รมว.ดิจิทัลฯ หนุนโครงการ “เคเบิลใต้น้ำ” ของ CAT ดันไทยเป็นศูนย์กลางข้อมูลดิจิทัลของอาเซียน สอดรับนโยบาย One Belt One Road

ข่าวเทคโนโลยี Thursday November 30, 2017 14:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็น ASEAN Digital Hub ณ สถานีเคเบิลใต้น้ำ ชลี 2 จ.สงขลา ของ บมจ.กสท โทรคมนาคม ปัจจุบันสามารถขยายโครงข่ายเชื่อมโยงข้อมูลกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านตอนบน คือ เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา พร้อมรองรับปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่สูงขึ้น ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน ดึงดูดกลุ่มธุรกิจดิจิทัลขนาดใหญ่ลงทุนในไทย สอดรับนโยบาย One Belt One Road ของรัฐบาล ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานีเคเบิลใต้น้ำ ชลี 2 จังหวัดสงขลา ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ ได้มอบหมายให้ดำเนินการโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) โดยปัจจุบัน บมจ.กสท โทรคมนาคม ได้เพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถของการเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างประเทศกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน คือ ประเทศเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา เพื่อรองรับการเติบโตของการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่สูงขึ้นของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นจุดเชื่อมโยงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่สำคัญของภูมิภาค และสามารถพัฒนาสู่การเป็น ASEAN Digital Hub ตอนบนได้ จากความต้องการใช้งานข้อมูลที่มีความหลากหลายและมีปริมาณสูงขึ้นของประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้ไทยเป็นจุดเชื่อมโยงโครงข่ายอินเทอร์เน็ต อีกทั้งเมื่อรวมกับความต้องการใช้งานจากผู้ใช้บริการในประเทศไทย จะทำให้ความต้องการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ สูงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจในการลงทุนตั้งฐานข้อมูลของผู้ให้บริการสำคัญๆ อาทิ เฟซบุ๊ก (Facebook) และ กูเกิล (Google) ในประเทศไทยมากขึ้น โดยการจัดสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำระบบใหม่ จะทำให้ประเทศไทยมีโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างประเทศที่มีความหลากหลายมากขึ้น เพิ่มความมั่นคงและมีเสถียรภาพของโครงข่ายระหว่างประเทศของไทย รองรับการใช้งานวงจร ในปลายทางที่จำเป็นได้ทันท่วงที รวมทั้งเพิ่มจำนวนโครงข่ายระหว่างประเทศของไทยให้เกิดความทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านทางตอนใต้ของภูมิภาคมากขึ้น ตลอดจนเพื่อทดแทนระบบเคเบิลใต้น้ำ SMW3 และ AAG ที่มีอยู่ซึ่งมีอายุการใช้งานมานาน และมีข้อจำกัดการขยายวงจรเนื่องจากเป็นระบบที่ใช้เทคโนโลยีเก่า รวมถึงจะมีการใช้งานเต็มสิทธิ์ที่มีในระบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทั้งนี้ การขยายโครงข่ายระหว่างประเทศต่างๆ จะทำให้การต่อเชื่อมวงจรผ่านประเทศไทยมีราคาต่ำลง สนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นเป็น ASEAN Digital Hub ตอนบนของภูมิภาคได้ อีกทั้งเมื่อผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคม มีค่าใช้จ่ายที่ลดลงและตลาดมีการแข่งขันมากขึ้น ต้นทุนที่ลดลงจะได้รับการส่งต่อไปยังผู้บริโภคในที่สุด ทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยลดต้นทุนด้านการเชื่อมโยงข้อมูลจากต่างประเทศลง ดึงดูดให้กลุ่มธุรกิจข้ามชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากยิ่งขึ้น และทำให้เกิดการจ้างงานสูงขึ้นตามไปด้วย "การดำเนินการในโครงการดังกล่าว ถือเป็นโครงการที่สอดรับกับนโยบายของกระทรวงดิจิทัลฯ ที่ต้องการให้ประเทศไทยมีส่วนในการเป็นเส้นทางเชื่อมต่อที่สำคัญตามนโยบาย "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road : OBOR)" ของรัฐบาล โดยมี "แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม (Silk Road Economic Belt : SREB)" ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อทางบก และ "เส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road : MSR)" ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อทางทะเล โดยการเพิ่มความจุและเสถียรภาพของวงจรเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อการสนับสนุนในส่วน SREB การเพิ่มความจุและการจัดสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบใหม่เป็นการสนับสนุนในส่วน MSR ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงกลุ่มประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมกับสาธารณรัฐประชาชนจีนและเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ทั้งทางบกและทางทะเล ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคได้ในอนาคต" ดร.พิเชฐฯ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ