ปภ.ประสาน 19 จังหวัดภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยจากภาวะฝนตกหนัก ในช่วงวันที่ 18 - 24 พ.ย. 60

ข่าวทั่วไป Friday November 17, 2017 16:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 19 จังหวัดภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยจากภาวะฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม และลมกระโชกแรง ในช่วงวันที่ 18 - 24 พฤศจิกายน 2560 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยจากภาวะฝนตกหนัก หากสถานการณ์รุนแรงให้รายงานกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 18 – 24 พฤศจิกายน 2560 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ มีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกเพิ่มขึ้น และฝนตกหนักบางแห่ง ประกอบกับมีฝนตกสะสมในพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงภัย 19 จังหวัด แยกเป็นภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ ตราด จันทบุรี และสระแก้ว ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ และภาคใต้ 14 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต ตรัง กระบี่ และสตูล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 3 ปราจีนบุรี เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ เขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลา เขต 17 จันทบุรี และเขต 18 ภูเก็ต เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยจากภาวะฝนตกหนัก โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำและแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องจักรกลสาธารณภัย เรือ รถปฏิบัติการให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งเสริมแนวคันกั้นน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม โดยเฉพาะในพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังและพื้นที่เศรษฐกิจ กรณีสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงให้พิจารณาอพยพประชาชนไปยังสถานที่ปลอดภัยหรือจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว พร้อมดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และแผนปฏิบัติการฯแผนเผชิญเหตุของอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแนวทางการจัดการสาธารณภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน หากสถานการณ์รุนแรงเกินศักยภาพให้รายงานกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็วและทันท่วงที ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ