พลังจิตอาสา สจล. ใช้เทคโนโลยีผสานบริหารจัดการดีเยี่ยม บริการประชาชนกว่า 16,000 คน ในงานถวายดอกไม้จันทน์ พระเมรุมาศจำลอง ณ สจล.

ข่าวทั่วไป Monday November 13, 2017 13:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น ในวันประวัติศาสตร์ 26 ตุลาคม 2560 ที่คนไทยทั่วประเทศต่างรวมใจส่งเสด็จสู่ฟ้าเสวยสวรรค์ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างสมพระเกียรติ ยังมีเรื่องราวดีๆที่น่าศึกษาจากโมเดลของงานถวายดอกไม้จันทน์ ณ พระเมรุมาศจำลอง บริเวณสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้รับเสียงชื่นชมในประสิทธิภาพ รู้จักใช้เทคโนโลยีผสมผสานการวางแผนจัดระบบและบริการประชาชนที่มาร่วมงานกว่า 16,000 คนได้ดีเยี่ยม นับเป็นตัวอย่างของการจัดกิจกรรมขนาดใหญ่และบริการประชาชนต่อไป สะท้อนถึงพลังจิตอาสาและความเป็นไทย ผสมผสานการใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะเจาะกับพื้นที่ รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า คงไม่มีงานในสถาบันครั้งไหนที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่างานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระเมรุมาศจำลอง ณ ลานหน้า สจล. ซึ่งเป็นหนึ่งใน 9 แห่งของพระเมรุมาศจำลอง ในกรุงเทพมหานคร จากการวิเคราะห์ลักษณะพื้นที่ ถนนหลักค่อนข้างแคบ มีถนนสายรองเชื่อมถึงกัน และมีสถานีรถไฟอยู่ติดกับ สจล. แสงแดดช่วงกลางวันมีความแรงร้อน คาดว่าประชาชนหลั่งไหลมากันเนืองแน่น สจล.ได้วางแผนแบ่งพื้นที่ สจล.ซึ่งมี 800 ไร่ ออกเป็น 4 โซน แต่ละโซนมีอาคาร เพื่อการรองรับประชาชนหลบแดดพักคอย และการจัดบริการให้ทั่วถึง คือ โซน A อยู่ใกล้มณฑลพิธีมากที่สุด มีอาคารเรียนรวมสมเด็จพระเทพฯ อาคาร EEC และสมาคมศิษย์เก่าสจล.และโรงทานกลาง โซน B โรงอาหารกิจกรรม โซน Cสำนักหอสมุดกลาง โซน D หอประชุมใหญ่สถาบัน แต่ละโซนมีจุดรับบัตรคิว และจุดพักคอย ด้านบุคคลากรบริการประชาชน เราได้รวมพลังจิตอาสาจากคณะอาจารย์ นักศึกษาและเจ้าหน้าที่ รวม 2,000 คน ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างดี การถวายดอกไม้จันทน์ 2 ช่วง คือ ช่วง 9.00 -16.30 น. และช่วง 18.00 – 22.00 น. ขั้นตอนการเข้าร่วมถวายดอกไม้จันทน์ เราได้ประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าและแก่ผู้ร่วมงานในงาน ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน คือ 1.จอดรถในบริเวณจุดจอดซึ่งจุได้ 2,200 คัน จากนั้นมารับบัตรคิว ซึ่งมี 4 โซนให้เลือกตามสะดวก คือ A B C D ซึ่งเปิดตั้งแต่ 6 โมงเช้า ประชาชนต้องแต่งกายสุภาพและนำบัตรประชาชนมาแสดงเพื่อรับบัตรคิว โดย 1 คน จะได้ 1 บัตรคิว 2.รอเรียกคิวตามหมายเลข เพื่อเข้าไปยังจุดรวมประชาชน A B C D สำหรับผู้สูงวัยและคนพิการรับบัตรคิวได้ที่ โซน A เนื่องจากการเดินจากจุดรวมประชาชน โซน B Cและ D ไปยังพื้นที่พิธีถวายดอกไม้จันทน์นั้น จะต้องขึ้น-ลงบันไดสกายวอล์คเพื่อข้ามถนน แต่จะมีรถรับส่งจากจุดรับบัตรคิวมาที่โซน A 3.ผู้สูงวัยและคนพิการที่ต้องใช้รถเข็น จะมีช่องทางด่วนให้เข้าที่โซน A โดยอนุญาตให้มีผู้ดูแลติดตามได้เพียง 1 ต่อ 1 เท่านั้น 4.เมื่อถึงคิวเรียกตามบัตรคิว ให้ประชาชนมาเข้าที่จุดรวมประชาชน ซึ่งจะมีน้ำดื่มและห้องน้ำบริการ (ในบัตรคิวจะแสดงหมายเลขคิว-โซนไว้ ) ในทุกๆจุดพัก มีโต๊ะประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะแจ้งลำดับคิวในการให้เข้าที่จุดรวมประชาชน 6.เมื่อออกจากพื้นที่พิธี จะมีรถรับ-ส่ง ไปยังจุดที่ประชาชนจอดรถไว้ การจัดระบบสื่อสารกับประชาชนกว่า 73,000 คน ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีโซเชียลมีเดียผ่านไอโอที-สมาร์ทโฟนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ผู้เข้าร่วมงานแอดเข้ากรุ๊ป Line กลาง ""Kmitl26OCT"" ผู้รับบัตรคิวแล้วจะได้รับแจ้งข้อมูลผ่านไลน์เป็นระยะว่าล็อตบัตรคิวหมายเลขใดที่จะสามารถเข้าวางดอกไม้จันทน์ได้ในเวลาใด สำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้ไลน์ก็สามารถดูกำหนดเวลาของล็อตบัตรคิวได้จากจอแอลอีดีที่ติดตั้งในโซนนั้นๆ ดังนั้นผู้รับบัตรคิวแล้วไม่ต้องแกร่วอยู่ในแถวและยังสามารถวางแผนบริหารเวลาของตนเองที่เหลือก่อนถึงคิวไปทำภารกิจ ช้อปปิ้ง หรือกลับบ้านแล้วมาตอนใกล้คิว หรือ เลือกที่จะนั่งพักคอยในอาคารบริเวณงานก็ได้ มีน้ำและเครื่องดื่มบริการ พลังจิตอาสา และการบริหารจัดการ ในระหว่างงานมีการปรับแก้ไขตามสถานะการณ์ และประสานกันระหว่างทีมงาน 4 โซน โดยเหล่าจิตอาสานักศึกษาและบุคลากรของ สจล. กว่า 2,000 คน ให้บริการอาหาร เครื่องดื่ม ยา ช่วยให้คำอธิบาย อำนวยความสะดวกและประชาสัมพันธ์ในแต่ละโซนและผ่าน Line เป็นระยะ ทำให้ประชาชนมีความสบายใจ คลายกังวล และไม่เคร่งเครียด วินจักรยานยนต์และรถสองแถวบริการประชาชนตลอดวัน สำหรับช่องทางถวายดอกไม้จันทน์ จากเดิมให้เข้าถวายครั้งละ 4 ช่อง ได้เพิ่มเป็น 20 ช่อง โดยช่วงเช้าปริมาณคนยังน้อยการถวายดอกไม้จันทน์เป็นไปอย่างรวดเร็ว ช่วงกลางวันใช้เวลานานขึ้นเนื่องจากมีผู้มาร่วมงานเนืองแน่น ส่วนช่วงกลางคืนมีความรวดเร็วขึ้นโดยผู้ถวายดอกไม้จันทน์คนสุดท้ายในเวลาประมาณ 22.00 น ตามเป้าหมาย เมื่อจบภารกิจพิธีอันยิ่งใหญ่เพื่อพ่อของแผ่นดิน เหล่าหนุ่มสาวจิตอาสานักศึกษา สจล.ได้ช่วยกันเก็บกวาด ทำความสะอาดสถานที่อย่างเรียบร้อย นับเป็นพลังแสดงความรักสามัคคีครั้งสุดท้ายที่ทุกคนต่างภาคภูมิใจและประทับไว้ในความทรงจำ เสียงชื่นชมจากโซเชียลมีเดียท่วมท้น อาทิ เพจ Drama Addict เผยแพร่ว่า ""ป้าอยู่โซน D เดินอยู่แถวคณะวิศวะ สถาปัตย์ ได้เห็นน้องๆนักศึกษามาเป็นจิตอาสา ดูแลอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มา ตั้งแต่จุดเริ่มเข้าแถวจุดพักคอย ตลอดเส้นทางเดินไปพระเมรุมาศจำลอง เด็กๆมีหน้าตายิ้มแย้ม พร้อมตอบคำถามดูกระตือรือร้นตลอดเวลา แม้จะค่ำแล้วก็ตาม คำพูดที่คอยเป็นห่วง ท่าทีนอบน้อมต่อผุ้ใหญ่ ทำภาพพจน์ของมหาวิทยาลัยในสายตาป้า ดูดีมากทีเดียว นึกชมไปถึงอาจารย์ว่า สั่งสอนลูกศิษย์มาดีจริงๆ...อ่านแล้วรู้สึกภูมิใจแทนครูบาอาจารย์สถาบันแห่งนี้มากครับ"" ความเห็นจาก Jantarima P. ""ขอชื่นชมคณะผู้จัดงานทุกท่านเลยค่ะ การทำงานมีระเบียบ และดูออกว่ามีการวางแผน ซักซ้อมกันมาอย่างดี มีการประสานงานกันอย่างยอดเยี่ยม คุณสามารถประสานให้คนจาก 4 โซน เข้าวางดอกไม้จันทน์กันได้อย่างดี ม่ง่ายเลยจริงๆค่ะ แต่อย่างไรก็ตาม อาจไม่คาดคิดว่าจะมีคนจำนวนมหาศาลเช่นนี้ สรุปจากการดูพระเมรุมาศจำลอง ที่ลาดกระบัง มีการจัดการที่ดีที่สุดค่ะ มีที่นั่งคอย สะดวกสบาย ห้องน้ำสะอาด อาหารบริบูรณ์ ขอบคุณนะคะ"" ผู้ใช้ชื่อ Lifeaspleasure แสดงความเห็นว่า ""ขอบคุณ สจล.ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ บุคคลากรเจ้าหน้าที่ในพระเมรุมาศ เจ้าหน้าที่ นักศึกษาที่ช่วยเหลือให้ความสะดวก ทั้งด้านจัดคิวคน อาหารเครื่องดื่ม พยาบาล น้องๆมากันเป็นร้อยๆ และจิตอาสาที่รับ-ส่งคนไปยังจุดต่างๆ รู้สึกประทับใจ ที่ได้มาวางดอกไม้จันทน์ที่นี่ นะคะ ขอบพระคุณมากค่ะ"" สมาชิก pantip ให้ความเห็นว่า ""ผมชอบระบบจัดการคิวนะไปรับบัตรคิว และรอเรียกคิว ไม่ต้องยืนรอในแถว เค้าให้แอดไลน์กลุ่ม ซึ่งจะมีการแจ้งว่าตอนนี้เรียกคิวไหนให้ทราบตลอด ซึ่งผมว่าดีมาก จะไปนั่งพักผ่อนที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องยืนต่อให้เมื่อย ผมไปรับบัตรคิวตอนบ่าย เห็นว่าไม่ทันช่วงเช้า ก็ออกไปทานข้าวข้างนอกเลยคับ ดูคิวในไลน์เอา ช่วงเช้าคิวเดินช้าครับ คนตกค้างเยอะ รอบเย็นเหมือนจะปรับระบบใหม่ เรียกคิวได้ไวดี ""

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ