สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง โพลแรงงานไทย ยุคทอง คนต่างด้าว แรงงานต่างด้าว กิน ดื่ม สูบ ทำงาน แรงงานไทยไม่ แฮปปี้ รู้สึกถูกแย่งงาน

ข่าวทั่วไป Monday November 6, 2017 13:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง โพลแรงงานไทย ยุคทอง คนต่างด้าว กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนไทยทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,065 คน และงานต่างด้าว เมียนมา ลาว และ กัมพูชาจำนวน 400 คน ดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 15 ตุลาคม ถึง 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา เมื่อสอบถามพฤติกรรมการกินเหล้า ดื่มเบียร์ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ของแรงงาน ระหว่าง แรงงานไทย กับ แรงงานต่างด้าว พบว่า แรงงานต่างด้าว กินเหล้า ดื่มเบียร์ มากกว่าแรงงานไทย คือร้อยละ 42.6 ต่อ ร้อยละ 28.5 ในขณะที่ แรงงานต่างด้าว สูบบุหรี่ มากกว่า แรงงานไทย คือ ร้อยละ 29.7 ต่อ ร้อยละ 21.4 ที่น่าพิจารณาคือ รายได้เฉลี่ยต่อเดือนจากการทำงานในครัวเรือนที่ถูกศึกษาพบว่า แรงงานต่างด้าวมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยสูงกว่าแรงงานไทยเล็กน้อยคือ 28,458.47 บาทต่อเดือน ขณะที่แรงงานไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 27,395.60 บาทต่อเดือนที่น่าสนใจคือ แรงงานต่างด้าวมีค่าเฉลี่ยความสุขที่ได้ทำงานสูงกว่าแรงงานไทยเมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน คือ แรงงานต่างด้าวมีความสุขที่ได้ทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ 8.15 คะแนน ในขณะที่แรงงานไทยมีความสุขจากการทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ 6.24 คะแนนที่น่าเป็นห่วงคือ แรงงานไทยที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.8 เคยเห็นแรงงานต่างด้าว ทำอาหาร ปรุงอาหาร ขายของ เช่น ขายผัก ขายส้มตำ ผัดข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยว ขายเสื้อผ้า ฯลฯ และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.0 ของแรงงานไทยเคยเห็นแรงงานต่างด้าว คิดเงิน ทอนเงิน ค่าอาหาร คิดเงินค่าขายสินค้า ตามห้างสรรพสินค้า ศูนย์อาหาร ร้านค้าต่างๆ นอกจากนี้ แรงงานไทยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.3 ระบุ นายจ้าง จ้างแรงงานต่างด้าวเพราะจ่ายน้อยกว่า ในขณะที่ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.3 ระบุ คนไทยถูกแย่งอาชีพ และจำนวนมากหรือร้อยละ 39.8 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า เคยถูกแย่งอาชีพ นาย วินัย ลู่วิโรจน์ อดีตรองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า คนไทยรู้สึกถูกแย่งอาชีพเพราะ การเพิ่มกิจการบางประเภทที่ให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในตำแหน่งกรรมกรได้ เช่น ร้านจำหน่ายอาหาร ร้านจำหน่ายเสื้อผ้า สินค้าพลาสติก กระดาษหรือสินค้าเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ร้านขายปลีก หาบเร่ แผงลอย เป็นต้น แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อเจ้าพนักงานมีข้อจำกัดด้านกำลังคนและการตรวจ จึงทำให้แรงงานต่างด้าวทำงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่กรรมกร ยิ่งไปกว่านั้น ความเป็นจริงในบางพื้นที่คือ แรงงานต่างชาติบางส่วนเชิดคนไทยให้เป็นนายจ้างว่าจ้างตนเองทำงาน ทั้งที่แรงงานต่างชาติเป็นเจ้าของทุน เป็นผู้ประกอบการเอง ซึ่งเห็นได้มากในกิจการจำหน่ายอาหาร จำหน่ายสินค้าในรูปค้าปลีก หาบเร่ แผงลอย กรณีเช่นนี้การตรวจตราควบคุมยิ่งกระทำได้ยากมากขึ้นอีก แนวทางแก้ไขคือ ควรมีการพิจารณาทบทวนระเบียบกรมการจัดหางาน ปี พ.ศ 2559 อย่างรอบคอบอีกครั้งหนึ่งโดยเร็ว ในขณะที่ นาย ธนิช นุ่มน้อย อดีตผู้ตรวจราชการ และอดีตรองอธิบดี กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เพราะประเทศไทยขาดแรงงานระดับล่าง แต่เมื่อนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาต้องมีการเตรียมคนก่อนเข้ามา เนื่องจากเรามีกฎหมายอยู่แล้ว นายจ้างต้องรู้และปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด แต่การลงโทษตามกฎหมายที่รุนแรงอาจกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและกระทบต่อการประกอบธุรกิจของนายจ้าง ดังนั้นจึงเสนอให้มีโครงการฝึกอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจ และแนวทางปฏิบัติแก่ทั้งนายจ้างและแรงงานต่างด้าว ก่อนการนำเข้าและหลังการนำเข้าแรงงานต่างด้าว เพื่อทำให้เกิดความสมดุลทั้งมิติของกฎหมายและมิติของการประกอบธุรกิจซึ่งจะส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ