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยนำการเกษตรทฤษฎีใหม่ไปสู่การปฏิบัติจริง คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิต พอมี พอกิน พอใช้ ตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และในอนาคตวิทยาลัยชัยบาดาลพิพัฒน์จะต้องดำเนินภารกิจการเป็น ศูนย์แห่งการเรียนรู้ศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 6) โครงการบริการวิชาการในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ จนปัจจุบันคุ้งบางกระเจ้าเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่มีผลผลิตทางการเกษตรที่ได้การรับรองมาตรฐาน เกิดวิสาหกิจชุมชนบางน้ำผึ้งโฮมสเตย์ เกิดแหล่งท่องเที่ยว และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น และปราชญ์ท้องถิ่น 7) โครงการบูรณาการงานวิจัย บริการวิชาการ และการเรียนการสอนเพื่อการพัฒนาชุมชน "ส้มโอโมเดล" เทศบาลเมืองไร่ขิง จังหวัดนครปฐม คณะวิทยาการจัดการ มอบสื่อเพื่อสื่อสารที่ใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นด้วยความรู้จากผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในประเด็นเรื่องส้มโอในพื้นที่ จังหวัดนครปฐม ใน 3 รูปแบบ คือ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อมัลติมีเดีย และสื่อเฉพาะกิจ 8) การผลิตครูคณิตศาสตร์ "เรียนรู้คู่ปฏิบัติจริงสู่ชุมชน" โดยตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินการผลิตครูดี คือเข้าใจธรรมชาติของผู้เรียน มีคุณสมบัติการเป็นกัลยาณมิตรกับผู้เรียนและผู้เกี่ยวข้อง ร่วมมือกับชุมชนเพื่อพัฒนาผู้เรียนและสถานศึกษา เป็นผู้มีจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ และครูเก่ง คือมีความรู้ความสามารถในการจัดการศึกษา และจัดการเรียนรู้ รอบรู้และเชี่ยวชาญในสาขาคณิตศาสตร์ มีความคิดสร้างสรรค์และสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ งานของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครที่สำคัญยิ่งอีกด้านหนึ่ง คือ การผลิตและการพัฒนาครูจากฐานรากโรงเรียนฝึกหัดครูแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้มีส่วนร่วมสร้างครูดีมีคุณภาพให้แก่สังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 125 ปี นักศึกษาครูของมหาวิทยาลัยจึงได้รับการหล่อหลอมให้เป็นครูอย่างแท้จริง โดยความเป็นเลิศของความเป็นครูนั้นผู้เรียนไม่ต้องเก่งที่สุดสามารถเป็นครูได้ ต้องมีใจรักความเป็นครู มีจิตใจอ่อนโยน เมตตา เอื้ออาทรต่อศิษย์ มีระเบียบวินัย และความรับผิดชอบ วิทยาลัยการฝึกหัดครูจึงดำเนินงานด้านการผลิตและพัฒนาครูด้านศิลปวัฒนธรรม สร้างจิตวิญญาณความเป็นครู คุณธรรมจริยธรรม วินัยและลูกเสือ ส่งเสริมคุณภาพการศึกษา โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน พัฒนาโรงเรียนเครือข่าย การแลกเปลี่ยนนักศึกษาครู ด้าน STEM/STEAM การเรียนรู้ในยุคดิจิตัล ศูนย์สาธิตบริบาลเด็ก และโครงการ Active Learning/ 21st Century Skills มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร จึงสามารถผลิตครูที่มีคุณภาพ ทั้งด้านการผลิตบัณฑิตครู และการพัฒนาครูประจำการ ให้มีความพร้อมทั้งด้านความรู้ในวิชาเอก และวิชาชีพครู มีทักษะการสอนที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นสำคัญ รวมทั้งการพัฒนาด้านจิตวิญญาณความเป็นครู ให้เป็นครูดี ครูเก่ง ได้รับการยอมรับ ในส่วนของการดำเนินงานผลิตครูในอนาคต มุ่งเน้นความต่อเนื่องของการผลิตและพัฒนาครูให้เป็นกระบวนการผลิตครูภายใต้ความร่วมมือกับโรงเรียนเครือข่าย ทั้งในท้องถิ่น ระดับชาติและนานาชาติ ให้เกิดมาตรฐานการผลิตครูอย่างเป็นระบบ มีความทันสมัยเป็นสากลและพร้อมในการทำงานครูที่สามารถพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นของตนเอง สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ใหม่มหาวิทยาลัยราชภัฏระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ